โคทม อารียา : นโยบายที่คณะรัฐมนตรีต้องแถลงต่อรัฐสภา

รัฐธรรมนูญมาตรา 162 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ภายหลังที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี ทั้ง 35 คน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 มีการคาดการณ์ว่าไทม์ไลน์การเข้าปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นดังนี้

– 6 กันยายน นายกฯนำ ครม. เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ

– 7 กันยายน ประชุม ครม. นัดพิเศษ

– 16 กันยายน แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ADVERTISMENT

– 17 กันยายน ประชุม ครม. นัดแรกอย่างเป็นทางการ

บทความนี้จะกล่าวถึงบางประเด็นที่ควรบรรจุไว้ในนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา แต่ก่อนอื่น ขอให้ ครม. พิจารณานโยบายที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เคยแถลงไว้เมื่อปีที่แล้ว (วันที่ 11 กันยายน 2566) แล้วหยิบยกเรื่องดี ๆ มาเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้อย่างต่อเนื่องไป จึงขอคัดย่อข้อความบางข้อความของคำแถลงนโยบายเดิมมาเสนอ ดังนี้

ADVERTISMENT

รัฐบาลก่อนเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยให้เหตุผลว่า “เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ยุคสมัยของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์กำลังสิ้นสุดลงและได้เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจโลกแบบแบ่งขั้ว ซึ่งจะเป็นความท้าทายใหม่ของการเปิดเสรีทางการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุนที่ประเทศไทยได้เคยพึ่งพาปัจจัยเหล่านี้มาในอดีต” รัฐบาลเก่าจึงเสนอมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการ รวมทั้งนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” มาคราวนี้ รัฐบาลใหม่คงเสนอมาตรการนี้ต่อไป แม้จะมีผู้ทักท้วงจำนวนมาก แต่ถ้าจะให้ถูกใจประชาชนส่วนหนึ่งก็ขอให้เปลี่ยนเป็นการแจกเงินสด (“cash wallet”) เพราะพวกเขาอยากรับแจกเป็นเงินสดมากกว่า

ในด้านการเมือง รัฐบาลเก่าเห็นปัญหาว่า “ประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมาย การเมือง และการปกครอง ที่ความเห็นต่าง การแบ่งแยกทางความคิด การไม่เคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้สังคมอยู่ในจุดที่น่ากังวล” โดย “รัฐบาลจะส่งเสริมการเปิดกว้างและเปิดรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์ความเชื่อและทางความคิดจากผู้คนที่อยู่อาศัยเดิมอยู่แล้ว ผู้คนที่เดินทางเข้ามาทำงาน ท่องเที่ยว หรือย้ายถิ่นฐานมาอยู่อาศัย ผู้คนที่มาจากวัฒนธรรมและมีขนบธรรมเนียมประเพณีหรือความเชื่อที่แตกต่างกัน” นโยบายนี้เขียนแบบอ้อมค้อม ไม่ยอมกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างเสื้อสี และระหว่างฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายอนุรักษ์ อีกทั้งไม่กล่าวอย่างชัดเจนถึงความขัดแย้งถึงตายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงอยากจะเสนอให้รัฐบาลใหม่เขียนอย่างตรงไปตรงมากกว่านี้ และกล่าวถึงมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่ฉุดรั้งสังคมไทยอยู่ทุกวันนี้

รัฐบาลเก่ามีนโยบายที่จะ “ใช้การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่า CEO) เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่” แต่นโยบายเช่นนี้ไม่น่าจะเรียกว่าการกระจายอำนาจได้ เพราะอำนาจยังกระจุกตัวอยู่ที่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค “ผู้ว่า CEO” ตามนโยบายนี้ ก็จะควบคุมองค์กรส่วนท้องถิ่นได้มากขึ้น อนึ่ง ในการเข้าร่วมเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคได้เสนอให้รวมเรื่องกระจายอำนาจไว้ในนโยบาย ซึ่งคงต้องเขียนให้ชัดเจนว่า เป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ส่วนท้องถิ่น ตามนิยามอันเป็นสากล

ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มีหมวดอยู่หมวดหนึ่ง ที่บัญญัติเรื่องการปฏิรูปประเทศ ได้แก่หมวด 16 ซึ่งกำหนดให้มีการปฏิรูปมากมายหลายด้าน แต่เวลาผ่านไป 17 ปี ก็ไม่ค่อยเห็นอะไรที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “ปฏิรูป” ดังที่เขียนไว้ ตัวอย่างเช่น มาตรา 258 ช. (5) เขียนว่า “ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม” นั้น จนบัดนี้ (เดือนเมษายนปี 2567) คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิจึงมีมติเห็นชอบการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวปีละ 92 คน ระยะเวลา 3 ปี วงเงินกว่า 288 ล้านบาท เพื่อให้มาดูและสุขภาพประชาชนตามภูมิลำเนา ซึ่งจำนวนแพทย์ที่จะผลิตไม่น่าจะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับประชากรทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้มีการปฏิรูปในทุกด้านที่จำเป็น แต่ไม่กล่าวถึงการปฏิรูปทหาร (มีการกล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจไว้ในรายละเอียด แต่ก็ไม่ไปถึงไหนเหมือนกัน) นโยบายของรัฐบาลก่อนได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นนโยบาย ดังนี้ “รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน โดย (1) จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ (2) ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์ (3) ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบัน และอนาคตของประเทศ (4) ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับรูปแบบและความเสี่ยงของภัยคุกคาม” หวังว่านโยบายของรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีคนรุ่น 6 ตุลาคม 2519 คนหนึ่งมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม จะกล่าวถึงการปฏิรูปทหารมิให้น้อยหน้ากว่ารัฐบาลที่แล้ว

