หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการ กรณีพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมและการแก้ไขอำนาจขององค์กรอิสระ ทำให้มี
กระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนักการเมืองและพรรคการเมืองหรือไม่
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในครั้งนี้ เดาทรงออกว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ไม่ต้องพูดถึงการทำประชามติที่จะทำกี่ครั้ง แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ท่าทีของพรรค พท.มากกว่า เพราะเวลาผ่านมา 1 ปีเศษแล้ว ยังไม่เริ่มต้นการทำประชามติเลย สังคมจึงเคลือบแคลงกับความตั้งใจในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับของพรรค พท.แม้เราจะเห็นความพยายามของพรรค พท.และคณะกรรมาธิการ ที่ออกมาแก้ต่างว่าไม่ใช่การซื้อเวลา แต่ประชาชนทั่วไปรู้สึกได้ว่าสิ่งที่พรรค พท.ทำอยู่ คือการซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพราะถ้าจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะต้องเริ่มแก้ไขตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว
การเริ่มในรัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ไม่สามารถแก้ได้ทันช่วงอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่ พอยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไปต่อไม่ได้ จึงไปจบที่การแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา เพราะการแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตรามีขั้นตอน การใช้เวลา และควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ง่ายกว่าการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งเรื่องที่จะแก้ไขไม่เข้ากับมาตรา 256 ที่ระบุว่าการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 จะต้องไปทำประชามติก่อน ทำให้สามารถแก้สำเร็จได้ในระยะเวลาไม่นาน
ส่วนประเด็นเรื่องจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประเด็นเสียงของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เข้ามาตัดสินทั้งตัวพรรคการเมือง และคุณสมบัติของรัฐมนตรี เป็นหลุมดำที่สังคมไทยเห็นมานาน พรรคการเมืองแทบทุกพรรคได้รับผลกระทบโดยตรงกับเรื่องเหล่านี้ การยื่นแก้ไขเรื่องนี้ในวาระที่ 1 ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ถ้ายื่นไปแล้ว จะมีคนไปร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องนี้หรือเปล่า การผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะอย่างน้อยพรรคประชาชน (ปชน.) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน น่าจะเห็นชอบ แต่ก็ต้องมาดูรายละเอียดต่างๆ อีกครั้ง
มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในครั้งนี้ จะยังเป็นการแสดงจุดยืนครั้งแรกของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เราจะเห็นจากระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ส.ว.เข้าประชุมพร้อมกันโดยใช้เครื่องแต่งกายเป็นชุดสีเดียวกันทั้งหมด และยังมีปรากฏการณ์รวบรัดตัดตอนหลายครั้งมาก พูดกันว่า ส.ว.ชุดนี้เป็น ส.ว.สีน้ำเงิน ในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ในวาระแรกต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว.ในการเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจะให้ ส.ว.เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมาดูว่าขั้วไหนกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาอยู่ ก็ต้องไปต่อรองให้ ส.ว.ขั้วดังกล่าวเห็นด้วยกับข้อเสนอในการต่อรอง แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ ส.ว.กลุ่มนั้นจะเห็นด้วยกับข้อเสนอที่นำมาต่อรองหรือไม่ แต่ปัญหาจะไม่ได้อยู่แค่เสียงเห็นชอบของ ส.ว.ในวาระแรกจะเห็นชอบหรือไม่ แต่ยังมีปัญหาที่เป็นด่าน 2 ที่กำลังจะมาถึงอย่างเรื่ององค์กรอิสระด้วย
