สุชาติ แปลกใจ โดนแจ้ง ม.116 แค่แชร์โพสต์ไอลอว์ ‘ผมเชื่อว่ามีเข็มมุ่ง’
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 กันยายน ที่ห้อง 221 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตศิลปินเเห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 พร้อมด้วยทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นำโดย นายสัญญา เอียดจงดี ทนายความเจ้าของคดี, นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือ ทนายด่าง ร่วมแถลงกรณีที่ นายสุชาติ ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ม.116 ซึ่งต้องไปรายงานตัวและต่อสู้คดีที่ สภ.ศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ มีผู้เดินทางมาร่วมให้กำลังใจในการแถลงข่าวอย่างล้นหลาม อาทิ นางวรรณา (ทรรปนานนท์) สวัสดิ์ศรี นักเขียนเจ้าของนามปากกา “ศรีดาวเรือง” คู่ชีวิตของนายสุชาติ
ตลอดจน นายวชิระ บัวสนธ์ หรือ เวียง บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน, น.ส.กุณฑิกา นุตจรัส หรือ ทราย พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ฯ และเพื่อนร่วมอุดมการณ์
นายสุชาติกล่าวว่า จะเรียกว่าเป็นความตื่นเต้นเป็นความรื่นรมย์ ครั้งท้ายๆ ในชีวิตของตนประมาณหนึ่ง ที่ได้รับหมายเรียกคดีอาญา ม.116 ซึ่งเป็นหมายเรียกครั้งที่ 3 แล้วหมายเรียกครั้งที่ 1-2 หายไปไหน ตนก็แปลกใจเหมือนกัน
“คือถ้าหากว่าวันนั้นผมไม่ได้รับหมายครั้งที่ 3 นี้ เขาก็คงมาพร้อมหมายจับ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างหมายมาถึง ซึ่งเป็นหมายคดีที่กล่าวหาผมไว้ ตั้งแต่ปี 2565 หรือประมาณ 1 ปีหลังจากที่ผมโดนปลดจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564
ผมก็ไม่ทราบว่าเป็นความจงใจ หรือเป็นกระบวนการต่อเนื่องหรือเปล่าเพราะการที่ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ออกกฎกระทรวงเพื่อปลดผมนั้น พูดง่ายๆ ว่า เป็นการทำให้ผมเสียหน้า เสียเกียรติ คือคล้ายๆ ผลักลงมา ออกกฎกระทรวงเพื่อปลดศิลปินแห่งชาติ ซึ่งโครงการศิลปินแห่งชาติ ผมก็คิดว่า ผมเป็น 1 ในคนที่ริเริ่มขึ้นในปี 2527 แต่เขาก็ปลดในฐานะที่ใช้คำว่า ผมประพฤติตัวเสื่อมเสีย ไม่เป็นแบบอย่างอันดีของการเป็นศิลปินแห่งชาติ แทนที่จะไต่สวน กลับประจานต่อสาธารณชน ทำให้ผมเสียหายอย่างมาก” นายสุชาติกล่าว
นายสุชาติกล่าวต่อว่า ฉะนั้น เมื่อมีจดหมายมาให้ไปอุทธรณ์ ตนจึงไม่ไป และนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ศาลปกครอง โดยตนยื่นเป็นโจทก์ ซึ่งศาลปกครองรับฟ้อง ตอนนี้เรื่องยังอยู่ในศาล 3 ปีมาแล้ว
“ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า หลังจากที่ผมโดนปลด การที่มีคนไปฟ้องผมในปีต่อมา มันเกี่ยวเนื่องกันหรือเปล่า คล้ายๆ ว่ามีความมุ่งหมาย ต้องการให้มีการเรคคอร์ดเป็นคดี โดยที่ใช้ ม.116
เป็นเรื่องที่ผมแปลกใจ เพราะการที่ฟ้องคดีความมั่นคง ม.116 พร้อมกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็คงในฐานะที่เป็นเอฟซี ตามดูว่าผมเล่นเฟซบุ๊กแบบไหน เป็นหมายเรียกที่มาถึงผม แบบที่เป็นการเรียกครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือนก็มีคนมาถ่ายรูปที่บ้าน ผมไม่เห็นแต่ลูกชายเห็น นั่งรถแล้วลงมาถ่าย คล้ายๆ มาดูพิกัด แล้วจากนั้น 1 เดือนให้หลัง ก็มีหมายเรียกนี้มา” นายสุชาติเผย
