ส.ว.จี้ถามเกณฑ์เยียวยาน้ำท่วม รมช.เกษตรฯแจงยิบ ยันเงินถึงมือปชช.เร็ว ตามบัญชานายกฯ

ส.ว.จี้ถามมาตรการเยียวยาเกษตรกรประสบภัยน้ำท่วม ด้าน ‘รมช.เกษตรฯ’ เร่งเยียวยากทุกด้าน พร้อมเตรียมแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด-แก้ปัญหาในอนาคตด้วย เผยเงินช่วยเหลือเข้า ครม.พรุ่งนี้ นายกฯกำชับถึงมือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด

เมื่อเวลา 10.10 น. วันที่ 23 กันยายน ในการประชุมวุฒิสภา มี นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามของ นายประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล ส.ว. เรื่องมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยพิบัติอุทกภัย เพราะพี่น้องประชาชนยังไม่ชัดเจนว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้เร็วที่สุดอย่างไร รวมถึงในอนาคตจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากอย่างไร

นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงแทน รมว.เกษตรและสหกรณ์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายๆ จังหวัด ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการบริหารจัดการทั้งระหว่างน้ำท่วมและมาตรการเยียวยาหลังน้ำลด จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.ถึงปัจจุบันมีพี่น้องเกษตรกรหลายจังหวัดได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้ โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนขณะนี้ข้อมูลของกระทรวงเกษตรได้สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ ดังนี้ 1.ด้านพืช จะมีเกษตรกรได้รับความเสียหายประมาณ 1.6 แสนราย พื้นที่เสียหาย 1 ล้านไร่ ทั้งข้าว พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล และไม้ยืนต้น 2. ด้านประมง กระทบกับเกษตรกรประมาณ 1 หมื่นราย ทั้งบ่อปลา บ่อกุ้ง 3.ด้านปศุสัตว์ โดยสัตว์ได้รับผลกระทบจำนวน3,604,513 ตัว รวม โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์ปีก และแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์อีกกว่า 3,700 ไร่ โดยกระทรวงเกษตรฯมีข้อสั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมเพื่อให้มีข้อมูลพร้อมเยียวยาให้กับพี่น้องเกษตรกรต่อไป

ADVERTISMENT

รมช.เกษตรฯกล่าวต่อว่าว่า กระทรวงเกษตรฯได้ให้การช่วยเหลือเกษตรกรเฉพาะหน้าไปบ้างแล้ว อาทิ การสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ, เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่ประสบภัย, การแจกเมล็ดพันธุ์พืชผัก, การอพยพสัตว์, การส่งเฮลิคอปเตอร์ฝนหลวงสนับสนุนการปฏิบัติการของกรมปองกันและบรรเทาสาธาธารณภัย (ปภ.) และกองบัญชาการกองทัพในการเข้าพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย, การจัดชุดเฉพาะกิจพร้อมเจ้าหน้าที่ รถยนต์ เรือตรวจการประมง ช่วยนำส่งเสบียงอาหารและน้ำดื่ม และช่วยอพยพยพประชาชน ผู้ป่วย เด็ก และคนชรา ออกจากพื้นที่ และกรมสงเสริมสหกรณ์ให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และชะลอการชำระหนี้ และลดออกเบี้ยให้แก่สมาชิกสหกรณ์ วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท

นายอิทธิกล่าวว่า ส่วนการเยียวยาหลังสถานการณ์คลี่คลายนั้น ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯได้เตรียมแผนงาน เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนระยะเร่งด่วนของเกษตรกร แบ่งเป็น การฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด โดยการสนับสนุนพันธุ์ข้าว พืชไร่ พืชสวน พันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา พร้อมปัจจัยการผลิต เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้รวดเร็ว, การปรับพื้นที่และฟื้นฟูพื้นที่เกษตรให้กลับสู่ภาวะปกติพร้อมทำการเกษตร โดยกรมพัฒนาที่ดิน และมาตรการลดภาระหนี้สินให้เกษตรกร เช่น ผ่อนผัน หรือขยายเวลาการชำระหนี้ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

ADVERTISMENT

รมช.เกษตรฯกล่าวต่อว่า รัฐบาลตระหนักดีกว่าอุทกภัยครั้งนี้สร้างความเสียหายมหาศาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้แต่ละกระทรวงเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเตรียมแผนรับมือในอนาคตไว้ด้วย โดยแต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงาน จะต้องแบ่งกับข้อมูลร่วมกัน สำหรับกระทรวงเกษตรฯ รมว.ได้กำชับให้ลดขั้นตอนการทำงาน และแผนการทำงานที่ซับซ้อน และให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนลดความเสี่ยงภัยไม่เฉพาะช่วงน้ำท่วมเท่านั้น แต่ละต้องป้องกันในช่วงน้ำแล้งด้วย พร้อมจะต้องปรับปรุงข้อมูลเกษตรกร เพื่อให้กระทรวงเกษตรฯสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับเกษตรกรได้ และสามารถชดเชยเยียวยาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรฯได้ปรับตัวเลขการชดเชยให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น และได้รับความเห็นชอบในหลักการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และในการประชุม ครม.ครั้งล่าสุด นายกฯได้กำชับกระทรวงที่เกี่ยวข้องปรับตัวเลขการเยียวยาและตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชน

“ยืนยันว่ามาตรการเยียวยาของกระทรวงเกษตรฯและรัฐบาลถึงประชาชนอย่างเร็วที่สุด เพราะความเดือดร้อนของประชาชนหากสามารถช่วยได้เร็วขึ้นก็ถือเป็นความสุขของผู้เดือดร้อน ส่วนเงินเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) นายกฯจะเร่งรัดในที่ประชุม ครม.ให้ถึงมือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด แต่ก็จะต้องเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอน” รมช.เกษตรฯกล่าว

รมช.เกษตรฯกล่าวต่อว่า ส่วนข้อกังวลทั้งเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือยังไม่ได้รับการรับรองก่อนจะเกิดเหตุอุทกภัย การเยียวยาเกษตรกรที่ปลูกข้าว ที่จำเป็นจะต้องทำนาปรัง และการเตรียมพันธุ์ข้าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลด ซึ่งแต่ละพื้นที่ต้องการพันธุ์ข้าวที่แตกต่างกันนั้น กระทรวงเกษตรฯจะเร่งพิจารณาและดำเนินการโดยเร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image