การแก้ไขรายมาตราในครั้งนี้ จะเป็นประตูสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ คิดว่าโมเมนตัมไม่เหมือนกัน เพราะการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มีกระแสเรียกร้องสูงมากให้แก้ไขเมื่อประมาณปี 2566 โดยภาคประชาชนเริ่มล่ารายชื่อผู้เห็นด้วยต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับประมาณ 1-2 แสนคน ครั้งนั้นถือเป็นโมเมนตัมที่แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนต้องการให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หลังจากนั้นก็เห็นท่าทียึกยักของพรรค พท.ที่ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาหลายคณะ เพื่อศึกษาประเด็นหลายประเด็น ทำให้มีการยื้อไปเรื่อยๆ
คิดว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ ในการนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่คิดว่าไม่น่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วอย่างแน่นอน ถึงแม้จะมีเสียงของประชาชนที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอยู่ก็ตาม และข้อเสนอแก้ไขรายมาตรา ถ้ามาดูกันจริงๆ ถือว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของพรรคการเมือง ที่หลายพรรคการเมืองได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับจริยธรรมของนักการเมือง
หลังจากนี้ จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นผลประโยชน์เกี่ยวกับพรรคการเมือง ดังนั้น เชื่อว่าในท้ายที่สุด จะไม่มีร่างแก้ไขเท่าที่มีการเสนอไป ตราบใดที่ยังเป็นรัฐบาลที่บริหารโดยพรรค พท.จะมีประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขในเชิงที่เป็นประโยชน์ในทางการเมือง ต่อพรรคการเมืองอย่างแน่นอน อาจจะแก้ไขเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งเข้ามาด้วยก็ได้
วีระ หวังสัจจะโชค
คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร
ภ าพรวมของการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นการพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญด้วยความรวดเร็ว โดยไม่ต้องทำประชามติ เพื่อหนีหลักกฎหมายในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ถ้าแก้ทั้งฉบับหรือแก้ไขหมวด 15 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลานาน ปัจจุบันผ่านไป 1 ปีแล้ว รัฐบาลใหม่ยังไม่สามารถตั้งต้นแก้ไขมาตรานี้ได้เลย เช่น การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดช่องการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ฉะนั้น ถ้าจะแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้เรื่องมาตราแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้เวลานาน ฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรค พท.หรือพรรค ปชน.จึงพยายามหนีประเด็นนี้ ด้วยการแก้รายมาตราแทน
ฉะนั้น การแก้ไขรายมาตราเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ดีในเงื่อนไขที่ว่าจะไม่ได้เห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะแก้ยากมาก มีการวางขั้นตอนไว้หลายขั้นตอนมาก ต้องทำประชามติถึง 3 รอบ ถึงจะแก้ไขทั้งฉบับได้ ผลคือทำให้เกิดข้อเสนอในการแก้ไขรายมาตราใน 6 ประเด็นนี้ นำไปสู่การตั้งคำถามของสังคม ว่าคือการแก้ไขประเด็นที่เป็นปัญหาของนักการเมืองเท่านั้น ไม่ใช่ปัญหาของประชาชนหรือสังคม เช่น การแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักการเมือง เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม ตรงนี้เป็นปัญหาส่วนตัวของนักการเมืองเลย ว่าเรื่องจริยธรรมถูกตีความได้เยอะ เป็นปัญหาที่นักการเมืองทำงานได้ไม่สะดวกนัก เช่น การฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือการตั้ง ครม.จะติดเงื่อนไขนี้ นักการเมืองจึงเห็นว่าควรแก้ไขเรื่องนี้ก่อน