นายสุชาติเผยว่า คนที่ส่งหมาย เป็นตำรวจในพื้นที่บ้านของตน เป็นหมายเรียกเพียงแผ่นเดียว ที่บอกข้อหา แต่ไม่มีรายละเอียดประกอบ เมื่อเห็นหมายเรียกก็มีเวลาเพียง 7 วัน ที่จะต้องเดินทางไปที่ จ.พัทลุง จึงให้ทนายความของศูนย์ทนายฯ ที่ประจำหาดใหญ่ ติดต่อเพื่อขอเลื่อนการเข้าพบ ซึ่งทาง สภ.ศรีนครินทร์ ก็เลื่อนให้ 1 เดือน คือไปพบวันที่ 11 ก.ย.และระบุว่า ตนมีความผิดตาม ม.116
นายสุชาติกล่าวอีกด้วยว่า อยากให้เคสของตน เป็นตัวอย่าง ของการเป็นเหยื่อจากการฟ้องร้อง เพราะส่วนตัวเชื่อว่ามีกระบวนการที่ตั้งใจอย่างนั้นอยู่แล้ว
“ผมคิดว่าเขามีเข็มมุ่ง ในกรณีที่ผมเคยมีประวัติด่างพร้อย จากการที่เขาปลดจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งผมก็ไม่ว่าอะไร ให้ศาลปกครองเป็นผู้ตัดสิน
แต่ในกรณีนี้ ถือว่าเป็นการฟ้องคดีอาญา มันเป็นเรื่องที่สำหรับผม บอกตามตรงว่า ในชีวิตการทำงาน ในฐานะนักเขียน บรรณาธิการ นักแปลแม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ผมรู้สึกเศร้า แต่ความเศร้านั้นเป็นเหมือนราคาของความรัก ในความหมายคือ รักในเสรีภาพ คือประชาธิปไตย ความเป็นธรรม เหมือนอย่างที่คนหนุ่มสาวเรียกร้องเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่เขาชู 3 นิ้ว แล้วผมไปชูด้วยเพราะเห็นด้วย เพราะเป็นความหวังและความฝันของผม ตั้งแต่เริ่มทำหนังสือ”
ผมเริ่มเขียนบทนำ ในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ เมื่อปี 2512 ‘คำประกาศความรู้สึกใหม่’ สิ่งที่ผมเรียกร้องไม่ต่างจากไปจากสิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกร้อง
มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า ใช้ผมเถอะ ผมยินดีเดินทางไปทุกแห่งในประเทศนี้ พัทลุงเรื่องเล็ก ใช้ผมเป็นตัวอย่าง เพื่อเรียกร้องในสิ่งที่เรียกว่าความมั่นคงภายใน ” นายสุชาติกล่าว
นายสุชาติกล่าวว่า มันเป็นบาดแผลตั้งแต่เมื่อ 48 ปีที่แล้ว ปีนี้ครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาคม 2516 ยังฝังรากลึก คนที่เคยได้รับบาดแผลมาก่อน น่าจะข้าใจ ตนไม่ใช่คนเดือนตุลาฯ แต่เป็นคนมิถุนา เกิดวันที่ 24 มิถุนายน
“ผมไม่ได้เกลียดทหารด้วยสถานะอาชีพ แต่เกลียดทหารที่ทำรัฐประหาร ถ้าจะบอกว่า ผมยุยงปลุกปั่นในความหมายของการเขียนเพื่อให้มีเสรีภาพความเป็นธรรม อย่างน้อยก็ขอให้ใช้โอกาสนี้ ให้รัฐสภาเป็นเป็นจุดเริ่มต้นออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยรวมผู้ที่ถูกต้องคดี ม.112” นายสุชาติกล่าว
นายสุชาติในฐานะผู้ต้องหา สำนึกเรื่องศีลธรรม จริยธรรมของตน อาจจะเป็นคนละความหมายกับกระทรวงวัฒนธรรม เพราะสำนึกทางจริยธรรม มันเป็นปัญหาทางปรัชญา บางทีไม่มีใครผิด แต่คำว่าจริยธรรมในประเทศนี้ มีความหมายในแบบที่ตนไม่อาจเข้าใจได้
“พวกคุณกำลัง เซาะกร่อนบ่อนทำลายประชาธิปไตย เสรีภาพ หรือเปล่า ดังที่กุหลาย สายประดิษฐ์ เรียกว่า มนุษย์ภาพ ฉะนั้นก็อยากให้ใช้ผมเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะทำให้ ครอบรอบ 48 ปี 6 ตุลาที่จะมาถึงนี้ มีความหมาย อย่างน้อยที่สุด น่าจะทำให้ผู้มีอำนาจในขณะนี้ เข้าใจถึงสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ ถ้าต้องการให้ทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรี จะต้องให้ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก ยอมรับความเห็นต่าง
