ครม.เห็นชอบงบกลาง 3,045 ล้านบาท จ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัย น้ำท่วม
เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 17 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าในที่ประชุม ครม. เห็นตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และขออนุมัติงบประมาณรายจ่าย งบประจำปี 2567 งบกลางจำนวน 3,045 ล้านบาท โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยเร่งรัดขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบให้เหมาะสมกับสถานการณ์และลดขั้นตอนเอกสารที่ต้องยื่น เพื่อให้การช่วยเหลือต่างๆ เข้าถึงประชาชนโดยรวดเร็ว และในที่ประชุมตนได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มเติมจากกรณีปกติที่ดำเนินการอยู่แล้ว หากมีเรื่องใดมีความจำเป็นต้องเสนอที่ประชุม ครม. ก็เร่งให้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงระบบการแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
เมื่อถามว่า เรื่องของงบประมาณช่วยเหลือน้ำท่วม 3,000 ล้านบาท ที่ประชุม ครม.มีการอนุมัติแล้วหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า อนุมัติเรียบร้อยแล้วตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมา ซึ่งจะพยายามเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งในที่ประชุม ครม.ก็ได้มีการกำชับเรื่องเอกสารต่างๆ ที่จะทำให้เสียเวลา ก็พยายามให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกันให้ชาวบ้านได้รับเงินรวดเร็วขึ้น
เมื่อถามว่าขั้นตอนการเยียวยานั้นล่าช้าทำให้เงินเยียวยาไปถึงประชาชนช้า จะทำอย่างไรที่จะเร่งกรอบเวลาการสำรวจความเสียหาย ให้ไปถึงมือประชาชนโดยเร็ว นายกฯกล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และในวันที่ 18 ก.ย. จะมีการประชุมกันนัดแรก ฉะนั้นขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นต่อประชาชนต้องมีการเร่งรัดแน่นอน ซึ่งในวันที่ 18 ก.ย. จะมีรายละเอียดออกมาจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช.
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการหารือกับประเทศต้นทางแม่โขงคือประเทศจีนหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้มีการพูดคุยแล้วกับประเทศต่างๆ เช่น เมียนมา ที่ได้หาทางออกร่วมกัน ซึ่งประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงต้องมีการพูดคุยกันและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเราเป็นประธานกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง ต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาที่ประเทศเราประสบมาอย่างยาวนาน เราต้องดูกันในเชิงลึกด้วย อันนี้มีแผนในใจอยู่แล้วว่าอยากจะทำเรื่องนี้ให้จริงจัง เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชนมายาวนาน และอีกอย่างการจัดการปัญหาของน้ำ น้ำมาหลายทิศทาง จึงต้องมีแผนภาพใหญ่ด้วย ไม่ละเลยเรื่องนี้แน่นอน