หรือในมาตรา 160 (4) ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ นี่คือปัญหาของนักการเมืองเหมือนกัน หรือการแก้ไขมาตรา 98 เกี่ยวกับผู้สมัครเป็นรัฐมนตรี ห้ามผู้ที่ต้องรับโทษจำคุกมาสมัคร ภาพของการแก้ไขจึงอยู่ที่ว่า การแก้ไขทั้ง 6 ประเด็นนี้ เป็นปัญหาของนักการเมืองที่ทำงานไม่สะดวก เพื่อให้นักการเมืองทำงานสะดวกขึ้น
ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า ประชาชนได้อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ เพราะทั้ง 6 ประเด็นเป็นปัญหาของนักการเมืองเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงการกระจายอำนาจอย่างไร ไม่ได้พูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องเพิ่มอะไรตรงไหน ไม่ได้พูดว่ารัฐต้องมีแนวนโยบายพื้นฐานเพิ่มเติมอย่างไร เห็นได้ว่าปัญหาที่เกี่ยวกับผลกระทบของประชาชน ไม่ได้ถูกแตะเลย
เรื่องที่ 2 มีบางเรื่องที่ใกล้เคียงกับปัญหาชีวิตของประชาชน การแก้ยุทธศาสตร์ชาติ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเงื่อนทางกฎหมายเรื่องหนึ่งคือรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้าไม่ดำเนินการจะมีการจัดการในวิธีการต่างๆ ทั้งในระดับของตัวนักการเมือง และระดับของข้าราชการ ในร่างนี้ถ้าเข้าใจไม่ผิด เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเรื่องของพรรค ปชน.ไม่ใช่ 6 ประเด็นของพรรค พท. ตรงนี้ก็เป็นส่วนสำคัญว่าถ้าจะแก้ไขแล้วจะกระทบกับแนวนโยบายแต่ละส่วนราชการอย่างไร เพราะในการทำยุทธศาสตร์ชาติ ส่งผลกับการปรับแผน หน่วยราชการจะเรียกว่าแผน 3 ระดับ คือ ยุทธศาสตร์ชาติ แล้วมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป็นแผนของแต่ละส่วนราชการ เป็นแผน 5 ปี ถ้าแก้ยุทธศาสตร์ชาติก็จะกระทบแผนส่วนราชการทั้งหมด อาจเป็นปัญหาใหญ่ในการบริหารราชการแผ่นดินเหมือนกัน แต่ส่วนตัวของผม เห็นด้วยว่าจะต้องแก้ไขตัวยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีผลกระทบสูง โดยหลายหน่วยงานต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วย
ประเด็นที่ 3 เรื่องเกี่ยวกับ ส.ว.ทุกการแก้รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีเสียง ส.ว. 1 ใน 3 เสมอ ประเด็นอยู่ตรง ส.ว.ในวันนี้เป็นชุดใหม่ พอเห็นภาพว่าจะมีกลุ่มใหญ่ๆ ประมาณ 140-150 เสียง โหวตไปในทางเดียวกัน ฉะนั้น กลุ่มนี้จะนับเป็นบล็อกโหวตประมาณ 150 เสียง ด้วยเหตุนี้การจะได้ 1 ใน 3 หรือกว่า 70 เสียง จึงไม่สามารถเกิดจากกลุ่มที่โหวตอย่างอิสระ หรือกลุ่มเสียงข้างน้อยได้ ผลคือจะทำอย่างไรให้ ส.ว.ที่เรียกว่า ส.ว.สีน้ำเงิน เห็นด้วยกับประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะอย่างน้อยที่สุดต้องไปยืมเสียงเข้ามา 30 เสียง เพื่อให้ได้ 1 ใน 3 ตามเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นแนวทางการทำงานของ ส.ว.ชุดใหม่ จะมีแนวทางการทำงานสอดรับกับกลุ่ม ส.ส.บางกลุ่ม ฉะนั้น ส.ว.ชุดใหม่จะเห็นด้วยกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชีวิตของนักการเมืองเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่เป็นปัญหาสังคม ประเด็นสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ อาจไม่รับการสนับสนุนเสียงจาก ส.ว.สายสีน้ำเงิน ฉะนั้น ความเห็นของ ส.ว.ชุดใหม่ เป็นการปิดประตูการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไปแล้ว จะเห็นการแก้ไขในรายมาตรา และการแก้ไข 6 ประเด็นของพรรค พท.ก็แก้ไขปัญหาเฉพาะชีวิตของนักการเมือง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.แต่รวมถึง ส.ว.ด้วย
