‘ชูศักดิ์’ ยันรบ.เดินหน้าแก้ไขรธน.บางมาตราควบคู่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหตุปัญหาตีความจริยธรรม จน ‘เศรษฐา’ ต้องหลุดนายกฯ เผยกฎหมายประชามติประกาศใช้เมื่อไหร่เริ่มนับหนึ่งแก้รัฐธรรมนูญฉบับปชช.ทันที
เมื่อเวลา 18.13 น. วันที่ 12 กันยายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การที่น.ส.ศิริกัญญา ตันสกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เปรียบเทียบการแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับรัฐบาลนี้และรัฐบาลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บอกว่านโยบายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีรายละเอียดดี กำหนดจำนวนเงินกำหนดวันเวลา สถานที่ ว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ ซึ่งตนได้มีส่วนร่วมในแง่ของการจัดทำนโยบายในขณะนั้น
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ซึ่งการจัดทำนโยบายในขณะนั้นเป็นการจัดทำนโยบายตามรัฐธรรมนูญปี50 ซึ่งมีในบทบัญญัติมาตรา 75 มาตรา 76 ที่กำหนดไว้โดยชัดเจนว่ารัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรอย่างไรเมื่อไหร่ ด้วยเหตุนี้ในขณะนั้นเวลาจะทำนโยบายจึงมีความชัดเจน แต่เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ก็ไม่มีความชัดเจนแบบนั้นโดยมีการยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว มีเพียงว่าต่อไปนี้ถ้าจะทำนโยบายตามรัฐธรรมนูญปี 60 ต้องแถลงแหล่งที่มาของเงินรายได้ว่าเอามาจากไหน และเอากรอบยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดไว้ โดยกรอบยุทธศาสตร์ชาติเกิดจากรัฐธรรมนูญ 60
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกถามว่าทำไมไม่จัดเรื่องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้เป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น เรื่องนี้ต้องย้อนไปในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีการวิจารณ์ว่านโยบายยืดเยื้อไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร จะทำอะไร เพราะนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐาเขียนว่าจะแก้ปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญเพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยโดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด2 โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติ แต่เมื่อมาถึงนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่เขียนไว้สั้น ๆ ว่าเร่งรัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการประชาธิปไตย ซึ่งจริงอยู่ว่าไม่ได้เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่ก็มีคำว่าเร่งรัดและโดยเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นถ้าเราดูนโยบายของ 2 รัฐบาลนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่านโยบายของนายเศรษฐาขณะนั้นเกิดความไม่มั่นใจไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญจะสร้างใหม่ขึ้นมาได้โดยวิธีการใดเนื่องจากเรามีปัญหาสำคัญคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2564 ที่วินิจฉัยว่าถ้าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติ เนื่องจากกับธรรมนูญปี 2560 เกิดขึ้นจากการทำประชามติของประชาชนซึ่งรัฐบาลนายเศรษฐา เห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าท้ายที่สุดจะมีการจัดทำอย่างไร จึงมีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับการทำประชามติว่าจะทำกี่ครั้ง จนมีการศึกษาและได้ข้อสรุป ด้วยเหตุนี้นโยบายของรัฐบาลนางสาวแพรทองธารจึงเขียนไว้สั้น ๆ เพราะรู้แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไปอย่างไร ซึ่งตนก็คิดว่าเราคงจะเดินตามนี้แต่เจริญตามนี้ได้ก็เป็นเรื่องของรัฐสภาแห่งนี้จะต้องทำความเข้าใจร่วมกันและช่วยกันผลักดัน
