‘กษิดิศ’ มั่นใจ ‘โลกของสามัญชน’ อยู่ไม่ไกล ถูกกรุยทางไว้นานแล้ว อ.ชาญวิทย์ คือหนึ่งในนั้น

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 กันยายน ที่ Lido Connect Hall 2 สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เครือมติชน จัดเวที ‘Talks for ThailandThailand 2024 เสียง-สามัญชน’ ระดมนักวิชาการชั้นนำของประเทศ มาร่วมถ่ายทอดบทบาทแห่งความมุ่งมั่นของสามัญชน ที่เป็นพลังร่วมกันสร้างชาติ ขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า เกิดพัฒนาการใหม่ๆ ภายในชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมความเป็นอยู่ มาจนถึงทุกวันนี้

โดยมีไฮไลต์สุดพิเศษในช่วงท้าย ได้แก่ การแสดงใหญ่ชุด ‘An Imperial Sake Cup and I’ นำแสดงโดย ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอรูปแบบ Lecture Performance

บรรยากาศเวลา 14.40 น. นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ ขึ้นมาเล่าเรื่อง เพื่อเปิดเวที เสียง-สามัญชน ก่อนเข้าสู่ช่วง ‘Talks for Thailand เสียง-สามัญชน’ โดย นายกษิดิศ อนันทนาธร อาจารย์ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักเขียน บรรณาธิการ อาจารย์รุ่นใหม่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมือง, ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์การเมือง เจ้าของผลงานหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี และราษฎรปฏิวัติ ฯลฯ

เวลา 14.50 น. นายกษิดิศ กล่าวในหัวข้อ ‘สามัญชนสร้างชาติ : มองสามัญชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย’ ว่า เวลาพูดถึงสามัญชน ตนมักจะนึกถึงสายสีมา ตัวละครในนวนิยายปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งกล่าวได้ว่า โลกของสามัญชน เป็นโลกซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่อยู่ในโลกเก่า ในนิยายปีศาจ เสนีย์ เขียนใส่ปากสายสีมาไว้ว่า

ADVERTISMENT

‘ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้ บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก … โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน และโลกของธรรมดาสามัญชนเช่นนี้แหละ ที่เป็นโลกซึ่งเสมือนเป็นปีศาจ ที่กาลเวลาสร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกก็เก่า’

“เราจะเห็นภาพว่าตั้งแต่คณะราษฎร กลุ่มสามัญชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ความเสมอภาค ในสังคม การเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปในทางที่ดีขี้น ก็เป็นปีศาจ อยู่เสมอ” นายกษิดิศชี้

ADVERTISMENT

นายกษิดิศกล่าวว่า เมื่อพูดถึงสามัญชนในแง่ที่ว่า เป็นคนที่มีส่วนในการ ‘สร้างชาติบ้านเมือง’ ก็อาจจะมีคำถามว่า แล้วสามัญชนมีชื่อในพงศาวดารหรือเปล่า? เคยออกไปรบทัพจับศึก ปกป้องบ้านเมืองหรือเปล่า ตนอยากใช้คำตอบของศรีบูรพา ในนวนิยายอีกเรื่องคือ ‘แลไปข้างหน้า’ ที่เขียนให้ภาพบรรยากาศใน โรงเรียนเทเวศร์รังสฤษดิ์ การสนทนากันระหว่างหม่อมราชวงศ์คนหนึ่ง กับตัวละครที่เป็นนักเรียนสามัญชน ‘นิทัศน์’ ซึ่งเป็นลูกชาวบ้าน ได้ตอบหม่อมราชวงศ์รุจิเรข ซึ่งมีเสด็จปู่ทวดอยู่ในพงศาวดาร รบทัพจับศึกกู้บ้านเมืองมา ท่านก็ตอบว่า

‘แต่การที่พงศาวดาร มิได้จารึกชื่อราษฎรสามัญชนจำนวนมากมาย ที่ได้สละเลือดเนื้อ ต่อสู้ ป้องกันบ้างเมืองของเราเหมือนกัน ก็ถือเป็นเหตุให้เราถือว่า เราไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณท่านผู้กล้าหาญ ที่เป็นสามัญชนชาวบ้านเหล่านั้นด้วยหรือ’

นายกษิดิศกล่าวต่อว่า ประเด็นเหล่านี้ เราอาจะพูดได้ว่าโลกแบบเก่า เป็นโลกซึ่งเสียงของสามัญชน ไม่มีความหมายมากนัก พื้นที่ของสามัญชนแทบจะไม่ได้ปรากฏ แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็มีสามัญชนบางคน บางกลุ่มที่สร้างแรงบันดาลใจ ของการสร้างโลกของสามัญชน ที่มีเสียง

อย่างสมัย รัชกาลที่ 5 ที่ ‘เทียนวรรณ’ ก็เป็นสามัญชนคนสำคัญ ที่พูดถึงว่า เราจะมีสังคมใหม่ได้อย่างไร บ้านเมืองที่มีความก้าวหน้า มี parliament มีผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเสียง

