สถานีคิดเลขที่ 12 : ท้าทาย-ทำลาย

สถานีคิดเลขที่ 12 : ท้าทาย-ทำลาย

ไม่เพียง นายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดของไทย อย่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เท่านั้น ที่ถูกท้าทาย และเป็นเป้าแห่งการถูกทำลาย

ผู้นำฝ่ายค้านอายุน้อย คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

ก็ถูกท้าทาย และเป็นเป้าแห่งการถูกทำาย เช่นกัน

Advertisement

เฉพาะหน้านี้ สิ่งท้าทายที่ นายณัฐพงษ์ เผชิญ

ก็คือทำอย่างไรให้ นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ ชนะเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตที่ 1 พิษณุโลก ให้ได้

Advertisement

เพื่อหยุดยั้ง กระแส “ไหลลง” หลังจากที่ พ่ายแพ้ การเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ให้กับคู่แข่ง “บ้านใหญ่”

ตอกย้ำว่า พรรคประชาชน ยังไม่สามารถเจาะฐานการเมืองท้องถิ่นอันเป็น “หมุดหมายใหญ่” ของพรรคได้

ซึ่งหากมา “แพ้” ที่พิษณุโลกอีก

ย่อมกระทบต่อพรรคประชาชนไม่น้อย

เพราะนี่ไม่ใช่การเลือกตั้งท้องถิ่น หากแต่เป็นการเลือกตั้งที่อิงกับกระแสการเมืองระดับชาติด้วย

เมื่อพ่ายทั้งสนามเล็กและสนามใหญ่ จึงย่อมมีผลสะเทือนสูง

และว่าไปแล้วก็มีโอกาสที่จะแพ้ได้

เพราะแม้จะเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา

แต่คู่แข่งขัน จากพรรคเพื่อไทย คือนายจเด็ศ จันทรา ก็ไม่ธรรมดา

ด้วยมีแรงหนุนจากบ้านใหญ่อย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน

ขณะเดียวกันก็มีแรงส่งจากการที่รัฐบาลอยู่ภายใต้การนำของเพื่อไทย ซึ่งย่อมมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่เป็นคุณต่อเพื่อไทย

และยิ่งหากพรรครัฐบาล ใช้โมเดล “รวมหมู่” ที่สกัดพรรคประชาชน ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายแห่ง ล่าสุดก็ที่ราชบุรี มาใช้ที่พิษณุโลก ก็ยิ่งทำให้พรรคประชาชนเหนื่อยขึ้น

ทั้งนี้ สนามพิษณุโลก มีฐานคะแนนเก่าของทั้งพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ (ปีก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) รวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นเนื้อเป็นหนัง

หากเทคะแนนมาให้ ผู้สมัครเพื่อไทย โอกาสที่จะชนะเลือกตั้งซ่อมคราวนี้ก็มีสูง

พรรคประชาชน จึงต้องสู้เต็มที่เพื่อ “กุมชัยชนะ” ให้ได้

แล้วใช้ “ชัยชนะ” นี้ หยัดต้านการถูก “รุมกินโต๊ะ” เอาไว้ มิฉะนั้นต้องเจอการรุมบดขยี้อย่างไม่ยั้งแน่

ต้องไม่ลืมว่า ตอนนี้พรรคประชาชนอยู่ใน “ภาวะเปลี่ยนผ่าน” ภูมิคุ้มกันไม่สูงนัก

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะแสดงบทบาทผู้นำที่มีบารมี เพื่อนำพาพรรคสู้กระแสท้าทาย และทำลายอันหลากหลาย

ไม่ว่า การที่ 44 ส.ส.ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาละเมิดจริยธรรมกรณีมาตรา 112

ซึ่งหากต้องถูกสังหารหมู่ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อพรรคประชาชนอย่างรุนแรง

และระหว่างที่ลุ้นว่าผลสุดท้ายจะออกมาอย่างไร พรรคประชาชนก็เผชิญภาวะ “บ่อนเซาะ” ทางการเมืองด้วย

อย่างที่ประเมินกัน การเมืองในอนาคต จะเป็นการแข่งขัน 3 เส้า คือ เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-ประชาชน

สำหรับเพื่อไทยและภูมิใจไทย แม้จะ “สงวนท่าที” ต่อกันในบางเรื่อง แต่ก็มีสันถวไมตรีที่ดีต่อกันในฐานะรัฐบาลเดียวกัน

ต่างกับพรรคประชาชน ที่ทั้งสองพรรคดูจะไม่สงวนท่าทีอะไรอีกแล้ว

แสดงความไม่เป็นพวกเดียวกันชัดเจน

โดยเฉพาะภูมิใจไทยแตกหักตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ อย่าง 112

ไปจนถึงนโยบายที่ผลักดันเข้าเป็นนโยบายรัฐบาล 6 เรื่อง ปรากฏว่า 1 ใน 6 นั้นมีเรื่อง การพัฒนาระบบประปา และน้ำดื่มสะอาด ช่วงชิงจากพรรคประชาชนที่ชูธงมาตลอด

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล “เล่นใหญ่”

ยกโขยง 50 ส.ส. ออกมาแถลงโต้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน 1 ราย ที่อภิปรายงบประมาณปี 2568 พาดพิงนายอนุทิน และ 3 ส.ส.กระบี่ ของพรรคภูมิใจไทย

สะท้อนถึง ความเป็นคนละขั้วชัดเจน

และความชัดเจนเช่นนี้ คงทยอยออกมาเรื่อยๆ

ถือเป็นการท้าทายพรรคประชาชนว่าจะรับมือการ “ถูกรุมทำลาย” และจะรุกกลับอย่างไร

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image