‘ณัฐพล’ ยกเคสชาวบ้านโป่ง ลุกต้านทหารญี่ปุ่น ชี้ชัดบทบาท ‘สามัญชน’ พลเมืองตื่นตัวหลังปฏิวัติ 2475

เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ Lido Connect Hall 2 สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เครือมติชน จัดเวที ‘Talks for Thailand เสียง-สามัญชน’ ระดมนักวิชาการชั้นนำของประเทศ มาร่วมถ่ายทอดบทบาทแห่งความมุ่งมั่นของสามัญชน ที่เป็นพลังร่วมกันสร้างชาติ ขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า เกิดพัฒนาการใหม่ๆ ภายในชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมความเป็นอยู่ มาจนถึงทุกวันนี้

โดยมีไฮไลต์สุดพิเศษ ได้แก่ การแสดงใหญ่ชุด ‘An Imperial Sake Cup and I’ นำแสดงโดย ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอรูปแบบ Lecture Performance

บรรยากาศเวลา 14.00 น. นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ ขึ้นมาเล่าเรื่อง เพื่อเปิดเวที เสียง-สามัญชน ก่อนเข้าสู่ช่วง ‘Talks for Thailand เสียง-สามัญชน’ โดย นายกษิดิศ อนันทนาธร อาจารย์ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักเขียน บรรณาธิการ อาจารย์รุ่นใหม่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมือง, ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์การเมือง เจ้าของผลงานหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี และราษฎรปฏิวัติ ฯลฯ

ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงเรื่อง ‘บทบาทพลเมืองไทยในช่วงต้นรัฐประชาชาติ’ ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ เรารู้อยู่แล้วว่าประวัติศาสตร์ไทยได้บันทึกเรื่องราวของสามัญชนไว้น้อยมาก แต่ความจริงแล้วพวกเขา คือ ผู้ปิดทองหลังพระ แม้ว่าพวกเขาจะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์น้อย แต่พวกเขานั้นมากด้วยการกระทำที่มีความสำคัญ ซึ่งเป็นผู้ที่เสียสละต่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องออกหน้า

ADVERTISMENT

“การพูดหัวข้อ บทบาทของพลเมืองไทยในช่วงต้นระบบใหม่นั้น ผมนึกถึงเนื้อความอันหนึ่งของนักเรียนมัธยมปลาย เขียนเรียงความส่งรัฐบาลในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สาระสำคัญเนื้อหาของเรียความนั้นบอกว่า ประเทศชาติสยามจะเจริญได้ด้วยพลเมือง จะเห็นได้ว่าสำนึกของเด็กมัธยม หรือ คนรุ่นใหม่นั้น เขาเหมือนกับมีโลกทัศน์ใหม่ เขาภูมิใจในสามัญชน เขาไม่ได้สำนึกว่าประเทศชาติอยู่รอดด้วยมหาบุรุษ แต่ประเทศชาติอยู่รอดได้ด้วยมือเรานี้แหละ” ผศ.ดร.ณัฐพลระบุ

ADVERTISMENT

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ตนขอยกนิยายอีกเล่มหนึ่ง นอกจากเล่มที่เหล่าวิทยากรหลายท่านยกขึ้นมาพูดถึงไปแล้วนั้น เช่น สาย สีมา, เสนีย์ เสาวพงศ์ และผลงานบางชิ้นของ กุหลาบ สายประดิษฐ์

“ผมขอพูดถึงงานของศรีบูรพา ซึ่งเป็นนวนิยายสั้นๆ เขียนเมื่อปีพ.ศ. 2476 ชื่อว่า ‘ลาก่อนรัฐธรรมนูญ’ นิยายเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยความภูมิใจในบทบาทของสามัญชนหลังการปฏิวัติ ที่ผู้คนจำนวนมากออกมาปกป้องพิทักษ์ประชาธิปไตย หลังจากพวกอภิสิทธิ์ชนมาโต้กลับ คือ กบฏบวรเดช” ผศ.ดร.ณัฐพลเผย