นโยบายของรัฐบาลเก่าที่เขียนว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนนโยบายหนึ่งคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องรีบทำเพราะจะต้องอาศัยการลงประชามติถึงสามครั้ง นโยบายเดิมเขียนไว้ว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะ “แก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”

ปัจจุบัน ร่างกฎหมายประชามติฉบับใหม่ได้ผ่านการพิจารณาในวาระแรกของวุฒิสภาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 หวังว่าวุฒิสภาจะเร่งพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในวาระที่สองและสามต่อไป

ในการจัดทำนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ในอดีตกาล คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าทำหน้าที่มักฟังเสียงของข้าราชการประจำในแต่ละกระทรวง เพราะความเคยชินกับการเป็นรัฐราชการ (bureaucratic polity) เมื่อการเมืองระบบพรรคได้พัฒนาขึ้น พรรคการเมืองมีการศึกษาสำรวจว่านโยบายใดจะโดนใจประชาชน เช่น มีข่าวว่าพรรคไทยรักไทยได้คิดนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุดโรค” จากการฟังความต้องการของประชาชน แต่ก็มีบางคนอ้างว่า ภาคประชาสังคมต่างหากที่เป็นฝ่ายริเริ่มนโยบายนี้ แล้วพยายามไปเสนอต่อพรรคการเมืองที่รับไว้เป็นของตน จะอย่างไรก็ตาม นโยบายนี้สอดคล้องกับความต้องการความมั่นคงด้านสุขภาพ และทุกรัฐบาลแต่นั้นมาก็ดำเนินและพัฒนานโยบายนี้มาตลอด จนจะเปลี่ยนเป็นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกที่” อยู่ในขณะนี้

ข้อเสนอของผม ณ จุดนี้ คือขอให้รัฐบาลฟังข้อเสนอของภาคประชาสังคม ที่อาจมีมุมมองที่ต่างไปจากมุมมองของข้าราชการและของนักการเมืองบ้าง แต่หลายเรื่องก็น่าจะบูรณาการเข้าด้วยกันได้ ผมมีความสนใจที่จะขับเคลื่อนนโยบายด้านสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยมากว่าห้าสิบปีแล้ว เช่น ได้ร่วมก่อตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ในปี 2516 และร่วมเป็นกรรมการของกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ตั้งแต่ปี 2519 บัดนี้ กศส. ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม เพื่อดำเนินการในเรื่องที่ทำมาแต่ต้น แต่ผลงานปัจจุบันมีไม่มากนัก กระนั้น ในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในเร็ววันนี้ มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรมได้มีหนังสือลงวันที่ 26 สิงหาคม 2567 กราบเรียนนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาบรรจุเรื่องสันติภาพ และสิทธิมนุษยชน ให้เป็นรูปธรรมพอสมควรในนโยบายด้วย

ในที่นี้ ขอนำข้อเสนอของมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรมมาเสนอโดยสังเขป ดังนี้

1.ข้อเสนอเพื่อการสมานไมตรีทางการเมือง

ขอให้รัฐบาลมีนโยบายด้านการสมานไมตรีในสังคม โดย

1.1.กำหนดมาตรการและกลไกเพื่อการสมานไมตรี เช่น มีกลไกในรูปของคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่จัดให้มีกระบวนการสื่อสารระหว่างผู้เห็นต่าง เพื่อแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งอย่างสันติและสร้างสรรค์ เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ฟื้นคืนความยุติธรรมแก่สังคม และเพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของความบาดหมางใหม่ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง

1.2.ดำเนินการเพื่อการนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษคดีการเมือง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการทำกิจกรรมทางการเมืองโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ

2.ข้อเสนอเพื่อการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขอให้รัฐบาลมีนโยบายที่จะยุติความขัดแย้งถึงตายในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว โดย

2.1.ทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ตามหลักการของมาตรา 77 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่บัญญัติให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น … เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน (อนึ่ง กฎหมายทั้งสองฉบับใช้มาร่วมยี่สิบปี แต่ไม่ได้มีผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร จึงควรได้รับการทบทวน)

2.2.กำหนดความสัมพันธ์ของหน่วยงานพลเรือนและทหารใน จชต. อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิผล อันจะนำไปสู่สันติภาพและความยุติธรรม

2.3.จัดให้มีเวทีปรึกษาหารือเพื่อเปิดพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงหรือผู้มีบทบาททั้งด้านการใช้ความรุนแรงและด้านส่งเสริมสันติภาพ ทั้งผู้นำด้านการทหารและการเมือง ผู้นำทางสังคมและธุรกิจ และผู้นำชุมชนและประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างภาพอนาคต (scenario) หรือยุทธศาสตร์ร่วมกัน

2.4.ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการเก็บสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร รวมทั้งของเด็กและเยาวชนตามโรงเรียนและสถานศึกษาใน จชต.

2.5.ดำเนินมาตรการในการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติและศาสนาไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด และดำเนินการส่งเสริมพหุวัฒนธรรมตามแนวทางที่สถาบันการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ได้เสนอไว้

3.ข้อเสนอนโยบายเชิงรุกในด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

โดยเร่งรัดการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ดังนี้

1.จัดทำระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือคำสั่ง ตลอดจนการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายลำดับรองของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าว

2.ทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสังคม ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งพระราชบัญญัติดังกล่าว

4.ข้อเสนอเพื่อยุติโทษประหารชีวิต

ด้วยการประหารชีวิตเป็นการลิดรอนสิทธิในการมีชีวิต (Right to Life) ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ จึงขอเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายเพื่อยุติโทษประหารชีวิต ดังนี้

1.ยุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต และในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิตไปพลางก่อน

2.จัดให้มีการศึกษาและยกร่าง “พ.ร.บ. การใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทนโทษประหารชีวิต พ.ศ….” ด้วยความเคารพสิทธิในการมีชีวิต ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความจำเป็นที่จะปกป้องสังคมจากอาชญากรรมร้ายแรง ตลอดจนการเยียวยาผู้เสียหายโดยตรงจากอาชญากรรมดังกล่าว

ก่อนจะจบบทความนี้ ขอออกนอกเรื่องสักเล็กน้อย หลายคนคงสยองขวัญเรื่องการตีความของนักกฎหมายผู้มีอำนาจในเรื่อง “มาตรฐานทางจริยธรรม” อย่างไรก็ดี มาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญมีความตอนหนึ่งว่า “การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ” ปรากฏว่ารัฐบาลต้องระมัดระวังอย่างมากในการกำหนดหรือดำเนินนโยบาย เพราะอาจเข้าข่ายว่า แม้กฎหมายไม่ห้าม แต่ “จริยธรรม” ห้ามไว้ก็เป็นได้ ตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือการตีความว่า การที่พรรคการเมืองมีนโยบายที่จะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ก็เข้าข่ายการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือการตีความว่าผู้ที่แต่งตั้งบุคคลที่พ้นผิดแล้วตามกฎหมาย ยังเข้าข่ายการไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ขอเสนอแนะต่อรัฐบาล คือการไม่ก่อความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น เรื่องมีอยู่ว่าสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่งเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ซึ่ง ครม. ก็เห็นชอบให้ส่งต่อไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกากลั่นกรองก่อนประกาศใช้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลเศรษฐา มีเนื้อหาให้แต่งตั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีหน้าที่พิจารณาการวิจัยซึ่งอาจมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ถ้าเห็นว่าเป็นการวิจัยที่ขัดหรือแย้งหรือละเมิดหลักการสำคัญพื้นฐานของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือน่าจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความขัดแย้ง การดูหมิ่นเกลียดชัง การด้อยค่า การล้อเลียนวัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของท้องถิ่นหรือของชาติ หรือเป็นปฏิปักษ์อย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมหรือจารีตประเพณีของท้องถิ่นหรือของชาติ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีที่สำคัญของท้องถิ่นหรือประเทศอย่างชัดแจ้ง หรือน่าจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด คณะกรรมการสามารถสั่งยุติการวิจัยและหยุดให้ทุนวิจัยได้ทันที

ทันทีที่ทราบข่าว นักวิชาการสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งออกมาทักท้วงผ่านสื่อสาธารณะ ว่านี่คือการตั้งกองเซนเซอร์เราดีดีนี่เอง เพราะคณะกรรมการมีอำนาจตีความได้กว้างขวางและจำกัดการวิจัยที่ตีความว่าไม่เหมาะกับท้องถิ่นหรือชาติ โชคดีที่ตามข่าว หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยทำการแทนรัฐมนตรีกระทรวง อว. เมื่อวันที่ 3 กันยายน ขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอเรื่องนี้เพื่อไปศึกษาเพิ่มเติม พวกเราก็ถอนหายใจโล่งอก ไม่ต้องมาต่อสู้กับเรื่องที่จู่ ๆ ก็กลายเป็นประเด็นขัดแย้ง ขอให้ข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 34 บัญญัติว่า “เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง” ร่างกฤษฎีกาดังกล่าวน่าจะล่วงละเมิดเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน

ขอให้รัฐบาลใหม่มีแรงดลใจและมีวิสัยทัศน์ที่ดี ในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง และสามารถดำเนินนโยบายที่ดีนั้น โดยอยู่รอดปลอดภัยจากนักร้อง (เรียน) ทั้งหลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image