รอมฎอน จี้นโยบายดับไฟใต้ แนะนายกฯ บอกพิศาลไปศาล สู้คดีตากใบ ประท้วงวุ่นภาพทักษิณ
เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 12 กันยายน นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายว่า เรื่องความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาระดับชาติ เป็นมรดกตกทอดมาแล้ว 8 นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้เมื่อ 10 ปีก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงนโยบายต่อสภา มีการให้ความสำคัญมากเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา
แต่ในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน กลับไม่มีการระบุถึงเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ตรงๆ สะท้อนว่ารัฐบาลของนายเศรษฐาจะไม่แยแสกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือไม่ก็ไม่กล้าแตะที่ฝ่ายความมั่นคง
เมื่อมาถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ได้เขียนเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประโยคเดียวที่มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะวางอยู่ในส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และวางอยู่ในประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ใกล้กับฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง และปฏิรูประบบราชการและกองทัพ หมายความว่ากำลังมองปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะที่เป็นปัญหาทางการเมือง ปัญหาระหว่างรัฐกับประชาชนที่จำเป็นต้องออกแบบในเชิงสถาบันว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร
การตั้งหลักคือปัญหาการเมือง ตนเห็นด้วย และเชื่อว่าพรรคประชาชน มองเหมือนกันว่าปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาการเมือง และต้องการทางออกทางการเมือง
นายรอมฎอนกล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลเศรษฐา แม้จะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบปะกับนายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีสาระสำคัญอะไรมาก เพราะหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องสันติภาพ เรื่องความมั่นคง แต่เน้นย้ำเรื่องโอกาสที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ
และไม่ได้รับรองร่างกฎหมาย กอ.รมน. ไม่ได้ปรับอัตรากำลังตามที่แถลงในวันที่ 11 กันยายน 2566 ทำให้งานชายแดนใต้ก็ยังถูกครอบงำโดยหน่วยงานราชการ และกองทัพ ไม่มีแรงผลักดันใดๆ จากฝ่ายการเมืองอย่างที่ควรจะเป็น
นายรอมฎอนอภิปรายต่อว่า น.ส.แพทองธารต้องแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ได้เสียที ผ่านมาแล้ว 20 ปี จะต้องพลิกแกนแก้ปัญหาให้กระบวนการสันติภาพเป็นแนวทางการเมืองหลัก ถ้าปล่อยปละละเลยเอาไว้ แนวทางและมุมมองแบบความมั่นคงก็ยังเป็นการครอบงำหน่วยงานราชการ และเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบันนี้” นายรอมฎอนกล่าว
นายรอมฎอนอภิปรายว่า นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจคือในวันที่ 19 ตุลาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันสุดท้ายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจะเป็นครั้งที่ 77 นับต่อเนื่องมาจากรัฐบาลของนายทักษิณ ที่มีการฉุกเฉินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ท่านต้องตัดสินใจว่าครั้งที่ 78 มติ ครม.จะเอาอย่างไร และที่สำคัญคือท่านอาจจะต้องทบทวนกฎหมายด้านความมั่นคงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่อให้นายเศรษฐาปัดตกไปแล้ว พวกตนก็พร้อมที่จะเสนอเข้าต่อ และตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ นายกฯ ต้องตัดสินใจว่าท่านจะอนุญาตให้พวกเราค่อยมาถกเถียงถึงอนาคตของ กอ.รมน. จะยังยืนอยู่ที่จุดยืนเดิม หรือจะเปลี่ยนไป ตนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง
นายรอมฎอนยังกล่าวถึงคดีตากใบ โดยระบุว่า การขอโทษและขออภัยต่อพี่น้องชาวตากใบเมื่อ 2 ปีที่แล้วของนายทักษิณ สำคัญมาก เพราะตอนนั้น เหลืออายุความของคดีอีกสองปี และถือว่าเป็นคำขอโทษของอดีตผู้นำประเทศนี้ เราต้องเรียนรู้อดีต จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหายืดเยื้อมายาวนาน ประวัติศาสตร์บาดแผลหลายเรื่องเป็นเรื่องที่กลืนยาก เป็นยาขม แต่สังคมที่มีวุฒิภาวะเราต้องก้าวข้ามผ่านมันไปด้วยกัน
คดีตากใบผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว พี่น้องประชาชนที่ต้องสูญเสียในวันนั้นยื่นฟ้องต่อเจ้าหน้าที่ และมีการประทับรับฟ้อง โดยจำเลยหนึ่งในนั้นคือเพื่อนสมาชิกของเราด้วย ซึ่งทราบว่าศาลได้ออกหมายจับจำเลย 6 คน แล้วจะทำหนังสือเฉพาะจำเลยที่หนึ่งมาทางประธานสภา เพื่อขอจับกุมและทำตามหมายเรียก จึงอยากเห็นความกล้าหาญทางการเมืองของนายกฯ แสดงจุดยืนว่า วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก การฆ่าประชาชน 100 กว่าคนต้องไม่เกิดขึ้นอีก
ขอให้ท่านโน้มน้าวใจ แนะนำ ส.ส.ที่เป็นจำเลยให้เดินทางไปที่ศาลในนัดครั้งต่อไปวันที่ 15 ตุลาคม ประชาชนรอมา 20 ปี เราจะมาสร้างบรรทัดฐาน สร้างนิติธรรมที่เข้มแข็งด้วยกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปราย นายรอมฎอนได้นำภาพสไลด์ ที่เป็นภาพนายทักษิณ ชินวัตร ที่ขอโทษและแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ตากใบ มาเสนอในที่ประชุม แต่ถูกประท้วงจาก ส.ส.เพื่อไทย อาทิ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นายธีระชัย แสนแก้ว โดยระบุว่าเป็นการนำบุคคลภายนอกมาอภิปราย จนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สั่งห้ามใช้ภาพนายทักษิณ ประกอบการอภิปราย