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรภา เขาได้ใช้ปากของสมศักดิ์ เด่นชัย กล่าวถึงความภูมิใจของเขาในการพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งเขากำลังจะตายแล้วในช่วงเวลานั้น สิ่งที่สมศักดิ์ เด่นชัยพูด ก็คือ สิ่งที่ศรีบูรพาคิด

“สมศักดิ์ เด่นชัย พูดในอ้อมกอดของภรรยาเขาบอกว่า ฉันคงไม่ได้มีชีวิตเห็นหน้าลูกเสียแล้ว ยอดรัก แต่ฤดีจ๋า ลูกของเราจะเปนหญิงหรือชายก็ตาม ขอเธอจงพร่ำสอนให้เขาเข้าใจซึมซาบว่า พ่อของเขาได้ตายไปในโอกาสที่ทำการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และถ้าเขาได้ประสบโอกาสเช่นพ่อของเขาแล้ว ฉันขอฝากคำขอร้องไว้ว่า ให้เขารีบฉวยโอกาสนั้นในทันที นี่คือสิ่งที่อยู่ในงานเขียนของศรีบูรพาที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ” ผศ.ดร.ณัฐพลระบุ

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า การพูดหัวข้อดังกล่าวเป็นการพูดเพื่อชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงต่อการให้ความหมายของ ‘ชาติ’ ซึ่งเกิดแนวคิดใหม่ที่นิยามว่า ‘ชาติเป็นของเรา’

“ดังมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับราษฎรที่เขียนว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ประโยคสั้นๆอันนี้เป็นประโยคที่ไพเราะเพราะพริ้งมากในความคิดของผม และแน่นอนว่ามันเกิดขึ้นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทย และข้อความนี้ก็ไม่ปรากฏขึ้นอีกในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย แต่แน่นอนว่า มันเกิดขึ้นแล้ว และมันเกิดขึ้นแล้ว” ผศ.ดร.ณัฐพลเผย

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า การปฏิวัติ 2475 มันคือการขีดเส้นแบ่งระหว่างระบอบเก่า กับ ระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้ยกสถานะราษฎรผู้ต่ำต้อยในระบอบเก่าให้เป็นพลเมืองที่ทรงอำนาจที่สุดในระบอบประชาธิปไตย

“ประการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ปรากฏในงานเขียนของนายถวิล อุดล ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีชื่อเสียงอย่างมาก เขาเขียนไว้ตอนสมัยเด็กว่า บุคคลคณะหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะขอขอบคุณเขาเป็นอย่างยิ่งก็คือ คณะราษฎร ผู้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะด้วยการปกครองระบอบนี้ที่ช่วยชุบคนบ้านนอกอย่างข้าพเจ้าให้ขึ้นมาเป็นชาวเมือง วันหนึ่งซึ่งโอกาสเปิดให้ ข้าพเจ้าจะใคร่กลับบ้านเพื่อสมัครเข้ารับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร

เขาสมัครมาเป็นผู้แทนราษฏร ได้เป็นส.ส.ร้อยเอ็ดและมีบทบาทอย่างมากในการเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวอีสานในสมัยนั้น แต่อย่างไรก็ตามระบบประชาธิปไตยก็อยู่ได้ไม่ได้ เพราะมีกลุ่มอภิชนเรียกร้องอำนาจคืน ที่เรียกว่า กบฏบวรเดช” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวอีกว่า เมื่อเรามาพูดเรื่อง ‘คนรุ่นใหม่’ ในสมัยนั้น ตามจริงแล้วก็เทียบได้กับ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา ซึ่งคนในยุคนั้นตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก เมื่อพวกเขาทราบข่าวว่าเกิดกบฏบวรเดช ชาวพระนครต่างออกมาเป็นอาสาสมัครเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะพวกผู้ชาย ทหารที่ปลดประจำการแล้ว ก็ออกมาเป็นอาสาสมัครโดยที่รัฐบาลไม่ได้เรียกระดมพล