อยากให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับผม ซึ่งเป็น เดอะลาสต์ จอย ความรื่นรมย์ครั้งสุดท้ายของผม มันมีผลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่สูญไปของคนหนุ่มสาว ที่กำลังเผชิญชะตากรรมอยู่มากกว่า 40 คน ที่ต้องโทษในฐานะผู้ต้องหาทางการเมือง” นายสุชาติกล่าว
นายสุชาติกล่าวว่า เมื่อพูดถึงความสร้างสรรค์ ก็ต้องหมายถึงเสรีภาพ และความเป็นธรรม ต้องหมายถึงสิ่งที่ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เรียกว่า ‘สันติประชาธรรม’ ซึ่ง การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว เขายึดหลักสันติ แสดงความคิดเห็น โดยพร้อมใช้ตัวเองเป็นเครื่องต่อรอง เพื่อพูดถึงความถูกต้อง
“คำประกาศความรู้สึกใหม่นั้น ผมเข้าใจว่า ยังเป็นสิ่งซึ่งใหม่อยู่ แม้ผมจะเขียนมา 40-50 ปีแล้วก็ตาม” นายสุชาติกล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ลงวันที่ 11 กันยายน 2567 ที่ สถานีตำรวจภูธรศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง มีเนื้อหาระบุว่า พนักงานสอบสวน ร.ต.อ.มานพ สุวรรณมณี รอง สว.(สอบสวน) สภ.ศรีนครินทร์ เป็นผู้รับแจ้งข้อกล่าวหา ที่มีนายทรงชัย เนียมหอม เป็นผู้แจ้งความเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2565
โดย นายทรงชัย ได้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัวเข้าอ่านข้อมูลต่างๆ ในเฟซบุ๊ก และได้เข้าได้ติดตามความเคลื่อนไหวโปรไฟล์บัญชีเฟซบุ๊กสาธารณะบุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ ชื่อบัญชี “Suchart Sawads)(สุชาติ สวัสดิ์ศรี)” เมื่อเลื่อนอ่าน ข้อมูลไปเรื่อยๆ จึงปรากฏการโพสต์แบบสาธารณะอันที่ผู้คนทั่วไปเข้าถึงได้ระบุวันที่เผยแพร่ วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2565 เวลา 18.32 น.
จากลักษณะของการพบเหตุตามที่อ้างถึง ผู้แจ้งอาศัยอำนาจตาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50(1) ขอแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี และบัญชีผู้ใช้เฟชบุ๊กสาธารณะที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ชื่อบัญชี “Suchart Sawadsi (สุชาติ สวัสดิ์ศรี) ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 (1), (2) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560(ฉบับที่ 2 )มาตรา 14 (1),(2) ตามกฎหมาย
เหตุเกิด ตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินครินทร์ จังหวัดพัทลุง พฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความบั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอมูลคอมพิวเตอร์ที่ปิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
และได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ทราบว่า ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ถ้าให้การคำให้การของผู้ต้องหานั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้
ผู้ต้องหารับทราบข้อกล่าวหา และเข้าใจดีโดยตลอดแล้ว ได้ให้การ ‘ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา’
พนักงานสอบสวนได้รับตัวผู้ต้องหา แจ้งข้อกล่าวหา สอบสวนปากคำ และพิมพ์มือเพื่อส่งตรวจ และให้ผู้ต้องหากลับไป โดยไม่ได้จับกุมหรือควบคุมตัวไว้ ซึ่งผู้ต้องหารับว่าจะมาตามกำหนดนัดของ
พนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป จึงให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และรับรองว่าถูกต้องตรงกับความเป็นจริงทุกประการ