หมายเหตุ – นักวิชาการประเมินและถอดบทเรียนสถานการณ์น้ำท่วมหนักในหลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะ จ.เชียงราย หนักสุดในรอบ 40 ปี ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร ชาวบ้านต้องหนีไปอยู่บนหลังคาท่ามกลางน้ำไหลเชี่ยว ขณะที่เกิดเหตุดินสไลด์ในหลายพื้นที่ฝังชาวบ้านจมโคลนเสียชีวิตหลายราย เมื่อวันที่ 13 กันยายน
สุรสีห์ กิตติมณฑล
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
สาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคเหนือ ซึ่งล่าสุดเกิดขึ้นที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากอิทธิพลจากพายุยางิเข้ามาพัดผ่านจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาถึงยังประเทศไทย ประกอบกับมวลพายุที่มีความชื้นค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งปริมาณน้ำฝนมากถึง 300 มิลลิเมตร ในระยะเวลา 2 วัน
นอกจากนั้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเมียนมามีฝนตกหนักเช่นเดียวกัน ส่งผลทำให้พื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้รับผลกระทบเนื่องจากบริเวณต้นแม่น้ำกกอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศเมียนมาเช่นกัน ดังนั้น ปริมาณน้ำที่ไหลมามากเกินกว่าอ่างเก็บน้ำจะรองรับไหวจึงทำให้เกิดน้ำหลาก และส่งผลทำให้เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในครั้งนี้ แต่มวลน้ำทั้งหมดไประบายลงสู่บริเวณแม่น้ำโขง
ดังนั้น พื้นที่ที่น่าห่วงต่อจากนี้คือ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงขึ้น เนื่องจาก สปป.ลาว มีพายุฝนตกหนัก และเขื่อนมีการปล่อยระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงเช่นกัน โดยจังหวัดแรกที่จะต้องมีการเตรียมตัวรับมือคือ อ.เชียงคาน จ.เลย จ.บึงกาฬ และ จ.หนองคาย โดย สทนช.ได้มีการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนให้เตรียมตัวล่วงหน้าว่าระดับน้ำจะล้นตลิ่ง และควรเตรียมรับมือกับมวลน้ำที่จะเข้ามาแล้ว
สำหรับแนวทางการรับมือ สทนช.ได้มีการประสานไปยังจังหวัดในพื้นที่จังหวัดที่เสี่ยงให้มีการเตรียมความพร้อม ทั้งให้พี่น้องประชาชนยกข้าวของเครื่องใช้ไว้บนที่สูง และเตรียมศูนย์พักพิงให้กับพี่น้องประชาชน ในส่วนของแนวทางการแก้ไขนั้น สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ สทนช.ได้ตั้งศูนย์อำนวยการน้ำที่ จ.สุโขทัย และจะวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด และในส่วนของลุ่มแม่น้ำโขง สทนช.ได้ประสานไปทางประเทศจีนและ สปป.ลาว เพื่อขอให้มีการถ่วงการระบายน้ำไว้ หรือให้ลดการระบายน้ำบางส่วนก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับการเพิ่มระดับน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง
แต่อย่างไรก็ตาม การถ่วงน้ำก็ต้องกักอยู่ในระดับที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ไม่อัดจนเกินไป
ณัฐ มาแจ้ง
ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สาเหตุที่ทำให้ในปีนี้ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลันและอย่างหนัก โดยเฉพาะภาคเหนือ เกิดจากการที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ซึ่งเป็นลมที่พัดเอาความชื้นเข้ามาในประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาตัวร่องมรสุมจะอยู่บริเวณภาคเหนือ อย่างในปัจจุบันเดือนกันยายนจะค่อยๆ ไล่ลงมาภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน
ในช่วงแรกๆ ที่น้ำท่วมนั้นเกิดจากลมมรสุมเพียงอย่างเดียว และมีร่องมรสุมพาดอยู่บริเวณ จ.เชียงราย และ จ.น่าน ทำให้มีฝนตกหนัก และเนื่องจากลมมรสุมกำลังแรงต่อเนื่องทำให้ฝนตกซ้ำอยู่บริเวณเดียว ทำให้มีฝนสะสมมากในบริเวณนั้น เกิดเป็นน้ำท่วมที่รุนแรง