หรือสมัย ร.6 ก็มีคณะ รศ.130 จะทำอย่างไรให้สามัญชนมีโอกาสกำหนดความเป็นไปในบ้านเมือง แม้เขาจะทำไม่สำเร็จ แต่ก็ต้องพูดว่า คนเหล่านี้กรุยทางของอนาคต ให้เราฝันใฝ่ถึงสังคมที่ดีขึ้นได้

“โลกของสามัญชน ที่คนธรรมดาสามัญ มีสิทธิมีเสียง มีโอากสในสังคม ก็เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเก่า ให้เป็นประชาธิปไตย ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประกาศใช้เมื่อ 27 มิถุนายน ศกนั้น ประกาศไว้อย่างชัดเจว่า ‘อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ “นายกษิดิศชี้

นายกษิดิศกล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่การมีรัฐธรรมนูญ ยังมีการเลือกตั้ง มีกติกาที่เปิดโอกาสให้สามัญชนทั่วไป ใช้สิทธิใช้เสียง เลือกผู้แทนฯ เข้าสู่สภาที่ชื่อว่า ‘สภาผู้แทน ราษฎร’ เป็นสิทธิที่เขาจะใช้ผู้แทนของเขา ในการเป็นปากเป็นเสียงให้แก่พวกเขา

แล้วการมีผู้แทนราษฎรสำคัญอย่างไร เราได้เห็นแล้ว ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะแรก เราได้คนธรรมดา สามัญ ครูประชาบาล ชาวบ้านจากต่างจังหวัด เข้ามาเป็นผู้แทนฯ จำนวนมาก

อย่างเช่นคนอย่าง ‘ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง, เตียง ศิริขันธ์’ คือตัวอย่างของผู้แทนชาวบ้านที่ไม่ได้มาจากตระกูลชนชั้นสูง แต่เป็นปากเสียงให้กับคนสามัญได้ สามารถตั้งคำถาม ตรวจสอบการปกครองของรัฐบาลให้กับชาวบ้านได้ ว่าระหว่าง การสร้างเสา หรือรั้วบ้าน ควรจะลงทุนอะไรก่อน การลงทุนเพื่อป้องกัน หรือพัฒนาประเทศ แบบไหนสำคัญกว่า เหล่านี้คือตัวอย่างของเสียงสามัญชนที่ถูกสะท้อนในสภาฯ

นายกษิดิศชี้ว่า อีกสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างโลกของสามัญชน คือการตั้งสถานศึกษา การตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎรให้คนมีสิทธิรับการศึกษาตามที่พึงได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เปิดโอกาสให้คนจำนวนมากเข้ามาเรียนหนังสือ เข้ามามีความรู้ในขั้นอุดมศึกษา มีความรู้อย่างใหม่ ไม่ใช่สอนเฉพาะกฎหมาย แต่สอนเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ การบัญชี เพื่อเป็นพลเมืองของระบบการปกครองใหม่

ดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น คนอย่าง ศักดิชัย บำรุงพงศ์ , เสนีย์ เสาวพงศ์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ก็เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตคนสำคัญ

นอกจากนั้น ‘ธรรมศาสตร์บัณฑิตยุคแรก’ อย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า ลูกชาวบ้าน ลูกคนจีนอย่าง ดร.ป๋วย มีโอกาสทางการศึกษา ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่กลับมารับราชการ เป็นข้าราชการคนสำคัญ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นเทคโนแครต เป็นอะไรหลายอย่าง เป็นนักวิชาการ เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ นักการศึกษา เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ เป็นอธิการบดีที่ธรรมศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น คนอย่างป๋วย ยังเป็นคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องความเสมอภาคในสังคมพูดถึงสังคมในอุดมคติ ดร.ป๋วยไม่ได้พูดอย่างเดียว ‘ทำ’ ด้วย แต่แน่นอนหลายเรื่องที่ ดร.ป๋วย ทำก็ยังไม่สำเร็จ

สิ่งสำคัญที่เรารู้จัก ก็คืองานเขียนของ ดร.ป๋วย ‘คุณภาพแห่งชีวิต’ ‘ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’

นายกษิดิศกล่าวต่อว่า อีกสิ่งที่ ดร.ป๋วย ทิ้งไว้เป็นมรดกสำคัญ คือ ‘หลักประชาธรรม’ ที่มีหลักง่ายๆ 2 ข้อเท่านั้น คือ ‘สิทธิเสรีภาพของคนแต่ละคน และการมีส่วนร่วมในการกำหนดโชคชะตาของสังคมที่พวกเราอาศับอยู่’

“สิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยปลี่ยนแปลงการปกครอง แค่มีสิทธิเสรีภาพ แค่มีโอกาสในการกำหนดชะตากรรมของสังคม ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจะเห็นภาพว่า ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง โลกที่สามัญชนจะมีสิทธิมีเสียง มีโอกาส ก็ไม่ใช่โลกที่ทุกคนปราถนา หมายความว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ยังอยู่ในโลกเก่า ผู้ปกครองบางสมัย ที่รู้สึกว่าโลกของสามัญชนไม่ใช่สิ่งที่เขาไม่ปราถนา

