เท้ง ขึ้นเชียงรายช่วยน้ำท่วม แนะรัฐใช้จีโอโลเกชั่น ที่ กฟภ.-ไปรษณีย์ มี หาพิกัดช่วยผู้ประสบภัย
เมื่อวันที่ 14 กันยายน ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย ที่หลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่าเป็นอุทกภัยครั้งที่หนักสุดในประวัติศาสตร์ของจังหวัด ตลอดจนคนไทยจากทั่วประเทศตามรวมน้ำใจส่งทั้งกำลังใจและความช่วยเหลือไปยังพี่น้องชาวเชียงรายอย่างต่อเนื่องนั้น
เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า [ลงพื้นที่น้ำท่วม | ริมกก-บ้านดู่-เมือง จ.เชียงราย]
วันนี้ (14 ก.ย.) ผม Karoonpon Tieansuwan ส.ส.ปั๋น – ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ ส.ส.ไดซ์ ฐากูร ยะแสง-Takul Yasaeng มาลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และเข้าช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องประชาชน ภายใต้กฎหมายเลือกตั้ง มีข้อสังเกตที่อยากฝากถึงรัฐบาล เพื่อรับมือกับสถานการณ์ และเข้าช่วยเหลือประชาชนดังต่อไปนี้ครับ
ข้อสังเกตถึงรัฐบาล
1.ปัญหาที่สำคัญที่สุดขณะนี้ คือ การขาดศูนย์บัญชาการ (War Room) จากหน่วยงานภาครัฐ จากสภาพการณ์ที่ผมเห็นหน้างาน ตอนนี้กลายเป็นหน่วยงานภาคเอกชน อาทิ มูลนิธิกระจกเงา ฯลฯ ต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการประสาน ทั้งฝั่งแม่สาย และอำเภอเมือง และแจกจ่ายงานให้ส่วนราชการต่างๆ อาทิ กองทัพ รวมถึงอาสาสมัครที่มาจากจังหวัดต่างๆ ฯลฯ ให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่
2.ปัญหาเรื่องการขาดศูนย์รวมในการรับเรื่อง และบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งขณะนี้ ทางภาคประชาชนได้มีเว็บไซต์ JITASA.CARE เพื่อรับแจ้งเคสออนไลน์แล้ว ซึ่งถ้าหากภาครัฐทำระบบขึ้นมาใหม่ไม่ทัน ผมคิดว่าสามารถทำความร่วมไม้ร่วมมือกับภาคประชาสังคม ให้แพลตฟอร์มนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากการสนับสนุนจากภาครัฐได้
ยกตัวอย่างเช่น การเกิดปัญหาเรื่องการแจ้งพิกัดหน้างาน ทางศูนย์ประสานงานต้องการฐานข้อมูลในการแปลง เลขที่บ้าน เป็น พิกัด (Geolocation) เพราะเวลาผู้ประสบภัยโทรมาแจ้งที่ศูนย์ หรีอแจ้งเข้ามาผ่านช่องทางต่างๆ น้อยรายที่จะสามารถระบุพิกัดได้ ส่วนมาก จะใช้วิธีบอกซอย บอกสีบ้าน บอกบ้านเลขที่ บอกวิธีการเดินทาง ฯลฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานหน้างาน ไม่สามารถเข้าถึงบ้านของผู้ประสบภัยได้อย่างถูกต้อง และในหลายกรณี กลายเป็นผู้ประสบภัยไม่ได้รับการช่วยเหลือที่จำเป็น เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ที่ต้องฉีดอินซูลินทุกวัน ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ ขณะนี้มีปฏิบัติการการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็น Helicopter ทหาร หรือโดรนอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่คอยบินส่งข้าว ส่งของ ให้กับพ่อแม่พี่น้องผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ยังเข้าถึงไม่ได้
ดังนั้น การแลกเปลี่ยนข้อมูลจากภาครัฐเพื่อแปลงบ้านเลขที่ เป็น Geolocation จะเป็นตัวต่อสำคัญ ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่หน้างาน และการปฏิบัติงานทางอากาศ (ซึ่งผมได้รับแจ้งมาว่า ถ้าไม่มี Geolocation จนท. จะไม่ออกบิน) สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานของรัฐ ที่มีฐานข้อมูลลักษณะนี้ที่เป็นปัจจุบัน และมีคุณภาพที่สุด คือ ไปรษณีย์ไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สธ.กำชับ “ลำพูน” เฝ้าระวังมวลน้ำก้อนใหญ่จากเชียงใหม่ คาดสูงขึ้นอีก 0.8 เมตร เตรียมทีมแพทย์ดูแลผู้ประสบภัย
- กรุงศรี คาดน้ำท่วม ทำศก.เสียหายมูลค่า 5.95 หมื่นล. คงจีดีปีนี้ที่ 2.4% เชื่อกนง.ตรึงดบ.ถึงสิ้นปี
- ล้างบ้านน้ำท่วมจบแล้ว งานยังไม่จบ ต้องล้างท่อต่อ
- ‘ผบ.รบพิเศษ’สั่งกำลังพลเร่งลงพื้นที่ช่วยภาคเหนือ จับมือกู้ภัยขนย้ายผู้ป่วยติดเตียง