ผู้เขียน | คอลัมน์หน้า 3 มติชน |
---|
รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร 1 ภายหลังแถลงนโยบายรัฐสภา เพื่อเดินหน้า 10 นโยบายเร่งด่วน ขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ ทั้งการแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ การแก้ปัญหายาเสพติด
การส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งต่างชาติ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์
ดังจะเห็นจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกของ ครม.แพทองธาร ได้มีมติเห็นชอบ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ คนละ 10,000 บาท
ให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคน โดยอนุมัติงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการ ในวงเงินไม่เกิน 145,552 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มจ่ายเป็นเงินสดแก่กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน เป็นต้นไป
แม้จะเป็นการปรับรายละเอียดนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย (พท.) อย่าง โครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
ที่มีเสียงท้วงติงสุ่มเสี่ยงอาจจะขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง การจัดหางบประมาณ การจัดทำระบบวอลเล็ตเพื่อรองรับการใช้จ่ายที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย โดยปรับมาเป็นการจ่ายเงินสดในเบื้องต้นก่อน
เพื่อช่วยลดแรงกดดันและเสียงเรียกร้องว่าโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ขณะที่การดำเนินการในเฟส 2 ของกลุ่มที่ลงทะเบียนอยู่ประมาณ 36 ล้านคน
หากการพัฒนาระบบวอลเล็ตเสร็จทัน กระทรวงการคลังจะดำเนินการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนเดิม
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร ได้ประกาศเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะทำทันที
โดยจะขยายผลการดำเนินงานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ที่ประกาศการป้องกันและการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ
หลังจากที่ได้ติดตามการดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ใน 25 จังหวัดนำร่อง มีการวัดผลออกมาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จึงขอให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนความสำเร็จดังกล่าว ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับมุ่งเน้นในการปราบปรามและบำบัดเยียวยาตลอดจนทำให้ผู้เสพกลับคืนสู่สังคมได้ และมีอาชีพหลังจากบำบัดหายแล้ว เพื่อไม่ให้กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก
นอกจากนี้ นายกฯยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย
ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก โดยมีทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งมี น.ส.แพทองธาร นั่งเป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำงานคู่ขนานไปกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ น.ส.แพทองธาร แต่งตั้งให้ 1.นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธานที่ปรึกษา 2.นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา
3.นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา 4.นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา 5.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษา 6.รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ได้รับมอบหมาย ทำหน้าที่เลขานุการคณะที่ปรึกษา
เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายและการทำงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้
นอกจากนี้ รัฐบาลแพทองธาร และพรรคเพื่อไทย ยังเดินหน้าชิงการนำขับเคลื่อนงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา
ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องใน 6 ประเด็นสำคัญ 1.แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย ประเด็นที่ 2.แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็นไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตโดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้ (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกาและ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท
ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน
ประเด็นที่ 3.แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา 202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และมาตรา 246
ประเด็นที่ 4. แก้ไขมาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ ส.ส. ส.ว. สิ้นสุดลง
หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
ประเด็นที่ 5. แก้ไขมาตรา 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของ ส.ส. ต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปีโดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ประเด็นที่ 6. แก้ไขมาตรา 255 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้
และแก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
การเดินหน้าชิงการนำทั้งการขับเคลื่อนงานฝ่ายบริหาร และงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ด้วยปัจจัยหนุนทั้งงบประมาณ และอำนาจเต็มในการบริหาร ตัวชี้วัดที่สำคัญสุด คือ ผลงาน ที่จะออกมาแบบจับต้องได้
ผ่านความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วน และเสียงตอบรับของประชาชน ตามที่นายกฯประกาศไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า จะเดินหน้าทำให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่ประเทศ