‘พวงทอง-กอ.รมน.’ เข้าชี้แจง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ถกปมสั่งเบรกขายหนังสือ ด้าน ‘เสธ.ต๊อด’ แจงใช้คำพูดเกินเลยไป ต้องขออภัย ปัดตอบจ่อดำเนินคดีผู้เขียนหรือไม่ ด้าน ‘พริษฐ์’ มองควรทำหนังสือแจ้งนายกฯ ทราบ เหตุเสี่ยงกระทบเสรีภาพทางวิชาการ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เป็นประธาน กมธ. วาระการพิจารณาศึกษาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการแถลงข่าวของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต่อหนังสือด้านความมั่นคงและแนวทาง ในการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ
โดยมีการเชิญ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอ.รมน. ซึ่งมอบหมายให้เลขาธิการ กอ.รมน. เข้าแจงแทน, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มอบหมายนายสรพงค์ ศรียานงค์ ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง เข้าชี้แจง, นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. ในฐานะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้เขียนหนังสือดังกล่าว, ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์, พล.ท.พงศกร รอดชมภู, และ นายณัฐพล ใจจริง เข้าชี้แจง
ขณะที่ ผู้แทน กอ.รมน.ที่เข้าร่วมชี้แจง ได้แก่ 1.พล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ รองหัวหน้าสำนักงาน รอง ผอ.รมน. 2.พล.ท.สุรพงษ์ อยู่พร้อม ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ความมั่นคง และ 3.พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน.
พล.ต.วินธัยกล่าวชี้แจงกรณีมีข่าวห้ามขายหนังสือของ รศ.ดร.พวงทองว่า อาจจะมีการพาดหัวที่ชวนให้เข้าใจผิดว่า ไม่ห้ามไม่ให้มีการขาย ซึ่ง กอ.รมน.ตรวจพบเอกสารทางวิชาการที่คลาดเคลื่อนส่งผลกระทบต่อความมั่นคง จึงขอความร่วมมือจากหน่วยงาน ซึ่งจากการที่เห็นว่าข้อมูลคลาดเคลื่อน เราจึงได้มีการประชุมกันและคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลตรงนี้ได้ จึงคิดว่าจะใช้เวทีวิชาการ
ทั้งนี้ การแถลงข่าวของทีมโฆษกได้รับการอนุมัติจากผู้บัญชาการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากได้แถลงข่าวไปแล้วทำให้เกิดความเข้าใจทีมโฆษกต้องรับผิดชอบ แต่เรายืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น เราไม่ได้แก้ปัญหาโดยการใช้กำลังเหมือนในช่วงที่บ้านเมืองไม่ปกติ
ขณะที่ พล.อ.นพนันต์กล่าวว่า การวิจัยเชิงคุณภาพต้องมีความเป็นกลาง และหลักการวิจัยไม่ควร ทำในเรื่องที่เข้าถึงข้อมูลยาก ซึ่งในกรณีนี้ผู้วิจัยไม่ได้ให้ผู้ถูกวิจัย คือ กอ.รมน.มีโอกาสสัมภาษณ์ และเปิดเผยข้อมูล พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อความเชี่ยวชาญของ รศ.ดร.พวงทองว่า ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง การทำวิจัยไม่ใช่ว่าใครนึกจะทำเรื่องอะไรก็ได้
