’จาตุรนต์‘ ล้อมวงคุยปม 6 ตุลาฯ ’ตะวัน-แก๊ป ทะลุแก๊ซ‘ ร่ายบทกวี 3 นิทรรศการพรึบ มธ.

‘จาตุรนต์’ ล้อมวงคุ้ยความทรงจำ 6 ตุลาฯ ‘ตะวัน-แก๊ป’ ร่ายกวี ขอเดิมพันชั่วชีวีเพื่อทวงคืน ‘วงดาวเหนือ’ ขับขาน

ในวาระครบรอบ 48 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โศกนาฏกรรมสังหารหมู่กลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการปราบปรามนักศึกษา ประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการกลับมาของ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกขับไล่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายนักศึกษาจัดงานรำลึกครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ร่วมกับ ชมรมโดมรวมใจ จัดงานรำลึกครอบรอบ “6 ตุลาฯ กระจกส่องสังคมไทย” ระหว่างวันที่ 5 – 6 ตุลาคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในงาน บริเวณโถงทางขึ้นหอประชุมศรีบูรพา ยังมีการจัดนิทรรศการ ชุดที่ 1 ‘ต่างความคิดผิดถึงตาย : บอกเล่าเรื่องราวภาพถ่ายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยังมีป้ายขนาดใหญ่ที่เขียนรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ตลอดจนหนังสือพิมพ์ และหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง และสินค้าสนับสนุนการเคลื่อนไหว ขององค์กรภาคประชาสังคม ร่วมวางจำหน่ายภายในงาน นอกจากนี้ ยังมีนักกิจกรรมจากกลุ่มต่างๆ ร่วมด้วย อาทิ กลุ่มทะลุแก๊ส ทะลุวัง ได้แก่ นายคทาธร ดาป้อม หรือ ต๊ะ, นายจิรภาส กอรัมย์ หรือ แก๊ป ทะลุแก๊ส และ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน เป็นต้น โดยติดภาพ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง กลุ่มทะลุวัง ซึ่งอดอาหารเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม พร้อมภาพ จดหมายจากผู้ต้องหาในเรือนจำ ซึ่งขณะนี้มีผู้ต้องหาทางการเมือง ที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวกว่า 40 ราย

ADVERTISMENT

บรรยากาศเวลา 12.00 น. ภายในหอประชุมศรีบูรพา มีการฉายภาพยนตร์สารคดี ‘ต่างความคิดผิดถึงตาย’

จากนั้นเวลา 13.00 น. เข้าสู่ช่วงเสวนา ในหัวข้อ “เดือนตุลานอกกระแส : บางแง่มุมของขบวนการเดือนตุลาที่ไม่เคยเห็น” โดย นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน และผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช., และ นางพรพิมล โรจนโพธิ์ นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น ท่ามกลางประชาชน นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่ นักวิชาการ ตลอดจนนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง หลายรุ่น และผู้ที่เป็นเยาวชนเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ร่วมด้วย

ต่อมาเวลา 15.00 น. มีการฉายภาพยนตร์สารคดีด้วยความนับถือ (Respectfully yours) หนังสารคดี “ด้วยความนับถือ” (Respectfully Yours) ถูกจัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา โดยนำเสนอ เรื่องราวของผู้เสียชีวิตในฐานะมนุษย์ที่ทรงคุณค่าคนหนึ่ง ก่อนจะถูกทำลายลงอย่างอำมหิต ผ่านการบอกเล่าจากเพื่อนและคนในครอบครัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนหนึ่ง ญาติของผู้เสียชีวิตกล่าวด้วยว่า ไม่คิดว่าลูกหลานของตัวเอง จะเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วต้องตายแบบนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้นำคนมีมาลงโทษ

ต่อมาเวลา 15.30 น. มีการฉายภาพยนตร์สารคดีอย่าลืมฉัน (Don’t Forget Me) หนังสั้นที่ได้รางวัลรัตน์ เปสตันยีในปี 2546 ความโดดเด่นของหนังอยู่ที่การนำภาพฟุตเทจเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาตัดเข้ากับเพลง ‘อย่าลืมฉัน’ ของวงชาตรี และใช้เสียงบรรยายจากสารคดีผีตองเหลือง เป็นความขัดแย้งที่เสียดสีสภาพการเมืองไทยได้อย่างเจ็บปวด

เวลา 15.00 น. ที่โถงชั้นล่าง มีการเปิดวงร่วมพูดคุยและฟังเรื่องราวของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคมฯ ในกิจกรรม Human Library ท่ามกลางบุคคลที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวในช่วงเวลานั้น มาร่วมล้อมวงบอกเล่าและพูดคุยประสบการณ์ของตัวเอง โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มต่างๆ ตามหัวข้อ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 นักเรียน นำโดย มนัส จินตนะดิลกกุล นักเรียนสวนกุหลาบฯ ผู้ก่อตั้งยุวชนสยาม (2515), พลากร จิรโสภณ เลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย (ปลายปี 2516-เมษายน 2517)

กลุ่มที่ 2 นิสิตนักศึกษา นำโดย สิตา การย์เกรียงไกร ประธานสภาตุลาการองค์การมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2519, จาตุรนต์ ฉายแสง นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2519, ชูศิลป์ วะนา ประธานพรรคสัจจธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีการศึกษา 2519