“สิ่งนี้สะท้อนความตื่นตัวทางการเมืองของคนสมัยนั้น เพราะเขารู้ว่ากลุ่มอำนาจเก่ากำลังจะมาเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกครั้ง ไม่แต่เพียงชาวพระนคร แต่บันทึกประวัติศาสตร์พบว่า หลายจังหวัดประชาชนตื่นตัวทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดสมุทรสาคร

เช่น บทบาทของวัยรุ่นหญิง ชื่อว่า พยงค์ กลิ่นสุคนธ์ เธอมีบทบาทสำคัญที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งหากใครอยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเมื่อ 91 ปีที่แล้ว เช้าวันที่ 30 ตุลาคม 2476 อาจจะได้พบหญิงสาวหอบกระเป๋าเดินทางเธอมาแต่เช้าแล้วก็ยืนรอ

หนังสือพิมพ์รายงานว่า เธอได้เดินทางไปถึงจังหวัดนครราชสีมายามค่ำ เมื่อเธอลงจากรถไฟแล้ว เธอบอกกับผู้คนว่า เธอต้องการที่จะปราบกบฏที่จะมาทำลายชาติ เราจะไม่ยอมให้มันทำเช่นนั้นเด็ดขาด เราต้องช่วยกำจัดมัน นี่คือสำนึกทางการเมืองคนธรรมดา ซึ่งเป็นหญิงต่างจังหวัดด้วย ดังนั้นเวลาที่เราบอกว่า หลังการปฏิวัติ 2475 ทำท่ามการที่ผู้คนไม่มีสำนึกทางการเมือง ไม่รู้เลยว่าการเมืองระบอบประชาธิปไตยคืออะไร อาจจะไม่จริงก็ได้” ผศ.ดร.ณัฐพลชี้

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวว่า เวลาที่เราพูดถึงเอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ รวมทั้ง เกิดสำนึกเอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ ดังเหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านและกรรมกรไทยที่บ้านโป่ง ในช่วงต้นสงครามมหาเอเชียบูรพาเกี่ยวกับเหตุการณ์หลังวิกฤติบ้านโป้ง ที่ญี่ปุ่นใช้พื้นที่ประเทศไทยผ่านไปยังพม่า

“เหตุการณ์ 18 ธันวาคม 2485 พระสงฆ์รูปหนึ่งถูกทหารญี่ปุ่นตบ เนื่องจากพระสงฆ์รูปนี้ได้มองบุหรี่ให้กับเชลยชาวตะวันตกที่มาขอไป เหตุการณ์ก็บานปลายออกไป เพราะกรรมกรคนแถวนั้นไม่พอใจที่ทหารญี่ปุ่นทำเช่นนี้

ตกค่ำในวันนั้น ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลทหารมาที่ดอนตูม ปราบปรามกรรมกรไทย เกิดเหตุการณ์โกลาหลกัน ปรากฎว่าทหารญี่ปุ่นล้มตาย กองทัพญี่ปุ่นก็โกธาเป็นอย่างมาก จับชาวบ้านไปตากแดดลงโทษ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เจราจาขอให้กองทัพขณะนั้นอยู่ในความสงบก่อน เหตุใหญ่จะตามมาขอให้เชื่อฉันเถิด ถอนทหารออกจากบ้านโป่งออกไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง อนึ่งขอให้ทั้งสองฝ่ายคืนดีกันเป็นสำคัญ อย่าไปคิดว่าใครเป็นฝ่ายผิดเลย และเราเป็นประเทศเล็ก หวังว่าจะฟังคำสั่งนี้ของฉัน และชี้แจงให้ทั่วกัน” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวอีกว่า เมื่อญี่ปุ่นที่ทราบว่าคนไทยไม่พอใจมาก มีการชุมนุมคนแถวนครปฐม ทหารญี่ปุ่นก็ได้บอกว่า ไทยต้องการรบกับญี่ปุ่นใช่ไหม แต่ตัวแทนฝั่งไทยก็บอกว่า เราไม่ต้องการรบกับทหารญี่ปุ่นหรอก เราเป็นประเทศเล็ก

