ครบรอบ 1 ปี-ถ้าวันนี้ มีนายกฯชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ย้อนสำรวจผลงาน-นโยบาย 358 วัน

ครบรอบ 1 ปี-ถ้าวันนี้ มีนายกฯชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ย้อนสำรวจผลงาน-นโยบาย 358 วัน

ครบรอบ 1 ปี-ถ้าวันนี้
มีนายกฯชื่อ เศรษฐา ทวีสิน
ย้อนสำรวจผลงาน-นโยบาย 358 วัน

“ผมจะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย”

คือ คำพูดแรกของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

‘คำพูด’ ซึ่งถือเป็น ‘คำมั่น’ ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนครั้งนั้น ทำให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ใช้เวลาตลอด 358 วัน ในการพิสูจน์

Advertisement

แม้จะเข้ามาบริหารได้ไม่ถึงปี แต่หากมองด้วยใจที่ปราศจากอคติถึงมิติการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน จะเห็นผลงานที่วางไว้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย การส่งเสริมการค้า การพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และการเพิ่มความร่วมมือกับนานาประเทศ มาตรการเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลตั้งใจดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศที่ซบเซามานานกว่า 10 ปี ให้กลับมามีความเข้มแข็งอีกครั้ง

ในโอกาสวันที่ 11 กันยายน 2567 ที่หากนายกฯ เศรษฐายังอยู่ในตำแหน่ง จะครบรอบ 1 ปีพอดิบพอดี สกู๊ปพิเศษวันนี้ขอชวนมาร่วมย้อนดูผลงานสำคัญของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศที่เข้ามารับตำแหน่งในช่วงเวลาที่ประเทศเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ท้าทาย แต่กลับสามารถเดินหน้าบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่วันแรกที่แถลงต่อรัฐสภา

Advertisement

คืนคุณภาพชีวิตให้ประชาชน

เริ่มต้นที่การฟื้นเศรษฐกิจ ‘ลดรายจ่าย’ คืนคุณภาพชีวิตให้ประชาชน

หนึ่งในผลงานเด่นของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง คือ การลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การปรับลดราคาค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG นโยบายเหล่านี้ทำให้ค่าไฟลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อกระเป๋าเงินของพี่น้องประชาชนโดยตรง

นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ซึ่งตอนแรกถูกปรามาสจากขั้วตรงข้ามว่ายากจะสำเร็จ แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ รัฐบาลเศรษฐา 1 สามารถดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ทันที โดยนำร่องใน 2 สายหลัก ได้แก่ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) และรถไฟฟ้าสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) ช่วยให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ ในขณะที่เพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้อย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากแนวคิดที่มาจากภาคธุรกิจโดยเพิ่มอุปสงค์ผ่านการลดราคา

เศรษฐายังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สิน โดยประกาศเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ เริ่มจากมาตรการพักชำระหนี้สำหรับเกษตรกรกว่า 2.7 ล้านคน รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบผ่านการลดดอกเบี้ยและปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ประชาชนกลับมามีความสามารถในการดำรงชีวิตและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนได้อย่างมั่นคง

ในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการคิกออฟนโยบายวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจากจีน คาซัคสถาน อินเดีย ไต้หวัน และรัสเซียทันที เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในครึ่งปีแรกของปี 2567 ซึ่งทำได้สูงถึง 30% และไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยเท่านั้น แต่นโยบายนี้ยังสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น จากจีน ที่ตอบรับนโยบายของรัฐบาลไทยด้วยการมอบฟรีวีซ่ากลับให้กับคนไทยเช่นกัน

เศรษฐายังตั้งใจพัฒนาการท่องเที่ยวในเมืองรองในหลายมิติ เรามักได้ยินคำพูดคุ้นหูจากเขาว่า “ต่อจากนี้ไปจะไม่มีคำว่าเมืองรองอีกต่อไป แต่ทุกเมืองจะเป็นเมืองหลักที่น่าเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน” และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น นายกรัฐมนตรีเศรษฐา เดินหน้าพัฒนาสนามบินในภาคต่างๆ ทันที ทั้งสนามบินล้านนาในภาคเหนือ สนามบินอันดามันในภาคใต้ รวมถึงต่อยอดการเดินทางระหว่างประเทศไทย-ลาว ด้วยการให้บริการรถไฟระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปยังเวียงจันทน์ ประเทศลาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในภูมิภาคให้ขยายตัวยิ่งขึ้น และวางแผนจะต่อยอดในการคมนาคมทอดยาวไปถึงจีนด้วย นี่ยังไม่ได้นับรวมถึงการพัฒนาการให้บริการในสนามบินต่างๆ ให้อำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ใช้เวลาน้อยลง