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เราต้องการแก้ไขให้มีฉบับใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตยนั้น พวกเรารับทราบดีว่าที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาอย่างไรเป็นปัญหาอะไรเขาเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง
“ผมไปดูแล้วปราบโกงในที่นี้มีบทบัญญัติมากมายหลายมาตราที่เป็นปัญหาสามารถตีความได้เกินเลยไปจากความปกติธรรมดาที่ควรจะเป็น เราเห็นชัดเจนในการตีความมาตรา 160 (4)(5) ที่เป็นปัญหาอยู่ คำว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ คำถามคือวิญญูชนจะเข้าใจได้อย่างไรว่าอะไรประจักษ์ อะไรไม่ประจักษ์” นายชูศักดิ์ กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นประจักษ์หมายความว่าไม่เคยทำอะไรผิดเลยใช่หรือไม่ เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องเลยตั้งแต่ต้นจนมาถึงปัจจุบัน อะไรคือพฤติกรรมที่เป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงเราก็ทราบกันดีว่าพฤติกรรมตรงนี้ นับตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่ได้กำหนด เช่นตั้งแต่เด็กแรกเกิด หรือตั้งแต่อายุ 7 ขวบก็นับแล้วว่ามีพฤติกรรมฝ่าฝืน ประมวลจริยธรรม เพราะไปเตะบอลแล้วโกงเขาอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งไม่มีข้อจำกัด
“จากการคุยกับฝ่ายค้าน เค้าบอกว่าระหว่างที่เรารอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราบางประเด็นที่คิดว่ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการตีความล้นเกิน ซึ่งพวกผมมานั่งดูแล้วก็เห็นด้วยว่าเราควรจะทำแต่จะทำด้วยวิธีการนี้ก็คิดว่าดีที่สุดคือให้พรรคการเมืองทั้งหลายในขณะนี้ช่วยกันทำในนามของพรรคการเมือง ผมทราบว่าพรรคประชาชนก็เสนอร่างมาแล้วเพียงแต่ยังไม่ได้บรรจุวาระ ขณะเดียวกันพวกผมก็ยกร่างมาพอสมควร กำลังคิดอยู่ว่าประเด็นที่ควรจะแก้มีอะไรบ้าง เช่นการที่พวกเราจะวินิจฉัยให้คนใดคนหนึ่งออกจากตำแหน่ง การที่จะวินิจฉัยให้คนใดคนหนึ่งสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.หรือส.ว.
กระทั่งรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ใช้เสียงข้างมากเท่านั้นจะยุติธรรมหรือไม่ เช่น 1 เสียงก็สามารถเอานายกฯออกจากตำแหน่งได้ ผมคิดว่าในอดีตเคยมีเสียงเอกฉันท์หรืออย่างน้อยเสียง 2 ใน 3 หรือ 4ใน 5 ก็กำลังคิดกันอยู่ และมีแนวความคิดเห็นด้วยว่าเราอาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายประเด็น บางมาตราไปพร้อมๆกันการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็จะทำให้บ้านเมืองเรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เรามีเจตนาแน่วแน่ว่าจะเร่งรัดรีบจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะปัญหาจากรัฐธรรมนูญ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พวกเราทราบดีว่าต้องแก้กฎหมายประชามติ ซึ่งกฎหมายประชามติผ่านสภาผู้แทนฯ แล้วไปอยู่ที่วุฒิสภา หลังจากวุฒิสภาเสร็จ ก็คงจะต้องประกาศใช้ หลังจากมีกฎหมายประชามติแล้ว
เราควรจะเริ่มต้นถามประชาชนได้ว่าจะสมควรให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งของการจัดทำรัฐธรรมฉบับประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลยินดี เร่งรัดจัดทำและมีความชัดเจนว่า จะมุ่งไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายชูศักดิ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาธร ปัดตอบทักษิณ-พท. ถูกยื่นข้อหาหนัก วิโรจน์ซัดพฤติกรรมนักร้อง ไม่เคารพประชาชน
- จาตุรนต์ เผยกมธ.เดินหน้า ยกเลิกคำสั่งคสช.ไปแล้ว 36 ฉบับ เร่งอีก 17 ฉบับ ขัดสิทธิมนุษยชน
- สมศักดิ์ โยนฝ่ายกม.ตอบ ‘ธีรยุทธ’ ยื่นวินิจฉัยล้มล้างการปกครอง ลั่นคุมสธ. ขอดูแลคนป่วย
- ฝ่ายการเมืองนายกฯ มั่นใจร้องพท. มีเบื้องหลัง เย้ยจั่วหัวเหมือนแผ่นดินไหว ไส้ในแค่ทำนองชะชะช่า