สภาโต้วุ่น กม.ห้ามตีเด็ก รบ.ค้านทำครู-ผู้ปกครอง ไม่กล้าตีเด็กดื้อ สุดท้ายกมธ.ถอนไปทบทวน

กมธ.กฎหมายห้ามตีเด็ก ขอถอนร่างกลับไปทบทวนใหม่ หลัง 2 ฝ่ายมองต่างมุม สส.ปชน. โต้คำโบราณรักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แสดงว่า เห็นค่าลูกหลาน มีค่าน้อยกว่าวัว-ควาย ด้าน “เพื่อไทย” โต้กม.ออกมา ครู-ผู้ปกครองไม่กล้าตีเด็กดื้อ ขณะที่ กมธ.แจง เด็กจะได้ดีไม่ใช้ถูกโดนตี

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่ 2  ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. … ซึ่งมี นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ ในวาระสอง

ทั้งนี้ สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไข คือ ยกเลิก (2) ของมาตรา1567 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือการกระทำโดยมิชอบ อันเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตร”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกร่วมกันอภิปรายในการแก้ไขกฎหมายไม่ตีเด็ก มีความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยพรรคประชาชนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะส.ส.พรรคเพื่อไทย และส.ส.ภูมิใจไทย เห็นว่าการบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำกำกวมจะยากต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่ที่สำคัญเห็นว่า พ่อแม่ผู้ปกครองครูอาจารย์รักลูกและลูกศิษย์ของตนเอง ไม่มีใครต้องการทำโทษรุนแรง การห้ามไม่ให้ตีเด็กถือเป็นการลิดลอนสิทธิ์ในการดูแลบุตรหลาน

Advertisement

นายนิพนธ์ คนขยัน ส.ส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การทำโทษลูกตนเชื่อมั่นว่า พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีการตีลูกเลย ถ้าลูกดื้อหรือเกเรก็ตีไม่ได้เลยอย่างนี้ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร และคนต่างจังหวัดที่ต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่มีเงินที่จะเลี้ยงลูกแบบถูกสุขลักษณะ ถ้าพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปใครจะกล้าตีลูก แม้แต่ครูก็ไม่กล้าตี เก็บไม้เรียวไปได้เลย ซึ่งตนก็เห็นใจ แต่ทุกคนเกิดมาไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงอยากให้กมธ.นำกลับไปทบทวนใหม่ แล้วเสนอมาใหม่เพื่อให้พ่อแม่มีทางออก และต้องการให้แยกให้ออกระหว่างการตีด้วยความรักกับการทารุณกรรม

ด้าน น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เหตุใดต้องเขียนกฎหมายให้คลุมเครือ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติหาบรรทัดฐาน ใช้ดุลยพินิจเอาเอง อีกทั้งเรามีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอยู่แล้ว จึงอยากให้คณะกมธ. ถอนร่างแล้วนำกลับไปทำให้ชัดเจนขึ้น

Advertisement

ขณะที่ น.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายว่า การมีหลักประกันจากกฎหมายนี้จะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างอุ่นใจ ความรุนแรงมีความหมายในตัว และการส่งต่อความรุนแรงในรูปแบบความรักไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร อย่างไรก็ตาม สำนวนที่ว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี นั่นแปลว่าเราเห็นลูกหลานแย่ หรือมีค่าน้อยกว่าวัวกว่าควายหรือไม่ ในเมื่อวัวควายท่านบอกให้ผูก แต่ลูกหลานถึงขั้นตี เหตุใดไม่ปรับพฤติกรรม โดยการพูดคุยอย่างอ่อนโยน ให้เหตุผล ในเมื่อเชื่อว่าผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะ เหตุใดไม่เรียนรู้ที่จะส่งต่อวิธีที่ถูกต้อง หรือวิธีที่ทำให้ลูกหลานรับรู้ว่าเป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ห่วงใย

ส่วน นางศศินันท์ ธรรมนิฐนันท์ ส.ส.กทม. พรรคประชาชน กล่าวว่า สภาฯเคยผ่านกฎหมายป้องกันทารุณกรรมสัตว์แล้ว ทำไมเราถึงตั้งคำถามกับการคุ้มครองมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ฝ่ายที่คัดค้านแล้วบอกว่า ใช้คำคลุมเครือนั้น ในฐานะที่ตนเป็นทนายความอยากบอกว่า ทำให้กฎหมายชัดเจนละเอียดเท่าใด ไม่เปิดให้ใช้ดุลยพินิจ อันตรายมากกว่า

“สมาชิกหลายคนบอกว่า การตีทำให้พวกท่านได้ดี ทำให้ได้เข้ามายืนในสภา ดิฉันก็อยากยืนยันว่าการที่ทุกคนได้เป็นส.ส. เป็นผู้เป็นคนได้ เพราะมาจากความรู้ความสามารถ อดทน ตั้งใจ ไม่ได้มาจากไม้เรียว ถ้าจะดูถูกตัวเองว่า ไม้เรียวทำให้ได้ดี ท่านกำลังดูถูกความรู้ความสามารถความตั้งใจของตัวเองหรือเปล่า” นางศศินันท์ กล่าว

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางกมธ.แก้ไขข้อความที่สภาฯรับหลักการมา โดยตัดคำว่า ทารุณกรรมออกไป เหลือเพียงคำว่า ไม่เป็นการเฆี่ยนตี สภาฯแห่งนี้จึงยอมไม่ได้ เพราะต้องการปกป้องสิทธิผู้ปกครอง แนวโน้มร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงจะถูกคว่ำ จึงอยากให้หาวิธีการดู สำหรับตนขอเสนอให้กมธ.ถอนแล้วไปปรับปรุงตัวบทใหม่ เพื่อความสมดุลระหว่างสิทธิเด็กและสิทธิผู้ปกครอง คำกำกวมอย่างคำว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สมาชิกหลายคนถามว่าเอาอะไรมาวัด และสิ่งนี้จะทำให้ลงโทษผู้ปกครองได้ ฉะนั้นขอให้ไปปรับมาใหม่

ด้าน นายสรรพสิทธิ์ ชี้แจงว่า จากที่ฟังการอภิปรายสรุปได้ว่า สมาชิกอยากได้ไม้เรียวกลับมาให้ครู อีกทั้งต้องการให้พ่อแม่เฆี่ยนตีลูกได้เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน หากต้องการให้ทางคณะกมธ.ถอน ตนก็ยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร กฎหมายฉบับนี้ไม่ไช่ห้ามพ่อแม่เเฆี่ยนตีลูก เพราะมีกฎหมายอื่นที่ห้ามอยู่แล้ว

ผศ.แพทย์หญิง จิราภรณ์ อรุณากูร กมธ.ฯ ชี้แจงว่า หลายคนอาจจะมีความสงสัยเกี่ยวกับการกำหนดกฎหมายที่จะเข้าไปทำงานกับครอบครัวสิ่งสำคัญคือเราอาจจะโตกับความเชื่อและค่านิยม ว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เป็นสิ่งที่ฝังอยู่กับการเลี้ยงดูของคนไทยมานาน ในฐานะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ขอชี้แจงด้านองค์ความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ในปัจจุบันเราทำงานเกี่ยวกับการวิจัยด้านต่างๆที่เกี่ยวกับการทำงานของสมองของมนุษย์พบว่า เด็กที่เติบโตมากับการเลี้ยงดูด้วยความรุนแรง ส่งผลกระทบเชิงลบกับตัวเด็กมากๆ จะมีปัญหาทำให้เด็กปิดกั้นสมองส่วนการเรียนรู้ แต่ไปเชื่อมโยงกับสมองส่วนการเอาตัวรอด ซึ่งจะทำให้เด็กแก้ปัญหาด้วยการเอาตัวรอดคือ อาจจะใช้ความรุนแรงตอบโต้พบว่า เด็กที่เติบโตกับความรุนแรงหลายคนมีปัญหาของการใช้ความรุนแรงในอนาคต

ในบ้านกาญจนาภิเษกที่เป็นสถานที่กักกันเยาวชนได้มีการทำงานกับครอบครัวพบว่า เด็กส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเติบโตมาแบบไหน ซึ่งในบ้านกาญจนาภิเษก ที่เป็นสถานที่กักกันเยาวชน ได้มีการทำงานกับครอบครัวพบว่า เด็กส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเติบโตมากับการใช้ความรุนแรง และกลายเป็นอาชญากร ก่อคดีต่างๆ และพบว่า เด็กจำนวนหนึ่ง จะใช้วิธีการหลีกหนี ไปปิดความผิด โกหก มากกว่าการสู้กลับ และหลีกหนีการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่

“ที่สำคัญเมื่อเด็กถูกความรุนแรงมากๆ สิ่งที่ทำให้เกิดความบั่นทอนคือตัวตนทำให้ไม่แน่ใจว่าตัวเราเป็นที่รักหรือมีความหมายหรือไม่ เด็กเหล่านี้จะมีความรู้สึกรักตัวเองที่ต่ำลง จะนำมาซึ่งโรคจิตเวช ซึมเศร้า และวิตกกังวล ดังนั้น การเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก โดยไม่ใช้วิธีความรุนแรง โดยใช้วิธีช่วยคิดช่วยสอน และช่วยแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการสร้างบทลงโทษเฉยๆ เวลาที่เราบอกว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี พ่อแม่ก็จะคิดถึงการแก้ปัญหาว่า เวลาลูกทำผิดก็จบลงด้วยการทำโทษ

แต่จริงๆแล้วเวลาที่เด็กทำผิดสิ่งสำคัญมากคือ การมองหาว่า สาเหตุที่เขาทำผิดคืออะไรแล้วเข้าไปแก้ไขสิ่งเรานั้น การลงโทษอาจจะนำมาซึ่งความหวาดกลัว แต่ไม่ใช่การสร้างการเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็ก ดังนั้น ในยุคนี้ เราน่าจะเลิกถกเถียงกันเรื่องของการที่ว่า ถูกตีก็ดีมาได้ เพราะจริงๆแล้วการดีขึ้นมาของเด็กคนหนึ่ง หรือโตขึ้นมาแล้วได้ดี อาจจะไม่ได้มาจากองค์ประกอบของการถูกตี แต่อาจจะเป็นจากการรับรู้ว่าพ่อแม่มีความรักให้มาจากการอบรมสั่งสอนและการพัฒนาศักยภาพของตัวเรา ซึ่งหมอก็จะพูดว่าจริงๆก็อาจจะดีกว่านี้อีกถ้าไม่ถูกโดนตี ”ผศ.แพทย์หญิง จิราภรณ์ กล่าว

ภายหลังที่ประชุม ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้ประธานการประชุมฯ ต้องสั่งพักการประชุม เพื่อให้กมธ.กลับไปพิจารณาว่า จะถอนร่างเพื่อนำกลับไปทบทวน หรือจะยังคงยืนยันในร่างกฎหมายที่มีการปรับแก้มา โดยภายหลังเข้าสู่การประชุมอีกครั้ง ปรากฏว่า กมธ.แจ้งว่า ทางกมธ.ขอถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออกไปพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง ซึ่งที่ประชุมไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าอนุญาตให้ถอนร่างกฎหมายได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image