เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ Lido Connect Hall 2 สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เครือมติชน จัดเวที ‘Talks for Thailand 2024 เสียง-สามัญชน’ ระดมนักวิชาการชั้นนำของประเทศ มาร่วมถ่ายทอดบทบาทแห่งความมุ่งมั่นของสามัญชน ที่เป็นพลังร่วมกันสร้างชาติ ขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้า เกิดพัฒนาการใหม่ๆ ภายในชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมความเป็นอยู่ มาจนถึงทุกวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลาประมาณ 12.00 น. วิทยากรทยอยเดินทางมาถึง เพื่อเตรียมตัวขึ้นในเวลาประมาณ 14.30 น. ท่ามกลางผู้บริหารในเครือมติชนให้การต้อนรับ นำโดย นางสาวปานบัว บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการ กองบรรณาธิการมติชน, นายสุพัด ทีปะลา บรรณาธิการบริหารกองบรรณาธิการ มติชน, นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการ กอง บรรณาธิการ มติชนสุดสัปดาห์ และนายมณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ มติชน เป็นต้น
ต่อมา เวลาราว 13.30 น. ประชาชนที่ลงทะเบียนล่วงหน้า ทยอยเดินทางมาเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติจากแวดวงต่างๆ เป็นจำนวนมาก ขณะที่บรรยากาศบนเวทีมีการจัดเตรียมสถานที่และแสงสีเสียงพร้อม โดยมีการซ้อมใหญ่เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (11 กันยายน) ซึ่งมียอดจองเต็มทุกที่นั่ง
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เขียน ‘ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ (คณะ) ราษฎร’ หนึ่งในผู้ร่วมงาน กล่าวว่า ตนตั้งใจไปฟัง ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เพราะว่าพลาดงานเสวนาของเขาไปหลายรอบแล้ว และยังตั้งใจมาฟัง ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง รวมถึง อาจารย์กษิดิศ อนันทนาธร ด้วยเพราะเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สามัญชนที่ทั้ง 2 ท่านจะบรรยายใกล้เคียงกับความสนใจของตน
“ผมว่าเสียงของสามัญชน เป็นเสียงที่เป็นรากฐานของประเทศ ถ้าพูดถึงงานที่เกี่ยวกับเรื่องชาติ องค์ประกอบสำคัญคือ ‘ประชาชน’ เสียงของประชาชนเริ่มมีความหมายมากขึ้นตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ในด้านหนึ่ง เสียงประชาชนบางยุค จะมีความหมายมาก บางช่วงอาจจะเป็นเสียงที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป และชนชั้นปกครองไม่ได้รับฟังเสียงประชาชน แต่ปัจจุบันทุกคนสามารถส่งเสียงต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
‘ส่วนตัวผมติดตามผลงานของอาจารย์ชาญวิทย์มาตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งอาจารย์ชาญวิทย์บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตได้แบบรวบรัดผ่าน Performance ของเขาเอง ‘ ผมรู้จักกับอาจารย์กษิดิศ เพราะเป็นกรรมการ สถาบันปรีดีพนมยงค์ด้วยกัน
จริงๆ เขาเป็นรุ่นน้องของผมหลายปี อาจารย์กษิดิศ ถือเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่เป็นอาจารย์สายกฎหมาย แต่มีความสนใจด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งตอนนี้ยังมีผลงานเล่มใหม่ออกมาด้วย” ผศ.ดร.ศรัญญูกล่าว
ผศ.ดร.ศรัญญูเผยว่า ส่วนอาจารย์ณัฐพล เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง และมีผลงานออกมาอยู่เสมอ รูปแบบผลงานก็มีการนำเสนอที่เล่าเรื่องต่างๆ ได้น่าสนใจ และมีการเปิดประเด็นใหม่ๆ อยู่เสมอ
“ในงานนี้ ผมได้รับแรงบันดาลใจบางอย่างที่ช่วยกระตุกความคิดทางด้านประวัติศาสตร์สังคม งานด้านวิชาการที่มติชนจัดในครั้งนี้ เป็นงานที่น่าสนใจมาก เพราะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สามัญชน ว่าในด้านประวัติศาสตร์การเมืองพวกเขามีบทบาทอย่างไรบ้าง ทำให้เราย้อนมาคิดถึงในยุคปัจจุบัน ว่าสามัญชนมีที่มีทางอยู่ตรงไหน” ผศ.ดร.ศรัญญูกล่าว
โดยมีมีนักวิชาการชั้นนำของประเทศร่วมขึ้นเวทีได้แก่ นายกษิดิศ อนันทนาธร อาจารย์ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักเขียน บรรณาธิการ อาจารย์รุ่นใหม่ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมือง และ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์การเมือง เจ้าของผลงานหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี และราษฎรปฏิวัติ ฯลฯ
ร่วมถ่ายทอดบทบาทแห่งความมุ่งมั่นของสามัญชน จากอดีต จนถึงทุกวันนี้
พร้อมด้วยไฮไลต์สุดพิเศษ Lecture Performance โดย ‘ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ ในฐานะนักวิชาการลูกชาวบ้าน อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมานำเสนอเสียงของสามัญชนในรูปแบบที่สร้างสรรค์อย่างมีศิลปะ ชวนติดตาม ผ่านเรื่องราวสุดพิเศษในธีม An Imperial Sake Cup and I ซึ่งเคยเปิดรอบการแสดงมาแล้วที่โตเกียว และกรุงเทพฯ โดยได้รับกระแสตอบรับอย่างอบอุ่นจนต้องเพิ่มรอบการแสดง และทิ้งท้ายด้วยการสรุปเนื้อหาทั้งหมด ตอกย้ำให้เห็นคุณค่าแห่งเสียงของประชาชนกับ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระชื่อดัง