เพิ่มค่าแรงแก้ปากท้อง-ต่อประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาระค่าใช้จ่าย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มขยับปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 330-370 บาทต่อวันในพื้นที่ต่างๆ และมีแผนจะเพิ่มเป็น 400 บาททั่วประเทศในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเดินหน้าปรับเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยเพิ่มขึ้น 10% ภายใน 2 ปี เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่มข้าราชการในระยะยาว

ขณะที่ภาคเกษตรกรรม รัฐบาลเศรษฐารับนโยบายเพิ่มราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว และมังคุด ทันที ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐ ต่างจากในอดีตที่ต้องมีการชดเชยค่าเก็บเกี่ยว หรือประกันราคาสินค้า นอกจากนี้ รัฐบาลยังเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดินทำกิน ให้เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินเป็นหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งทุน ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรไทยมีความมั่นคงและสามารถพัฒนาธุรกิจเกษตรได้อย่างยั่งยืน

ในด้านการสาธารณสุข รัฐบาลได้ยกระดับโครงการ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในทุกจังหวัด และลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาล ซึ่งนโยบายนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จของนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลกให้ก้าวหน้าไปอีก

ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่-ขยายโครงสร้างพื้นฐาน

ไม่เพียงแต่แก้ไขปัญหาในปัจจุบัน แต่ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ยังมองไปข้างหน้าด้วยการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ศูนย์ข้อมูล (data center) และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น

การสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการโดยรัฐบาลกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องผลิตรถยนต์ EV ในไทยเพื่อชดเชยการนำเข้าในระยะแรก มาตรการนี้ไม่เพียงช่วยลดการนำเข้า แต่ยังส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 6.1 หมื่นล้านบาท และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน และเศรษฐา ทวีสิน ก็ได้ย้ำกับนักลงทุนที่เข้ามาพบทุกรายว่าจะต้องกระจายรายได้ให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยด้วย

‘รัฐบาลเศรษฐา’ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเร่งดำเนินโครงการรถไฟฟ้าหลายสาย เช่น สายสีส้ม รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะเชื่อมต่ออ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ผ่านระบบท่าเรือ รถไฟ และมอเตอร์เวย์ โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2573

ในขณะเดียวกัน ยังมุ่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีแผนการขยายสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือ และระบบรถไฟ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ โครงการเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังสร้างโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานให้กับประชาชนในหลายภาคส่วน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งและการค้าให้กับประเทศอย่างมหาศาล

แก้ฝุ่น PM2.5 เพิ่มแหล่งน้ำ แก้ปัญหา สวล.

แม้ว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ก็ไม่ละเลยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศ รัฐบาลประกาศให้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ และผลักดันกฎหมายอากาศสะอาดอย่างจริงจัง เพื่อให้มีมาตรฐานการควบคุมมลพิษที่เข้มงวดขึ้น โดยตัวนายกฯเศรษฐาเอง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ เร่งรัดการแก้ปัญหา และออกคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเองอยู่หลายต่อหลายครั้ง เพื่อย้ำเตือนถึงการให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว และแม้ว่าปัญหาฝุ่นละอองจะยังคงมีอยู่จากการเผาไหม้ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ความตั้งใจและการใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหานี้ทำให้นายกรัฐมนตรีไทยต่อสายตรงถึงผู้นำประเทศเพื่อนบ้านของไทย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

พูดถึงเรื่อง ‘น้ำ’ ในเวลาไม่กี่เดือนที่เข้ามาบริหารงาน รัฐบาลเศรษฐาใส่ใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันทั้งปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง นอกจากนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการขยายโครงการแหล่งน้ำบาดาลและปรับปรุงระบบน้ำประปาทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาภัยแล้ง และแก้ไขปัญหาน้ำไม่สะอาด โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทซึ่งมีการดำเนินโครงการสนับสนุนน้ำใสสะอาดได้ขยายไปถึงโรงเรียนกว่า 740 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ชีวิตของนักเรียนและประชาชนในพื้นที่มีน้ำสะอาดไว้กินไว้ใช้อย่างเพียงพอ

เดินเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม

ภายใต้การบริหารราชการของ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะขาด 2 นโยบายสำคัญนี้ไปไม่ได้เด็ดขาด นั้นคือ การส่งเสริม Soft Power ของไทย และการขับเคลื่อน Digital Wallet เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล และการสร้างฐานเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับประชาชน

ในการส่งเสริม Soft Power นายกฯเศรษฐาได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการนำวัฒนธรรมไทยมาใช้สร้างภาพลักษณ์และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น การนำผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมืองไทยมาประยุกต์ใช้เป็นผ้าพันคอในการประชุมกับผู้นำต่างชาติ การกระทำนี้ไม่เพียงสร้างความประทับใจให้กับผู้นำนานาชาติ แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบไทยและชุมชนท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น การที่แบรนด์รองเท้ายี่ห้อหนึ่งผลิตรองเท้าลายผ้าขาวม้า ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นในการสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชน

ขณะที่โครงการ Digital Wallet ที่เป็นนโยบายเรือธงสำคัญของรัฐบาลซึ่งจะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกพื้นที่ของประเทศ รวมถึงเป็นการสร้างฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประชาชน ให้อนาคตการทำธุรกรรมและการเข้าถึงบริการต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น Digital Wallet ถูกออกแบบมาให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม เพื่อสร้างความครอบคลุมทางเศรษฐกิจ ลดความกระจุกตัวในการจับจ่ายใช้สอย ต้องยอมรับว่า วิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้าไกลของเศรษฐา ทวีสิน เขย่าวงการการเมือง และการเงินพอสมควร แน่นอนว่า แม้จะเป็นผู้นำรัฐบาลแบบฉุกละหุก แต่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า นโยบายนี้จะถูกสานต่อจากที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาได้วางรากฐานไว้ และจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

ใช้กฎหมายเคร่งครัด ปราบอาชญากรรมทุกมิติ

การบังคับใช้กฎหมายและป้องกันอาชญากรรมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ จัดว่าเป็น ‘ผลงานเด่น’ อีกชิ้นของรัฐบาลเศรษฐา ระยะเวลาเกือบ 1 ปี มีการดำเนินการปิดบัญชีม้าและซิมม้าที่ใช้ในการทำธุรกรรมผิดกฎหมายจำนวนมหาศาล รวมถึงการปิดเว็บพนันออนไลน์ที่เป็นแหล่งอาชญากรรมในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้ออกมาตรการเพื่อยับยั้งการกระทำของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยกำหนดให้เบอร์มือถือที่มีการโทรออกอย่างต่อเนื่องต้องยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการเครือข่ายอย่างเข้มงวด มาตรการเหล่านี้สะท้อนถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน และลดช่องโหว่ที่เหล่ามิจฉาชีพเคยใช้ในการหลอกลวง สถิติ จำนวน และการจับกุมผู้ทำผิดกฎหมาย เป็นตัวการันตีการทำงานอย่างเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นโยบาย ‘หัวใจ’ ของเศรษฐาอีกอันหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ การปราบปรามยาเสพติด เรื่องนี้เจ้าตัวเอาจริงเอาจังชนิดว่าเป็นที่รู้กันถ้วนทั่วในวงการตำรวจ และหน่วยงานด้านความมั่นคง กลยุทธ์ 3 ป. ปลุก เปลี่ยน ปราบ

ปลุกชุมชนให้เข้มแข็งสู้กับปัญหายาเสพติด เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย และปราบปรามนักค้ายาอย่างเด็ดขาด ถูกยกมาเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อจัดการกับปัญหา เราจะเห็นข่าวนายกฯเรียกฝ่ายความมั่นคงมาติดตามความคืบหน้าอยู่ตลอด และการลงพื้นที่แต่ละครั้งของนายกฯในแต่ละจังหวัดจะต้องมีเรื่องยาเสพติดเป็นวาระในการลงพื้นที่ด้วยเสมอ โดยเฉพาะปัญหาบริเวณชายแดนซึ่งเป็นช่องทางหลักในการลักลอบนำยาเสพติดเข้าประเทศ และการเร่งยึดทรัพย์ผู้ค้ายาเสพติดอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเผาทำลายยาเสพติดเพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ซ้ำ

