หมอเปรม สงสัยกมธ.ฯส.ว. กลับลำเกณฑ์ประชามติ มีใบสั่งไหมหรือมีใครไม่อยากแก้รธน.

หมอเปรม

หมอเปรม ชี้กมธ.ฯประชามติกลับลำ เหมือนมีใครอยากเปลี่ยนความคิดแบบกลับหลังหันไม่อยากแก้ รธน.ได้ประโยชน์เต็มๆ วอนอย่าเล่นเกมปิดประตูตาย

เมื่อวันที่ 29 กันยายน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว.สายสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่. …) พ.ศ. … ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 30 กันยายนนี้ โดย กมธ.เสียงส่วนใหญ่ต้องการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมาก แต่ให้ใช้วิธี DOUBLE MAJORITY หรือ เสียงข้างมาก 2 ชั้น ที่อาจถูกมองว่า ส.ว.ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า ถ้า ส.ว.มีการยื้อเรื่องนี้ออกไป ถ้า ส.ว.มีการยื้อเรื่องการทำประชามติออกไป ก็มีนัยยะเท่ากับว่าไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความเห็นมากมายว่า อาจจะแก้ไขได้โดยไม่จำเป็นต้องไปแตะมาตรา 112 หรือไม่จำเป็นต้องแก้ทั้งฉบับก็ได้ แต่เรื่องการทำประชามติเป็นแนวทางที่จริงๆ แล้วทาง ส.ส.จะมาจากหลายพรรคการเมือง แล้วส่งเข้ามาในวุฒิสภาอย่างเป็นเอกฉันท์ว่าอยากจะให้มีการทำประชามติแบบชั้นเดียว โดยไม่ต้องลงประชามติสองชั้นเหมือนกับร่างเดิมของ คสช.

นพ.เปรมศักดิ์กล่าวต่อว่า ดังนั้น ส่วนตัวตนเห็นว่าถูกต้องแล้วที่การทำประชามติเหลือชั้นเดียว เพราะประหยัดงบประมาณ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ ไม่ใช่ล็อกสองชั้นจนไม่อาจจะแก้ไขได้เลย ซึ่งบางเรื่องในอนาคตก็อาจจะมีความจำเป็น อะไรก็ตามการถามประชามติต้องถามประชาชนก่อนเพราะฉะนั้นความเห็นของประชาชน ในเมื่อมีความเห็นเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไรตนก็เห็นด้วยว่าควรจะเป็นไปตามนั้น โดยไม่ต้องมาถามหลายครั้งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร

เมื่อถามว่า การที่ กมธ.ฯกลับลำอาจถูกมองได้ว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง เพราะไม่ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า แน่นอนว่ามีเบื้องหลัง เหมือนมีใครอยากเปลี่ยนแนวคิดนี้แบบกลับหลังหัน เพราะก่อนหน้านั้นที่ตนได้ยินมาจากระดับ ส.ส.ก็เป็นเอกภาพกันดี แต่เมื่อเข้าวุฒิสภา กลับเปลี่ยนให้เป็นดับเบิลล็อก ทำให้ไม่สามารถที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย เพราะเมื่อดูบริบทของสังคมไทยถ้าทำให้ยากจนไม่สามารถจะแก้ไขได้ก็เหมือนกับปิดประตูตายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Advertisement

“จริงๆ แล้วอาจจะดูเหมือนเจตนาต้องการรักษารัฐธรรมนูญไว้ แต่จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญถ้ามีจุดที่ไม่สอดคล้องกับสังคมก็ต้องเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ต้องตายตัวเสมอไป เพราะเราก็แก้รัฐธรรมนูญมาเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่เคยแก้ ยุคสมัยใดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็แก้ไขกันมา แต่สำคัญคืออย่าไปแตะเรื่องสถาบันสูงสุดแค่นั้น”  นพ.เปรมศักดิ์กล่าว

ต่อข้อถามว่า มองว่าคนที่อยู่เบื้องหลังต้องการอะไร นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า ต้องการที่จะคงรัฐธรรมนูญไว้ให้เหมือนเดิม ซึ่งอาจจะถูกมองได้ว่าได้ประโยชน์เต็มที่อยู่แล้วก็ได้ ไม่อยากให้แก้เพื่อไม่อยากให้กระทบกับผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ตรงนี้ภาพมันชัดอยู่แล้วเพราะถ้าแก้อาจจะกระทบได้ แต่เสียงส่วนใหญ่ใน ส.ว. เราก็ทราบกันอยู่ว่าอยู่ภายใต้อะไร เพราะฉะนั้นก็ชัดเจนตั้งแต่มีการให้ความเห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่จำเป็นควรที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องโยงกันแบบนั้น เพราะเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทยต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ มาจากความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ตรงกันจนเกิดวิกฤตแล้วมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมามากมายหลายครั้งในอดีต ตนอยากให้เรามองอนาคตยาวๆ ไม่อยากให้เอามาเป็นเกมเล่นเฉพาะหน้าแบบนี้ทำให้ตายตัวจนทำให้มองว่ารัฐธรรมนูญข้าใครอย่าแตะหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image