เชียงใหม่เตรียมถกปรองดอง เริ่มเวทีแรก 1 มี.ค. นักวิชาการชี้สร้างภาพ แนะหาความจริงก่อน

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560  ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.เมือง จ.เชียงใหม่  นายปวิณ  ชำนิประศาสน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จังหวัด แถลงข่าวเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในระดับพื้นที่ ตามนโยบาย พล.อ.เฉลิมชัยสิทธิสาร  ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการ  กอ.รมน. ภายในราชอาณาจักร มี พ.อ.โรมรัน  ชูก้าน รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.จังหวัดเชียงใหม่ ฝ่ายทหาร  นายชูชีพ  พงษ์ไชย  หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วม โดยใช้เวลา 30 นาที
นายปวิณ กล่าวว่า จังหวัด และ กอ.รมน.จังหวัด จัดเวทีดังกล่าว 6 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 1 มีนาคม ครั้งที่ 2 วันที่ 3 มีนาคม ครั้งที่ 3 วันที่ 8 มีนาคม ครั้งที่ 4 วันที่10 มีนาคม ครั้งที่ 15 วันที่ 15 มีนาคม และครั้งสุดท้าย วันที่ 17 มีนาคม ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ด้านหลังศาลากลางจังหวัด โดยเชิญผู้ร่วมประชุม 4 กลุ่ม คือ กลุ่มการเมืองท้องถิ่น กลุ่มนักวิชาการ สื่อมวลชน กลุ่มข้าราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม  กลุ่มผู้นำชุมชน จิตวิญญาณและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐ กลุ่มละ 50 คน รวม 200 คน โดยครั้งแรก ได้เลือกผู้นำท้องถิ่น อาทิ นายก ผู้บริหาร สมาชิกสภา ท้องถิ่น  เข้าร่วมประชุม เป็นกลุ่มแรกก่อน
“ประเด็นหัวข้อพูดคุยมี 10 เรื่อง อาทิ การเมือง การปกครอง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาแหล่งน้ำ กระบวนการยุติธรรม การศึกษา สาธารณสุข สื่อมวลชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่างประเทศ สิทธิมนุษยชน การทุจริตหรือคอรัปชั่น  พร้อมเสนอแนะการปฏฺิรูปประเทศ เพื่อทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ ระยะ 20 ปีข้างหน้า ซึ่งเวทีดังกล่าวจัดแบบโต๊ะสี่เหลี่ยม คล้ายโต๊ะกลมเพื่อให้พูดคุยกันทุกประเด็น แต่ละครั้งเชิญผู้เข้าประชุม 30-40 คน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทุกเรื่อง ส่วนข้อสังกตนักวิชาการ หรือกลุ่มการเมือง ที่บอกว่าเวทีดังกล่าว เป็นปาหี่การเมือง ต้องการเลื่อนโรดแมป หรือเลือกตั้งออกไปนั้น ไม่ขอตอบคำถาม เพราะเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น” นายปวิณ กล่าว
นายปวิณ กล่าวอีกว่า  เวทีดังกล่าว ไม่ใช่เวทีความขัดแย้ง ผู้เข้าร่วมประชุมพูดฝ่ายเดียว ผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ มีหน้าที่นั่งฟัง จดข้อเสนอแนะ แต่ไม่ตอบคำถาม อยากให้จบในห้องประชุม ไม่นำไปพูดข้างนอกหรือพูดต่อ เพราะเป็นเวทีสามัคคีปรองดองทั้งนี้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จะวิเคราะห์ ประมวลผลของจังหวัด จะนำไปรวมกับระดับภาค เพื่อส่งให้กองทัพภาคที่ 3 และ กอ.รมน.ส่วนกลาง ภายในวันที่ 21-22 มีนาคมนี้
นายชำนาญ  จันทร์เรือง  นักวิชาการอิสระ ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดเวทีดังกล่าว เชื่อว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นเรืองไม่ง่าย ถ้าง่ายคงทำไปนานแล้ว แต่ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่มีจุดเริ่มต้นและมีเวทีแสดงออกบ้าง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ กอ.รมน.หรือฝ่ายความมั่นคง ว่าได้จัดเวทีพูดคุยกันแล้ว แต่เรื่องปองดอง ต้องใช้เวลา เพราะคู่ขัดแย้ง ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองเท่านั้น ยังมีประชาชน และกลุ่มต่าง ที่เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมและเสมอภาคทุกด้าน
“แนวทางแก้ปัญหาปรองดอง ควรเริ่มจากค้นหาความจริงเป็นอันดับแรก เพราะความขัดแย้งมีทุกลุ่ม ทุกสี ทุกองค์กร เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง  ต้นเหตุที่เกิดความขัดแย้งก่อนทำการสอบสวน พร้อมปฏิรูปสถาบัน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ก่อนรู้รักสามัคคี ให้อภัย ไม่แบ่งแยก หากจัดเวทีเพื่อสร้างภาพ ก็เหมือนซุกขยะใต้พรม คู่ขัดแย้งยังค้างคาใจ ทำให้ประเทศเดินหน้าไปไม่ได้ อยากให้รัฐบาล หรือ กอ.รมน. ศึกษาบทเรียนจากแอฟริกา เกาหลีใต้  ฟิลิปปินส์  ศรีลังกา เพือถอดบทเรียน และปรับใช้แก้ปัญหาไม่ใช่เร่งรัดในเวลาอันสั้น บางประเทศกว่าปรองดองสำเร็จ ต้องใช้เวลานับ 10 ปี” นายชำนาญ กล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image