รศ.ดร.พวงทองชี้แจง พล.อ.นพนันต์ว่า เรื่องความเป็นกลาง ในทางวิชาการต้องมีกรอบทฤษฎี หลักการประชาธิปไตยทหาร ต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ต้องถูกตรวจสอบหน่วยงานที่มาจากประชาชน แต่หากพบว่า ทหารมีอิสระ ใช้อำนาจเอง ไม่ทราบว่าความเป็นกลางของท่านคืออะไร ซึ่ง 10 คนที่ตนสัมภาษณ์นั้นคือ คนเสื้อแดงที่อยู่ในภาคอีสาน และหลังรัฐประหารถูกเรียกมาปรับทัศนคติ และไม่ได้มาวิจารณ์โครงสร้างของ กอ.รมน. นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ใช้เอกสารอ้างอิง 28 หน้า รู้ว่ากำลังทำเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก และตนก็ระวังตัวเองเป็นอย่างมาก โดยหนังสือพิมพ์ที่ตนใช้อ้างอิงส่วนใหญ่เป็นคำสัมภาษณ์ของกองกำลัง รวมถึงจากวิดีโอที่ กอ.รมน.โหลดขึ้นบนยูทูบเอง
รศ.ดร.พวงทองกล่าวด้วยว่า นักวิชาการ ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องเดียวไปตลอดชีวิต ซึ่งหากทำออกมาแล้วไม่ดี ก็ไม่มีใครพิมพ์ให้ และไม่มีใครอ่าน ส่วนที่บอกว่า การทำวิจัยต้องสอบถามคนในหน่วยงานนั้นก่อน ไม่ทราบว่า ตั้งความคิดนี้มาจากไหน เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เหมือนเป็นการทำโฆษณาชวนเชื่อ ไม่มีประโยชน์ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ตนไม่เห็นด้วย หากจะทำวิจัยแล้วต้องยกย่องหน่วยงานที่ตนเองอยู่ เช่นตนเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาฯ ก็ไม่จำเป็นต้องทำงานวิจัยเพื่อยกย่องมหาวิทยาลัย เพราะเป็นสิ่งที่จุฬาฯทำอยู่แล้วทุกวัน
รศ.ดร.พวงทองยังยืนยันข้อเสนอในหนังสืออีกว่า กอ.รมน.เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ ซึ่งช่วงรัฐบาลทหาร พวกที่มีอำนาจบริหารจัดการ กอ.รมน. ก็เป็นทหารทั้งหมด จะเป็นพลเมืองเฉพาะสังกัดนายกรัฐมนตรี แต่วิธีคิด วิธีมองปัญหา และการประสานงาน ก็ใกล้ชิดกับกองทัพทั้งนั้น ดังนั้น โดยเนื้อหาตนมองว่า กอ.รมน. เป็นทหารมากกว่าพลเรือน แม้กระทั่งยุครัฐบาลพลเมือง ตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี จนถึง น.ส.แพทองธาร มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทำงานของ กอ.รมน.แค่ไหน
จากนั้น นายพริษฐ์ได้สอบถามถึงบทบาทของ กอ.รมน.ในการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินคดี และจับกุมประชาชนว่า ต้องผ่านหน่วยงานอื่น เช่น สมช. หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ กอ.รมน. ดำเนินการได้เอง นายสรพงค์กล่าวว่า อำนาจของ สมช. และ กอ.รมน. แต่ละหน่วยงาน มีกฎหมายของตนเอง แต่การอนุมัติกิจกรรมต่างๆ เป็นหน้าที่ของ กอ.รมน. ไม่ต้องมาขออนุมัติ สมช.
นายพริษฐ์ถามต่อว่า เวลาจะมีการดำเนินคดี จะต้องผ่านการอนุมัติของ กอ.รมน.หรือไม่ โฆษก กอ.รมน. แจงว่า การจะฟ้องคดีต้องเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนตามปกติ แต่หากจะเป็นบทบาท กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในกรณีที่เกิดเหตุกระทบความมั่นคง แต่ส่วนกลางจะเป็นผู้ประสานอย่างเดียว
ด้าน นายรอมฎอนตั้งคำถามว่า กอ.รมน.ถือสิทธิอะไรในการออกมาแถลงข่าวถึงขั้นขอความร่วมมือไม่ให้จำหน่าย และนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน. รับทราบการแถลงข่าวนี้ และจะมีส่วนรับผิดชอบด้วยหรือไม่
ด้าน โฆษก กอ.รมน.ยืนยันว่า สนับสนุนงานวิชาการ มีเจตนาต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ในการแถลงข่าวอาจใช้คำที่ทำให้เกิดความกังวลมากเกินไป ทีมโฆษกต้องขออภัย และการแถลงข่าวครั้งนั้นได้ผ่านการอนุมติของรอง ผอ.รมน.แล้ว ซึ่งคือผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และอยู่ในช่วงกำลังเปลี่ยนผ่านนายกรัฐมนตรีคนใหม่พอดี
รศ.ดร.พวงทองกล่าวว่า เมื่อฟังดังนี้ก็สบายใจได้ว่า ที่จะมีการเปิดตัวหนังสือในวันที่ 27 กันยายนนี้ ที่จุฬาฯ จะไม่มีทหารเข้ามาเก็บหนังสือ หรือเดือนหน้าที่จะมีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติก็สามารถที่จะขายได้
ส่วนที่บอกว่า จะให้จุฬาฯ ตรวจสอบจริยธรรมของตน ไม่แน่ใจว่า จะทำให้เกิดแบบเดียว กับนายณัฐพล ใจจริง ผู้แต่งหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” หรือไม่ ที่มีการร้องเรียนถึงขั้นจะให้ถอดผลงานวิจัย และวุฒิปริญญา แต่ในเมื่อท่านบอกว่า ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เป็น ก็อย่าให้เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ก่อนที่ นายพริษฐ์ถามย้ำว่า กอ.รมน. เห็นหนังสือเล่มนี้ เป็นงานวิจัยหรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง และยังมีความประสงค์ให้ดำเนินการด้านจริยธรรมกับ รศ.ดร.พวงทองหรือไม่ พร้อมยืนยันได้หรือไม่ว่า ไม่ได้มีการติดต่อนอกรอบกับจุฬาฯ เพื่อให้ดำเนินคดี
โฆษก กอ.รมน.ตอบว่า ด้านจริยธรรมก็อยากให้มีการพิจารณา ซึ่งอาจจะเป็นคุณก็ได้ และไม่ได้มองหนังสือในเชิงลบ แต่ถ้าเป็นงานวิชาการก็ควรมีเส้นเรื่องตรงไปตรงมา ยืนยันว่า ไม่ได้มองเป็นภัยคุกคาม ส่วนจะดำเนินการด้านจริยธรรมหรือดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งตนรับผิดชอบเฉพาะด้านการสื่อสาร จึงไม่ทราบเรื่องว่าจะดำเนินคดีในความผิดมาตรา 112 หรือ 116 หรือไม่ ส่วนตัวไม่อาจจะรับปากอะไรได้ และเรื่องการดำเนินการทางจริยธรรม มีหน่วยงานอื่นที่จะต้องดำเนินการ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล
จากนั้น นายพริษฐ์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเห็นว่า ควรทำหนังสือเรียนนายกฯในฐานะ ผอ.รมน. ให้รับทราบว่า เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อเสรีภาพทางวิชาการ และนายกฯอาจต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘พวงทอง’ ถาม กองทัพกลัวอะไร? โต้ไร้อ้างอิงเอกสารราชการ ท้าเปิดบรรณานุกรมยาวเหยียด 28 หน้า
- ธนาธร ชี้ ‘ในนามของความมั่นคงฯ’ ทำประชาชนรู้ทันกองทัพ ยกโควตพวงทอง คำต่อคำ อัด กอ.รมน.ทำงานซ้ำซ้อน
- ล้นห้องประชุม! ประจักษ์ ลั่น คนฟังเยอะสุดใน 20 ปี! นักการเมือง-น.ศ.มุงเวที ‘ในนามของความมั่นคงฯ’
- ชมสด เสวนาวิชาการ “ความมั่นคงภายในอำนาจของทหาร ภารกิจของประชาชน” เนื่องมาจากหนังสือ อ.พวงทอง