ประเด็นนี้ เป็นการป้องกันบทบาทการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองขององค์กรอิสระ ที่ทำได้ยากขึ้น แต่แน่นอนการแก้ไขบางมาตราแบบนี้ได้ ฝ่ายนิติบัญญัติต้องการเข้ามีอิทธิพลต่อศาลรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน ในการกำหนดให้บทบาทรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนไป เห็นว่าถ้าสภาล่าง หรือ ส.ส.ไม่น่ามีปัญหา เพราะพรรค ปชน.กับพรรค พท.น่าจะเห็นร่วม เพราะทั้ง 2 พรรคโดนผลพวงนิติกรรมทั้งคู่ คนหนึ่งโดนยุบพรรค คนหนึ่งนายกรัฐมนตรีถูกให้พ้นตำแหน่ง ฉะนั้น สภาล่างน่าจะเห็นด้วยกับประเด็นนี้
แต่สำหรับสภาสูง ยังตั้งคำถามว่าจะเห็นด้วยกับประเด็นนี้จริงหรือไม่ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่การแก้รัฐธรรมนูญไปกระทบต่ออำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนเป็นการสร้างภัยคุกคามให้กับองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย แน่นอนว่าอาจนำไปสู่นิติสงครามครั้งใหม่ ซึ่งเห็นแล้วว่ารัฐบาลโดนร้องเรียนรายวันไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บ้าง ศาลรัฐธรรมนูญบ้าง การแก้แบบนี้จึงชัดเจนว่า แก้เพื่อให้รัฐบาลทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อาจถูกตั้งคำถามว่า จะผ่าน ส.ว.ได้จริงหรือ ต่อให้ผ่าน ส.ว.ได้ จะทำให้นิติสงครามเข้มข้นมากขึ้นหรือเปล่า
รวมอีกข้อหนึ่งคือการแก้ไขมาตรา 235 เรื่องที่โดนแบนทั้งชีวิต ให้แก้ไขเป็นเพิกถอน 5 ปี หมดสิทธิสมัคร 5 ปี เป็นปัญหาชีวิตของนักการเมืองเช่นเดียวกัน เพราะมีหลายกรณีปัญหาที่ถูกแบนทั้งชีวิต เพราะเสียบบัตรแทนกัน หรือเรื่องกรณีเกี่ยวกับที่ดิน ตรงนี้เห็นด้วยว่าไม่ควรมีกฎหมายประหารคนทางการเมือง การประหารชีวิตนักการเมืองควรทำโดยประชาชน คือแพ้การเลือกตั้ง ไม่ควรเกิดจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ฉะนั้น ในเชิงหลักการเห็นด้วย แต่ในเชิงทางการเมือง เห็นว่าเป็นอุปสรรคเยอะมาก แม้จะเป็นการแก้ในบางมาตราก็ตาม คือหาเสียงในสภาล่างแล้ว ต้องไปหาเสียงบนสภาสูงอีก และสภาสูงต้องดูว่าจะสร้างภัยคุกคามกับองค์กรอื่นๆ หรือไม่ และต้องมองว่าสภาสูงจะเห็นด้วยกับรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน เพราะสภาสูงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในสภาล่างด้วย จะเกิดการต่อรองอย่างอื่นมากขึ้นหรือเปล่า
นี่คือทั้งหมด แต่โดยสรุปการแก้ 6 ประเด็นตรงนี้ ไม่ได้แก้อะไรที่เกี่ยวกับชีวิตของประชาชนเลย แต่เป็นการแก้เพื่อให้นักการเมืองทำงานได้ง่ายขึ้น แน่นอนในเชิงหลักการ บางเรื่องจำเป็นต้องแก้ แต่ประชาชนจะตั้งคำถามว่าแก้เพื่อให้ชีวิตการทำงาน การบริหารประเทศ และนักการเมือง ถูกตรวจสอบได้น้อยลงหรือไม่ และทำไมไม่แก้ทั้งฉบับ จะได้ยกเครื่องใหม่หมด ทั้งสิทธิเสรีภาพ นโยบาย การกระจายอำนาจ แบบนั้นต่างหากที่จะเป็นการแก้ไขเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่เป็นการแก้รายเรื่อง รายมาตราแบบนี้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางรายมาตราเกิดขึ้นได้แน่นอน มีอุปสรรคนิดหน่อย แต่มีโอกาสสำเร็จสูง กว่าแก้ทั้งฉบับ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยากกว่า แต่ดีกว่ามาก เพราะการแก้บางมาตรา สุดท้ายจะแก้ยังไงให้การเลือกตั้งง่ายขึ้น เปลี่ยนบัตร 2 ใบเป็น 1 ใบ ก็วนๆ แบบนี้ แต่ไม่ได้ที่โครงสร้างความสำคัญของคนในสังคมเลย