แต่ว่าในครั้งหลังการเกิดน้ำท่วมที่ อ.แม่สาย และ อ.เมือง จ.เชียงราย เกิดจากแม่น้ำกก ซึ่งต้นแม่น้ำกกประกอบด้วยสองขาคือ แม่น้ำฝางและแม่น้ำกก ที่ต้นน้ำอยู่ในพื้นที่เขาของพื้นที่ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกประเทศไทย พื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 3,500 ตารางกิโลเมตรนี้ไม่ได้มีข้อมูลของน้ำเอาไว้ ไม่ได้มีการตรวจวัดน้ำที่ระหว่างทางจากแม่น้ำกกที่เข้ามาในประเทศไทย ยาวมาจนถึง จ.เชียงราย ทำให้ขาดการติดตามน้ำที่เกิดขึ้น
เมื่อน้ำมาถึงก็กระทบไปยังตัวเมืองเชียงรายแล้วเกิดน้ำท่วมหนัก ในส่วนของพายุที่เข้ามาหลายลูกเป็นดีเปรสชั่น พายุจะไปสลายตัวในพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่ลาวตอนบน เมียนมาซึ่งอยู่ตรงส่วนที่เหนือประเทศไทย หลายๆ คนอาจจะมองว่าอยู่นอกประเทศไทยน่าจะไม่เกิดปัญหาอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้งตัวแม่น้ำกกในพื้นที่ตอนบน มีความคล้ายกับลุ่มน้ำน่านที่มี จ.น่าน ที่อยู่เป็นพื้นที่ตอนบน ลุ่มน้ำยมมี จ.แพร่ ที่อยู่ตอนบน ส่วนนี้เหมือนกับแม่น้ำกกตอนบนอยู่ในพื้นที่เมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ แล้วพอฝนตกลงมามากก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าน้ำตรงนี้จะเข้ามาในประเทศไทย
นักอุทกวิทยา หรือนักวิชาการบางคนก็จะรับรู้ได้ แต่ว่าหน่วยงานอาจจะไม่ตั้งตัว อาจทำให้น้ำเข้ามาที่ จ.เชียงราย มาก รวมทั้งบริเวณ อ.แม่สาย ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าพื้นที่ลุ่มน้ำฝั่งหนึ่งอยู่ที่ประเทศไทยแต่ที่จริงแล้วพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านประเทศเมียนมา เพราะฉะนั้นฝนที่ตกทางที่เหนือประเทศไทยฝั่งเมียนมาลงมาคือน้ำที่ไหลลงมาที่ อ.แม่สาย เช่นเดียวกัน ทำให้เกิดอุทกภัยใหญ่ตรงนั้น
ในส่วนของการจัดการสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ในตอนนี้ด้วยลักษณะพื้นที่เป็นพื้นที่ค่อนข้างชันมาก แล้วเราไม่ได้มีอ่างเก็บน้ำ หรือแหล่งกักเก็บน้ำ หรือทางผ่านน้ำในบริเวณพื้นที่นั้น เพราะพื้นที่เป็นลักษณะหุบเขาและชัน สังเกตจากการไหลของน้ำซึ่งจะเร็ว แรง แต่ว่าน้ำตรงนี้จะหายไปเร็ว ซึ่งในตอนนี้ อ.แม่สาย น้ำก็เริ่มลดแล้ว ถ้าในสถานการณ์ปัจจุบันเราได้แต่อพยพ เนื่องจากเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นไปแล้ว เราไม่มีเครื่องมือที่จะไปจัดการเรื่องน้ำในบริเวณนั้นได้ เพราะว่าไม่ได้เตรียมรับมือในส่วนนั้นได้
ที่ผ่านมาอาจจะไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์ใหญ่ในบริเวณในพื้นที่ตรงนั้น หากเป็นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ฝนตกที่ จ.น่าน ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็หยุดการปล่อยน้ำลงจากเขื่อนสิริกิติ์ เพราะฉะนั้นน้ำที่เกิดจากการท่วมที่ จ.น่าน ไหลลงจากเขื่อนสิริกิติ์ทั้งหมดแล้วก็เก็บน้ำเอาไว้ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นด้านล่างก็จะไม่กระทบ มีเฉพาะน้ำจากฝั่งแม่น้ำยม เช่นนี้คือเราจัดการได้แต่ว่าตรงพื้นที่บริเวณแม่น้ำกก เนื่องจากต้นน้ำอยู่ฝั่งต่างประเทศ เช่น แม่สาย ลำน้ำจะเป็นลำน้ำที่แบ่งเขตชายแดน เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถทำอะไรตรงนั้นได้ สิ่งที่จะทำได้ในอนาคตคือการตรวจสอบน้ำที่ไหลอยู่ในลำน้ำ หรืออย่างน้อยส่วนที่แม่น้ำกกที่เข้ามาประเทศไทยในจุดชายแดนควรจะมีสถานีที่จะตั้งรับแล้วก็ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางการรับมือในอนาคตนั้น ในตอนนี้สื่อหลายๆ สื่อในประเทศไทยได้มีภาพแสดงถึงการไหลของน้ำในประเทศไทย คนไทยก็เห็นกันค่อนข้างชัดเจน อย่างเช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา น้ำไหลเชื่อมกันยังไง แต่บริเวณนี้เองหลายคนยังไม่เห็นภาพของลุ่มน้ำว่าลุ่มน้ำมีขาอยู่ในต่างประเทศมากขนาดไหน
