‘มาร์ค’ชงใช้รธน.50หากประชามติไม่ผ่าน ชี้ ข้อเสนอครม.สะท้อนความไม่มั่นใจในผลงาน

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ว่า เรื่องสิทธิชุมชน สิทธิประชาชน ซึ่งดูเหมือนกรธ.จะยอมรับฟังเสียงภาคประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ดี ที่กรธ.แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีเสียงทักท้วง เสียงท้วงติงเสียงวิจารณ์ก็รับฟัง และตนเชื่อว่าการรับฟังตรงนี้คงจะมีไปเรื่อยๆ สำหรับกรณีมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปไว้ในมาตรา 207 เป็นเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แค่ตอนนี้กรธ.บอกว่าจะย้ายกลับมาอยู่ในหมวดทั่วไปตนก็ไม่ค่อยติดใจ เนื่องจากสิ่งที่มาตรานี้มีไว้เพื่อที่จะบอกว่า ในบางสถานการณ์มีการโต้เถียงกันว่าจะต้องทำอย่างไร ตนจึงคิดว่าสิ่งที่กรธ.พยายามทำคือความชัดเจนขึ้นว่า คนที่จะมาชี้ขาดกรณีวิกฤตนั้น คือ ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะอยู่หมวดใดก็ตาม ตนจึงเห็นว่าไม่ได้สำคัญเท่ากับว่า ตอนนี้มีกระบวนการที่มารองรับชัดเจน ขณะเดียวกันกรธ.ควรสร้างความมั่นใจ เพราะมีบางฝ่ายที่กังวล โดยต้องเขียนให้ชัดว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทตรงนี้ คือ ต้องเกิดปัญหาที่ไม่มีข้อยุติ และสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมาให้ข้อยุตินั้น คือ ข้อยุติทางกฎหมาย ไม่ใช่มาบอกว่า การเมืองต้องเป็นอย่างนั้นหรืออย่างนี้

เมื่อถามว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอว่าการทำประชามตินั้นควรจะมีทางเลือกให้ประชาชน โดยยกทางเลือกให้ 3 แนวทาง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าถ้าเลือกหลากหลายเกินไปอย่างของนายบวรศักดิ์ที่เสนอมา 3 ทางเลือก คือ รัฐธรรมนูญปี 40 -50 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เมื่อทางเลือกเยอะเกินไปก็จะเป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะร่างที่ชนะอาจจะไม่ถึง 50 % อาจเกิดการถกเถียงกันอีกและจะวุ่นวาย ซึ่งตนเห็นว่า การนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จะยึดอำนาจมาบังคับใช้นั้นจะง่ายที่สุด เพราะเป็นเหตุเป็นผลแม้ตนไม่ได้ชอบร่างนั้นมากที่สุด แต่เห็นว่ามีเหตุและผลที่ตอบสังคมทั้งในประเทศและสังคมโลกได้ ทั้งนี้ ถ้าจะนำรัฐธรรมนูญปี 50 มาใช้ใหม่อีกครั้ง ต้องมีการเขียนบทเฉพาะกาลเพิ่มขึ้นในเรื่องของอำนาจของ คสช. ในช่วงที่ผ่านมาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าโดยสาระสำคัญ คือ ระหว่างระบบที่เคยใช้อยู่ก่อนกับระบบใหม่ที่จะเสนอนี้ ประชาชนอยากได้อะไร

เมื่อถามถึงข้อเสนอ 16 ข้อ ของคณะรัฐมนตรี(ครม.)เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกไม่สบายใจ แต่จะไม่ไปวิจารณ์เรื่องประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือ เต็มใบ รวมถึงการสืบทอดอำนาจ แต่มองว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจของ ครม. ต่อสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ เราคาดหวังให้ คสช. และองค์กรต่างๆ ที่มาจาก คสช. นั้น ได้จัดทำระบบสร้างสภาวะแวดล้อม เพื่อให้การเมืองไทยหลุดพ้นจากสภาพปัญหาเดิม แต่วันนี้กลายเป็นว่าครม.เองยังไม่มั่นใจว่า ที่ทำมาทั้งหมด และที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญอยู่นี้แก้ปัญหาได้หรือไม่ จึงเหมือนกับประวิงเวลา หรือ ยืดเวลาของบางสิ่งบางอย่าง ทำให้ประชาชนไม่ได้คำตอบ ตนจึงรู้สึกว่าเป็นห่วงในเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image