ปรบมือกระหึ่ม! ชาญวิทย์ เลคเชอร์ทรงพลัง จาก ‘ถ้วยสาเกจักรพรรดิ’ โยงปวศ. การเมืองหลากสมัย

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ Lido Connect Hall 2 สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เครือมติชน จัดงาน ‘Talks for Thailand 2024 เสียง-สามัญชน’

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเวลาราว 13.30 น. ประชาชนที่ลงทะเบียนล่วงหน้า ทยอยเดินทางมาเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติจากแวดวงต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการ กอง บก.มติชนสุดสัปดาห์ กล่าวเปิดเสียงสามัญชน จากนั้น นายกษิดิศ อนันทนาธร อาจารย์ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวในหัวข้อ ‘สามัญชนสร้างชาติ : มองสามัญชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย’ ต่อด้วย ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งกล่าวในหัวข้อ ‘บทบาทพลเมืองไทยในช่วงต้นรัฐประชาชาติ’

ADVERTISMENT

กระทั่งเมื่อเวลา 15.30 น. ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นเวทีแสดง Lecture Performance‘ An Imperial Sake Cup and I ถ้วยสาเกจักพรรดิกับเรื่องเล่าสามัญ ของ ขาญวิทย์ เกษตรศิริ’ มีเนื้อหาบอกเล่าความสัมพันธ์ของศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ชาญวิทย์กับประเทศญี่ปุ่น นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จวบจนการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลของนักศึกษาไทยในทศวรรษที่ 70 ผ่าน ‘ถ้วยสาเก’ ที่ได้รับพระราชทานเป็นของที่ระลึกจากจักรพรรดิอากิฮิโตะเมื่อ 60 ปีก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแสดงดังกล่าว เปิดด้วยการเล่าเรื่องชีวิตของตนว่าเป็นผู้ชอบสะสมสิ่งของตั้งแต่เยาว์วัย ไม่ว่าจะเป็นแสตมป์ เหรียญ รูปภาพ ฯลฯ โดยชองสะสมชิ้นแรกคาดว่าคือ ‘มีดเชลย’ ที่บิดาได้จากทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนชื้นที่ 2 ที่เป็นของญี่ปุ่น คือ ‘ถ้วยสาเก’ สีแดงชาด ตรงกลางเป็นรูปดอกเบญจมาศ หรือเก๊กฮวย ที่ตนได้รับจากการร่วมรับเสด็จมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะ และพระชายา เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2507 หรือเมื่อ 60 ปีก่อน โดยขณะนั้นตนทำงานเป็นพนักงานวิเทศสัมพันธ์ ของกรุงเทพมหานคร โดยของทั้ง 2 ชิ้นตนเก็บรักษามานานกว่าครึ่งศตวรรษ

ADVERTISMENT

ระหว่างนั้น มีการฉายคลิปเมื่อครั้ง ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ รอเข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระมหาจักพรรดิอากิฮิโตะ ที่ลานพระราชวังกรุงโตเกียว พร้อมๆ กับชาวญี่ปุ่นกว่าแสนคน โดยครั้งนั้นได้รำถ้วยสาเกดังกล่าวติดตัวไปด้วย

จากนั้น เป็นการเล่าเรื่องราวชีวิตที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และประวัติครอบครัว
แล้วเข้าสู่เรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอบ้านโป่ง กระทั่งเกิด ‘วิกฤตการณ์บ้านโป่ง’ ซึ่งลุกลามใหญ่โต โดยเริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่ทหารญี่ปุ่นตบหน้าภิกษุไทย

ต่อมา เป็นการเล่าชีวิตเมื่อครั้งไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 กระทั่งเดินทางออกนอกประเทศไทย ไปยังประเทศญี่ปุ่น เกิดความหลงรักในวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยขณะนั้นคิดว่าจะเลิกพูดภาษาไทยและไม่กลับมาไทยอีก แต่เปลี่ยนใจกลับมาทำงานยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้ง

ในตอนท้าย ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ ชวนให้ผู้ชมร่วมดื่มสาเก โดยมีการแจกจ่ายให้ทุกที่นั่ง ผู้ชมร่วมดื่มอย่างคึกคัก และปรบมืออย่างกึกก้องเมื่อจบการแสดง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจบการแสดง มีการมอบ 10 รางวัลแก่ผู้โชคดีที่มีดิกซากุระใต้เก้าอี้ เป็นหนังสือ An Imperial Sake Cup and I ฉบับ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น พร้อมลายเซ็น ศ.พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ อีกด้วย

ทั้งนี้ การแสดงดังกล่าว ถือเป็นครั้งที่ 5 โดยที่ผ่านมา เคยแสดงแล้ว 4 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2563 ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ 1 รอบ ได้รับการสนับสนุนโดย มูลนิธิ จิม ทอมป์สัน และเจแปน ฟาวน์เดชั่น ต่อมา ปี 2565 ได้ไปแสดงในโตเกียว เมโทรโพลิแทน ประเทศญี่ปุ่น 3 รอบ ต่อมา การแสดงครั้งที่ 3 มีขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ Bacc เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ จำนวน 3 รอบ หลังจากนั้น ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน มีการแสดงครั้งที่ 4 ที่โรงละคอนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ทั้งนี้ น.ส.ปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มอบดอกไม้ แสดงความยินดีแด่ ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจบการแสดง

จากนั้น ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ มอบหนังสือ An Imperial Sake Cup and I ฉบับ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น พร้อมลายเซ็น แด่ น.ส.ปานบัว พร้อมถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหารในเครือมติชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image