ดังนั้น ตรงนี้จะต้องมีการตรวจสอบพื้นที่ที่จะรับน้ำตรงนี้ แล้วต่อไปเมื่อมีฝนตกหนัก ถึงจะตกในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านเราก็จะต้องคอยติดตามและตรวจสอบเพื่อที่จะดูว่าน้ำที่จะลงมาที่แม่น้ำจะผ่านในส่วนของประเทศไทยมากขนาดไหน จะต้องเตรียมรับมืออย่างไร เราต้องมีภาพของลุ่มน้ำที่ชัดเจน ภาพของลุ่มน้ำระหว่างประเทศตรงนี้ให้เหมือนกับลุ่มน้ำภายในประเทศที่เรามองเห็นกันชัดอยู่ตอนนี้ ก็จะทำให้ทุกคนมีการระวัง มีการตื่นตัวมากขึ้น
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปีนี้ฝนตกเยอะเนื่องจากมีร่องมรสุมพาดผ่านและมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมาเมื่อเดือนกรกฎาคม มีฝนตกลงมา ตกแช่ ตกนาน ทำให้อ่างเก็บน้ำโคกก่อ อ.เมืองมหาสารคาม ต้องระบายน้ำออก และอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ อ.บรบือ แตกเสียหาย ซึ่งปกติจะไม่มีฝนแช่อยู่นานแบบนี้ ส่วนภาคเหนือที่มีฝนตกเมื่อกลางเดือนและปลายเดือนสิงหาคมก็เป็นลักษณะเดียวกัน ล่าสุดที่เกิดขึ้นที่ อ.แม่สาย และตัวเมืองเชียงราย ได้รับอิทธิพลมาจากพายุยางิ ขึ้นฝั่งที่เวียดนาม พาดผ่านรัฐฉานของพม่า น้ำไหลลงมาสู่แม่น้ำสายและแม่น้ำกก ในกรณีของเชียงรายมีเขื่อนแม่กกซึ่งตั้งอยู่ทางตอนล่างของแม่น้ำกก กีดขวางไม่ให้น้ำกกทางตอนล่างไหลลงน้ำโขงได้สะดวก ในส่วนของแม่น้ำโขงในเขตเชียงของไปถึงภาคอีสาน ตั้งแต่ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ มาที่ อ.สังคม จ.หนองคาย ไล่ไปถึง จ.บึงกาฬ ตอนนี้น้ำเอ่อจากแม่น้ำโขงเข้าท่วมก็มาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนจีนด้วย
ในช่วงนี้ที่กำลังท่วมจะเป็นน้ำเหนือบวกกับน้ำที่ปล่อยมาจากน้ำภูหลวงพระบางซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำโขง ปริมาณน้ำตอนนี้ถือว่าเยอะ เข้าใจว่าก่อนหน้านี้ไม่มีการพร่องน้ำ เมื่อน้ำในแม่น้ำกกสูงกว่าปกติก็ทำให้เอ่อท่วมฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำ ตัวประตูระบายน้ำที่เรียกว่าฝายก็ไม่สามารถระบายน้ำได้เหมือนกับการพร่องน้ำตามธรรมชาติกลายเป็นคอขวด ซึ่งหลังจากนี้ไม่มั่นใจว่าจะมีพายุเข้ามาหรือไม่ หรือจะส่งผลกระทบอย่างไร แต่หากเป็นร่องมรสุมก็อาจเป็นไปได้ เป็นจุดที่ควรจะโฟกัส ควรเป็นเรื่องของการฟื้นฟูที่มองว่ายาก เพราะตอนนี้น้ำก็ยังไม่ลด คนก็ยังมีติดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ระบบสาธารณูปโภคก็น่าเป็นห่วง เช่น ไฟฟ้าถ้าตัดไฟนานก็อาจทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำกกก็น่าเป็นห่วง ส่วนน้ำที่จะไหลลงมาทางภาคอีสานหากเป็นมวลน้ำก้อนใหญ่น้ำก็จะไหลเร็วคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ถึงจะลงมาภาคอีสาน แนวทางในการป้องกันควรมีการติดตั้งระบบโทรมาตร ซึ่งไม่มั่นใจว่าแม่น้ำกกมีการติดตั้งหรือไม่ หากมีการติดตั้งระบบโทรมาตรจะสามารถเตือนภัยได้ และควรติดตั้งทั้งระบบ เพราะกว่าต้นน้ำจากรัฐฉาน ประเทศพม่า จะเข้าสู่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กว่าน้ำจะมาถึงตัวเมืองเชียงราย ใช้เวลานานเป็นวัน ก็จะได้มีการแจ้งเตือนประชาชนได้มีเวลาที่จะอพยพคน ยานพาหนะ สัตว์เลี้ยง กลุ่มคนเปราะบางได้ ซึ่งจะไม่เสียหายขนาดนี้ การเตือนภัยแบบนี้ต้องครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ ส่วนตัวคิดว่า จ.เชียงราย มีแผนเผชิญเหตุอยู่แล้ว แต่เท่าที่ดูตามแผนจะให้ประชาสัมพันธ์จังหวัดแจ้งเตือนภัยเพียงหน่วยงานเดียว ซึ่งมองว่าไม่ใช่
กรมชลประทานและประชาสัมพันธ์จังหวัดรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการร่วมกัน จะต้องมีการเตือนภัยล่วงหน้า 120 ชั่วโมง ซึ่งแผนที่เขียนเอาไว้หากไม่เคยนำมาใช้ ไม่ได้ซักซ้อม เมื่อเกิดเหตุการณ์แผนที่ดีก็เหมือนเป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว