วิโรจน์ บี้ผู้ว่าแบงก์ชาติ จริงจังแก้ปัญหาแก๊งคอล ถ้าทำได้แค่โพสต์เตือน ก็ควรพิจารณาตัวเอง
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้โพสต์ผานเฟซบุ๊ก [ธปท.ไม่เปิดเผยรายงานการประชุม กรช. แล้วประชาชนจะรู้ถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างไร] โดยระบุว่า
ผมได้ทำหนังสือไปยัง ธปท. เพื่อขอรายงานการประชุมคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) เพื่อติดตามว่า ธปท.
1) มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างไร มีกำหนดการแล้วเสร็จเมื่อใด
2) มีความตระหนักถึงความทุกข์ร้อนของประชาชนที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกจนหลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว ผู้สูงอายุสูญเงินออมที่เก็บมาทั้งชีวิตจนหมดอาลัยตายอยาก ครอบครัวที่ล่มสลายมีหนี้สินล้นพ้นตัว และคนที่ตัดสินใจจบชีวิตฆ่าตัวตาย หรือไม่
3) มีความตระหนักถึงความเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหานี้มากเพียงไร
แต่ปรากฏว่า ธปท. อ้างมาตรา 74 ของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ยอมเปิดเผยรายงานการประชุม
ไม่เปิดเผย ก็ไม่เป็นไร แต่การแก้ไขล่าช้า ไม่ใส่ใจในชีวิตของประชาชน นายเศรษฐพุฒิ ในฐานะที่เป็นผู้ว่า ธปท. จะชี้แจง และออกมารับผิดชอบกับประชาชนอย่างไร
ถ้านายเศรษฐพุฒิใส่ใจกับความมั่งคั่งของคน ตระหนักถึงความเป็นอยู่ของระดับครัวเรือน เหมือนกับที่ไปปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand” และไม่ลืมคำพูดของตนเอง ที่เคยพูดเอาไว้ว่า “หน้าที่ของคนแบงก์ชาติ “ถูกจ้างมาเพื่อกังวลแทนคนอื่น” วันนี้ในฐานะผู้ว่า ธปท. ก็ควรหันมาใส่ใจกับการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้แล้ว
เร่งออกมาตรการการหน่วงเงิน หรือมาตรการอื่นใดในการเพิ่มระดับความปลอดภัยของระบบการชำระเงินได้แล้ว อย่ามัวแต่เกรงใจบริษัทเอกชนผู้ให้บริการการโอนชำระเงิน
เร่งออกมาตรการในการกำหนดความรับผิดของธนาคารพาณิชย์ที่ได้สัดส่วน โดยไม่ปล่อยให้เจ้าของบัญชีรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
ทั้งสองมาตรการนี้ นายเศรษฐพุฒิ จะทำกี่โมง ช่วยตอบประชาชนด้วย
ก่อนหน้านี้ นายวิโรจน์ ได้โพสต์ว่า [ถ้าผู้ว่า ธปท. สนใจความเป็นอยู่ของคน สนใจเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนจริง ท่านต้องใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากกว่านี้ เร็วกว่านี้]
การที่นายเศรษฐพุฒิ จะไปปาฐกถาพิเศษ เกี่ยวกับแนวคิด ในเรื่องรายได้ครัวเรือน และการเติบโตของ GDP ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหน้าที่หลักของเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือเลขาสภาพัฒน์ ก็คงไม่มีใครว่า เพราะเป็นสิทธิของนายเศรษฐพุฒิในฐานะนักเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว
แต่นายเศรษฐพุฒิ ควรหันกลับมาทำหน้าที่ของตัวเอง ในฐานะผู้ว่า ธปท. ในการปกป้องบัญชีเงินฝาก และความปลอดภัยของการโอนเงิน ของประชาชน เพื่อให้เงินในบัญชีของประชาชนปลอดภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย
หน้าที่คนอื่น ท่านจะไปพูดเสริม ผมไม่ว่า แต่ท่านต้องไม่ลืมที่จะหันกลับมารับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง
โดยโพสต์แรกของเรื่องนี้ นายวิโรจน์ระบุหัวข้อเรื่องว่า [ทั้งๆ ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างไปหลอกดูดเงินประชาชน แต่นายเศรษฐพุฒิ ผู้ว่า ธปท. ทำได้แค่โพสต์ Facebook เตือนประชาชน เท่านี้หรือครับ
และแล้วก็มาถึงยุคที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ตกต่ำที่สุด ตกต่ำชนาดที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กล้าที่จะแอบอ้างแบงก์ชาติ มาหลอกให้ประชาชนโอนเงิน ในขณะที่นายเศรษฐพุฒิ ผู้ว่า ธปท. ทำได้แค่สั่งการให้ ธปท. โพสต์ Facebook เตือนประชาชน เท่านั้น
ต้องตั้งคำถามกับนายเศรษฐพุฒิว่า ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) และประธานคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ที่ต้องทำหน้าที่ Regulator
1.เมื่อไหร่ ธปท. จะออกประกาศมาตรการหน่วงการโอนเงิน เพื่อลดความสูญเสียของเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทั้งๆ ที่คุณก็รู้ดีว่า เหยื่อจำนวนมากมักจะรู้ตัวทันทีเมื่อถูกหลอก แต่ด้วยระบบการโอนเงินที่เป็นแบบ Real Time จึงทำให้แก้ไขอะไรไม่ได้ การหน่วงการโอนเงินเป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยมีระยะเวลาหน่วง ขึ้นอยู่กับมูลค่ายอดเงินโอน (โดยคำนึงให้ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมการค้าการขายของประชาชน) จึงเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลอย่างมาก ในการช่วยเหลือเหยื่อได้อย่างทันท่วงที ทำไม ธปท. จึงไม่ยอมเร่งออกมาตรการดังกล่าวนี้ หรือมาตรการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการชำระเงินของประชาชน หรือว่าเกรงใจบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจการโอนชำระเงินระหว่างธนาคาร
2.เมื่อไหร่ ธปท. จะกำหนดความรับผิดชอบของ ธ.พาณิชย์ เพื่อปกป้องบัญชีเงินฝากของประชาชน ทั้งๆ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 6233/2564 คำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ 468/2566 (แม้จะเป็นกรณีบัตรเครดิต แต่ก็สามารถนำมาเทียบเคียงได้) เป็นบรรทัดฐานแล้ว และนายเศรษฐพุฒิก็ทราบดีว่า ประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ คือประเทศที่ธนาคารพาณิชย์มีระดับความรับผิดชอบที่ต่ำ ประชาชน ได้รับการชดเชยเยียวยาในระดับที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะถ้าธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ก็จะไม่มีแรงจูงใจในการปรับปรุงระบบ Security ในการปกป้องบัญชีของประชาชน
ถ้าถึงขั้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ตกต่ำขนาดที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เอาไปแอบอ้างหลอกเงินประชาชน แล้วนายเศรษฐพุฒิยังไม่รู้สึกรู้สาอะไร ทำได้แค่โพสต์ Facebook เตือนประชาชน นายเศรษฐพุฒิก็ควรพิจารณาตัวเองได้แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ศิริกัญญา อัดรบ.ใช้เงินคงคลัง ชี้ยอด 1.2 แสนล. แซงหน้ายุคบิ๊กตู่ สะท้อนชัดวางแผนงบพลาด
- พิชัย คิกออฟ โครงการ ‘Your Data’ ธปท.ผนึกพันธมิตร ให้บริการทางการเงินดิจิทัล
- ปชน. ประเดิมบางแค Kick Off ‘เท้งทั่วไทย’ เดินสายพิสูจน์ ฝ่ายค้าน ก็ทำงานให้ปชช.ได้
- กม.ชาติพันธุ์วุ่นต่อ มติสภาโหวตให้ถอน หลังรบ.โวยเจอแก้ยับ ครูมานิตย์-วิโรจน์โต้กันนัว