“เสียงของสามัญชนไม่ได้รับการฟัง การยอมรับ ถูกปิดกั้น ก็จะเห็นภาพว่าตลอดหลายสิบปี จึงมีการต่อสู้กัน เพื่อเรียกร้องพื้นที่ของสามัญชน หลังระบอบเผด็จการทหาร เราก็มีการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ปี 2535 ไปจนถึงสงครามระหว่างสี การเมืองเหลือง-แดง, ไล่มาจนถึงเร็วๆ นี้ การชุมนุมของประชาชน เยาวชนนิสิต นักศึกษา ตั้งแต่ยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าการต่อสู้เพื่อโลกของสามัญชนนั้น ดูจะเป็นเรื่องยากเย็น”

“แต่ปรากฏการณ์ที่เราพบคือ ประเด็น 2475 เรื่องคณะราษฎร กลับมาเป็นประเด็นที่ถูกสนใจอีกครั้ง ถูกนำมาดีเบต สนับสนุน คัดค้าน โต้แย้ง ผู้ชุมนุม พรรคการเมือง ก็ผูกตัวเองเข้ากับคณะราษฎร” นายกษิดิศระบุ

นายกษิดิศกล่าวต่อว่า ในเวลาที่โลกวิชาการ ตลาดหนังสือ คนหันกลับมาสนใจเรื่อง 2475 ถ้าเราไปดูหนังสือเหล่านั้นก็จะเห็นภาพว่า มีตำราอยู่กลุ่มหนึ่ง มีหนังสืออยู่จำนวนหนึ่งที่เขียนหรือบรรณาธิการโดย ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งก็เป็นผลผลิตคนหนึ่งของ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งในเวลาต่อมาเป็น ม.ธรรมศาสตร์

“ถ้าเราไปดูงานของอาจารย์ชาญวิทย์ ก็อาจจะพูดได้ว่า อาจารย์ชาญวิทย์ ก็เป็นโลกของสามัญชน เป็นนักวิชาการคนสำคัญที่สร้างและเผยแพร่ความรู้ให้กับพวกเรา

ด้วยเหตุทางตำแหน่งแห่งที่ของสามัญชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อาจารย์ชาญวิทย์ ก็เป็นลูกชาวบ้าน เกิดเมื่อวันที่ 6 พ.ค. ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าเมืองไทยไม่เท่าไหร่ ชีวิตของอาจารย์ผูกพันกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผูกพันกับญี่ปุ่น และสงคราม” นายกษิดิศ

นายกษิดิศกล่าวต่อว่า อาจารย์ชาญวิทย์ เป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯ เป็นสิงห์แดง ที่แข็งขัน จบรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ไปเห็นโลกกว้างในต่างประเทศ ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ไปพบ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ฝรั่งเศส แล้วก็กลับมาสอนหนังสือที่ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นเวลายาวนาน มีผลงานจำนวนมาก ตั้งแต่เรื่อง 2475 ไปจนถึงเหตุการณ์ทางการเมือง จนอาจจะพูดได้ว่า ตลอดเวลาอันยาวนานที่อาจารย์ชาญวิทย์ ได้สร้างผลงานในวงวิชาการการไว้ พวกเราที่สนใจบทบาทของสามัญชนในการสร้างชาติ ย่อมจะได้ประโยชน์จากงานของ อาจารย์ชาญวิทย์

“แต่อย่างที่ผมพูดไป ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เราก็พบว่า การเมืองไทยอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง อยู่ในจุดซึ่งก้าวหน้าไม่เท่าไหร่ ก็ถอยหลังกลับมาอีก เราอยู่ในพัฒนาการแบบนี้ ซึ่งอาจจะบอกได้ว่า ไม่ก้าวหน้าไปเท่าไหร่นัก พูดแบบแย่ จะโทษได้ไหมว่านี่คือความล้มเหลวของอาจารย์ชาญวิทย์ ที่ไม่สามารถสอนประวัติศาสตร์ให้คนได้บทเรียนอะไรเลย ถ้าพูดแบบนั้นเราอาจจะมองประวัติศาสตร์สั้นไป ถ้าเรามองให้ยาวขึ้น นี่เพิ่งผ่านมา 90 ปีเท่านั้นเองหลัง 2475” นายกษิดิศชี้

นายกษิดิศกล่าวต่อว่า ในประวัติศาสตร์ช่วงยาว เราอาจจะบอกว่า โลกของสามัญชนนั้น ผู้ที่อยู่ในโลกเก่าปฏิเสธไม่ได้ ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าในปัจจุบันเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งให้ได้ผู้แทนราษฎร

“อาจจะพูดได้ว่า โลกของสามัญชนนั้น น่าจะอยู่ไม่ไกลที่เราจะก้าวไปถึง และอาจารย์ชาญวิทย์น่าจะได้อยู่เห็นสิ่งๆ นั้น เห็นโลกที่สามัญชนมีโอกาสกำหนดความเป็นไปของสังคม”

“เหมือนที่อาจารย์ชาญวิทย์ ชอบพูดกับพวกเราเสมอว่า ‘อะไรที่ไม่เคยเห็น ก็ได้เห็น และอะไรที่เคยเห็นอาจจะไม่ได้เห็นอีก” นายกษิดิศกล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image