เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ Lido Connect Hall 2 สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เครือมติชน จัดเวที ‘Talks for Thailand เสียง-สามัญชน’ ระดมนักวิชาการชั้นนำของประเทศ มาร่วมถ่ายทอดบทบาทแห่งความมุ่งมั่นของสามัญชน ที่เป็นพลังร่วมกันสร้างชาติ ขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า เกิดพัฒนาการใหม่ๆ ภายในชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมความเป็นอยู่ มาจนถึงทุกวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราว 17.00 น. ซึ่งเป็นช่วงท้ายของงาน นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ขึ้นกล่าว ‘ปิดเสียงสามัญชน’ โดยกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราพูดได้คือ Lecture performance ของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจทุกคนได้แน่นอน ตนเคยเรียนกับอาจารย์ชาญวิทย์ในวิชาประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ซึ่งให้นักศึกษากลับไปคุยกับครอบครัวของตนเองแล้วคุยเรื่องประวัติศาสตร์ครอบครัว ทำให้รู้ว่าครอบครัวของตนเองสะท้อนอะไรได้บ้าง
นายศิโรตม์ยังยกตัวอย่างละครโทรทัศน์ เรื่อง ‘ทองประกายแสด’ ที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ว่า สะท้อนถึงผู้หญิงที่เกิดในครอบครัวที่ยากจน ขาดโอกาส
“ผมอยากกล่าวถึงเรื่องทองประกายแสด นำแสดงโดย ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ที่ผมสงสัยว่าทำไมเรื่องนี้ถึงแมสในสังคมไทย บางคนบอกว่ามีฉากที่เร่าร้อน แต่ผมคิดว่ามันเล่าเรื่องสะท้อนสังคมไทย มีเฉดที่เปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง เป็นเรื่องของผู้หญิงที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ขาดโอกาสการไต่เต้าในสังคม ซึ่งเราทราบกันอยู่แล้วว่า เมื่อเป็นแบบนี้ผู้หญิงจึงต้องใช้ร่างกายของตนเองเข้าแลก คำถามผมสงสัยว่าทำไมสมัยก่อน 14 ตุลาคม จนถึงปัจจุบันปี 2567 ครึ่งศตวรรษที่เรื่องของผู้หญิงในสังคมจึงไทยวนอยู่แบบนี้ ถ้าคุณขาดโอกาสก็จำเป็นจะต้องใช้ร่างกายเข้าแลก ผมไม่คิดว่าเวลาที่เราไปประเทศอเมริกา ฮอลลีวู้ดไม่น่าจะมีใครสร้างภาพยนตร์เนื้อแบบทองประกายแสดแน่นอน มันสะท้อนว่าทำไมในสังคมไทยถึงสร้างละครแบบนี้ได้” นายศิโรตม์กล่าว
นายศิโรตม์กล่าวต่อไปว่า ประวัติของประชาชนที่กำลังเติบโตคือการที่พวกเขาหาช่องทางจะแสดงออกถึงความต้องการเปลี่ยนแปลง อย่างนายถวิล อุดล ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เขาอาจจะเป็นไพร่ หรือข้าราชการชั้นผู้น้อยก็ได้ เป็นภาพสะท้อนของสังคมที่เคลื่อนจนเกิดรูที่ทำให้คนตัวเล็กเข้าไปในระบบได้
“ทุกวันนี้ รูของระบบการเมืองที่ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นจุดที่ประชาชนเข้าไปได้ง่ายที่สุดก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด ทุกวันนี้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิถูกถอดถอนได้ทุกคน บางคนถูกถอดถอนไปแล้ว บางคนถูกตัดสิทธิทางการเมือง มันสะท้อนว่า ‘รูที่เล็กที่สุดที่ประชาชนน่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้ก็ยังไม่เปิด” นายศิโรตม์กล่าว
นายศิโรตม์กล่าวอีกว่า ตนอยากพูดถึงนายเสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียนที่เป็นตัวอย่างของคนธรรมดา ที่พยายามหาทางให้ตัวเองเติบโตในระบบ เขามีผลงานที่เปลี่ยนความคิดของคนในสังคม แกนเรื่องของเขามักจะบอกว่าประชาชนคือศูนย์กลางของประเทศ ผลงานของเขาสะท้อนความเติบโตของประชาชน สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนต้องการหาที่จะไป
“ผมคิดว่าเสียงของสามัญชนคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการเมือง ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องการศึกษา อาจจะเป็นใครก็ได้ที่ทำเรื่อง ทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในจุดที่เขาอยู่ ประเทศที่ดีไม่จำเป็นต้องมีเรื่องดีลลับ วันนี้ผมคิดว่าเสียงของสามัญชนคือเสียงของทุกคน
เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า ความคิดแบบอาจารย์ชาญวิทย์เป็นสิ่งที่ทุกคนมีได้ เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนเข้าไปสู่โอกาสของความเท่าเทียมต่างๆ เสียงของสามัญชนคือเสียงของคนรอบข้างที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้แค่ไหน” นายศิโรตม์กล่าว