“เหตุการณ์นั้นก็เริ่มคลี่คลายลง กรรมกรไทยใช้อาวุธของคนมือเปล่า ผู้ด้อยอำนาจ คือ การสไตล์หยุดงาน (strike) เพราะกรรมกรกว่า 500 คน หยุดงานไม่สร้างทางรถไฟให้กับทางญี่ปุ่น สร้างความเดือดร้อนให้กับญี่ปุ่นมาก เพราะไม่สามารถทำให้สำเร็จตามแผนงานได้

นอกจากนั้น กรรมกรไทยยังขโมยน็อตออกไปจากการก่อสร้างด้วย หรือ คนญี่ปุ่นไปตลาดพ่อค้าแม่ค้าก็ตะโกนต่อว่า นี่คือการต่อต้านของผู้ที่ด้อยอำนาจ ด้อยอาวุธต่อกองกำลังญี่ปุ่น ซึ่งความจัดแย้งขณะนั้นก็จบลง ด้วยการที่คนไทยขึ้นศาล ญี่ปุ่นต้องการตัดสินประหารชีวิต และชดใช้เงิน 80,000 บาท แต่รัฐบาลเจรจาให้มาขึ้นศาลทหารไทย ตัดสินใจว่าให้กรรมกรไทยตัดสินจำคุกตลอดชีวิต หลายคนก็โดนตัดสินจำคุกหลายปี ชดใช้เงินให้กับครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตในการต่อต้านญี่ปุ่นตอนนั้น” ผศ.ดร.ณัฐพลชี้

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวต่อว่า หลังจากสงครามจบลงแล้ว ได้มีการนิรโทษกรรมนักโทษเหล่านี้ออกจากคุก ท้ายที่สุดสำหรับเหตุการบ้านโป่งแล้วอาจจะเป็นบทเรียนของญี่ปุ่นถึงความหยิ่งยโสก็ได้ แต่คนไทยต่อสู้กับความแข็งกร้าว ไม่พอใจญี่ปุ่นของคนไทยด้วย

“อาจจะเรียกได้ว่า หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ราษฎรไทยถูกยกสถานะให้เป็นพลเมือง ที่มีสำนึกในการเป็นเจ้าของประเทศ มีความสำนึกว่าพวกเขานั้น มีความเป็นเจ้าของประเทศชาติ อันแตกต่างไปจากสำนึกเดิมของราษฎรไทยในระบอบเก่า ดังนั้นพลเมืองไทยจึงมีสำนึกของการเมืองมาตั้งแต่ช่วงต้นปฏิวัติประชาชาติ จากการช่วยปกป้อง พิทักษ์ คุ้มครอง ประชาธิปไตยที่ถูกคุกคามโดยอภิสิทธิ์ชน รวมทั้งสำนึกหวงแหนอิสรภาพ และยังเห็นถึงเอกราชที่จะไม่ให้ใครข่มขี่ จากการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้าน ‘บ้านโป่ง’

รวมถึงความสำนึกเรื่องชาติของเหล่าเสรีไทยที่ประกอบขึ้นจากแนวร่วมของคนไทยที่กว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่มาจากเหลาผู้ดี ข้าราชการ พ่อค้า และชาวนาชาวไร่ที่พร้อมยินยอมสละชีพเพื่อพิทักษ์มาตุภูมิของพวกเขาให้อยู่รอดปลอดภัยในฐานะที่พวกเขาคือเจ้าของประเทศ ซึ่งแตกต่างไปจากอดีตที่พวกเขาถูกบังคับกะเกณฑ์ให้ไปตายด้วยความไม่สมัครใจ” ผศ.ดร.ณัฐพลทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image