นายกฯยังสั่งการให้ปรับแก้กฎกระทรวงสาธารณสุข ให้การครอบครองยาบ้าแม้เพียงเม็ดเดียวก็มีความผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีไว้เพื่อการเสพ

หนุนสิทธิที่เท่าเทียม ความรักที่เท่ากัน

กฎหมายสมรสเท่าเทียม เกิดขึ้นในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นี่คือสิ่งที่เป็นที่ประจักษ์ และไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยแม้แต่น้อย เพราะตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง หรือหลังเข้ารับตำแหน่ง ชายที่ชื่อเศรษฐา ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เสมอมา เขาออกมาคอลเอาต์เรื่องความเท่าเทียมตั้งแต่ยังเป็นผู้บริหารเอกชนจนวันที่เป็นนายกรัฐมนตรี ธงสีรุ้งโบกสะบัดกลางทำเนียบรัฐบาลหลายต่อหลายครั้ง กฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะเปิดโอกาสให้มีการสมรสกันได้อย่างเท่าเทียมแล้ว ยังช่วยสร้างความเสมอภาคทางกฎหมายให้กับคู่รักเพศเดียวกัน ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีสากลด้วย

358 วันประเทศไทยเป็นดินแดนของโอกาส

นับจากวันแรกๆ ที่เข้าดำรงตำแหน่ง เศรษฐายังได้พูดถึงคีย์เวิร์ดระดับโลกต่างๆ มากมายให้ประชาชนได้ยิน เช่น Entertainment Complex, AWS, Google Cloud, Microsoft, Tesla, Goldman Sachs, JPMorgan, Semiconductor, Data Center, Formula 1, Taylor Swift และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนชวนให้ฉุกคิดว่าศักยภาพของประเทศไทยจะสามารถเติบโตไปทางไหนได้ หากรัฐบาลให้ความสำคัญและขับเคลื่อนคีย์เวิร์ดเหล่านี้ เสริมไปกับเรื่อง ข้าว ยางพารา น้ำท่วม ราคาน้ำมัน ที่ปรากฏในภาพข่าวเป็นปกติ

ผลงาน 358 วันของรัฐบาลเศรษฐา หากแจกแจงลงรายละเอียดคงไม่ได้มีเพียงเท่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการค้า การลงทุนที่ตัวนายกฯเองเดินสายเจรจา ปลูกเมล็ดพันธุ์ไว้ วันนี้กำลังเริ่มออกดอกออกผล แม้ตัวนายกฯเศรษฐาจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง แต่เริ่มเห็นภาพบริษัทต่างๆทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศตามที่เขาวางแผนไว้

นโยบายของรัฐบาลเศรษฐา จึงไม่ได้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น แต่เป็นการวางรากฐานสำหรับอนาคตของประเทศด้วยนโยบายที่ทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไปด้วย

‘เศรษฐา’ จะกลับมาสู่ในหน้าการเมืองได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายๆ ประการ ซึ่งหลีกไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกเงื่อนไขด้านกฎหมาย ความพร้อมและกำลังใจของเศรษฐาหลังจากที่โดนตุลาการภิวัฒน์ และการยอมรับจากภาคการเมืองที่ต้องปรับตัวให้ทันกับการทำงานแบบภาคธุรกิจ

ในมุมมองด้านโอกาส หลายฝ่ายยอมรับว่า ‘เสียดาย’

เสียดายแรกคือ เสียดายคนมีความรู้ความสามารถด้านการบริหารที่ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เสียดายที่สองคือ เสียดายเวลาของการทำงาน เพราะกว่านายกฯคนหนึ่งจะปรับจูนทำความเข้าใจกับส่วนราชการเพื่อดึงความร่วมมือได้ต้องใช้เวลา ซึ่งเศรษฐาทำได้แล้ว และสุดท้ายคือ เสียดายโอกาสของประเทศที่พอจะหยิบจับได้เป็นรูปธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image