กลุ่มที่ 3 ผู้ทำงานด้านดนตรี/ศิลปะ นำโดย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ นักดนตรีวงต้นกล้า

กลุ่มที่ 4 พรรคการเมือง นำโดย ประยงค์ มูลสาร สส.พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย (2518)

กลุ่มที่ 5 ผู้ผลักดันสิทธิสตรี นำโดย สุนี ไชยรส, เนตรนภา ขุมทอง นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล หน่วยพยาบาลเพื่อมวลชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

กลุ่มที่ 6 คนทำงานหนังสือ นำโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนชมรมพระจันทร์เสี้ยว บรรณาธิการวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์,  กมล กมลตระกูล สมาชิกสภาหน้าโดม กองบรรณาธิการวารสารวรรณกรรมเพื่อชีวิตและวารสารชาวบ้าน

ต่อมาเวลา 16.00 น. มีการแสดงดนตรีโดยรวมพลคนเพลง 6 ตุลาฯ โดย วงดาวเหนือ กับมิตรสหาย และวงริมทาง

โดยก่อนเริ่ม กลุ่มทะลุแก๊สร่วมขับร้องกับ ‘หนวดริมทาง‘ หลายบทเพลงความท่อนหนึ่งขับขานบทเพลงที่มีเนื้อหาอาลัยการจากไป ของ น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง

โดยมี น.ส.ทานตะวัน ร่วมอ่านบทกวี ความท่อนหนึ่งระบุถึงวันเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร ที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วงในเรือนจำ เดิมพันด้วยชีวิต เชื่อมโยงกับเหตการณ์ 6 ตุลาฯ ความท่อนหนึ่งว่า

’14 พ.ค.เวลาสาย ใจสลาย แหลกราน….‘

‘ความฝันดับสิ้น สูญสลาย 6 ตุลาฯ ปีศาจร้าย เร้นกายแฝง สิงร่างมนุษย์ …. ขอเดิมพันชั่วชีวี เพื่อทวงคืน’

ด้าน หนวดริมทาง กล่าวว่า ขอมอบเพลงนี้ให้เพื่อนที่จากไป และเสียสละเพื่อพิสูจน์ความจริงบางอย่างให้สังคมได้รับรู้ นอกจากนี้ยังเขียนเพลงใหม่ ‘อุดมการณ์ที่ถูกฆ่า (จากศรัทธาของสังคม’ มอบให้คนหนุ่มสาวที่เคลื่อนไหวในยุคก่อน และยุคปัจจุบันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในสังคม ก่อนต่อด้วยเพลง ’หัวใจของเราเสรี‘ ของ ไททศมิตร เนื้อหาสะท้อนถึงการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ ไม่ยอมน้อมรับความอยุติธรรม ซึ่งถูกนำมาขับร้องในการชุมนุมบ่อยครั้ง

ด้าน นายจิรภาส กอรัมย์ หรือ แก๊ป อ่านกวีท่อนหนึ่งความว่า

‘คนรุ่นหลัง ไม่ลืม 6 ตุลาฯ ใช้อำนาจมืดคอยชักใย ซากศพ เสียงหัวเราะ ทำความเป็นคนศูนย์สลาย กว่า 41 ชีวิตถูกฆ่าอย่างโหดร้าย กว่าร้อยเจ็บปางตายกลางถนน’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนิทรรศการบริเวณโถง หอประชุมศรีบูรพาแล้ว ยังมีการจัดแสดงอีก 2 จุด คือที่สนามฟุตบอล และ หอสมุดปรีดี พนมยงค์

นิทรรศการที่ 1 นิทรรศการต่างความคิดผิดถึงตาย : นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวภาพถ่ายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯมจัดแสดงบริเวณโถงทางขึ้นหอประชุมศรีบูรพา (วันที่ 1 – 5 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 09.30 – 16.30 น., วันที่ 6 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 09.30 – 17.00 น.)

นิทรรศการที่ 2 นิทรรศการ ณ 6 ตุลา 2519 : ให้ผู้ชมสามารถเดินไปตามจุดต่างๆ ในสนามฟุตบอลโดยมีการจัดแสดงภาพอะคริลิคของเหตุการณ์ในสถานที่จริง จัดแสดงบริเวณสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนิทรรศการกลางแจ้งเปิดให้ชมตลอดวัน

นิทรรศการที่ 3 นิทรรศการ 6 ตุลาฯ กระจกส่องสังคมไทย : โซนที่ 1 ร้อยเรียงเรื่องราวเล่าการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ว่ากว่าจะมาเป็น 6 ตุลาคม 2519 ได้ยังไงและการต่อสู้ของแต่ละประเด็นตลอดช่วงเวลานั้นไม่ว่าจะเป็นเพศ แรงงาน สิ่งแวดล้อม จักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจ ชาวนา

โซนที่ 2 ความทรงจำในอดีต รวบรวมคำพูด หนังสือ สิ่งของจำลอง มาจัดแสดงพร้อมกิจกรรมที่ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมเพื่อเข้าถึงเหตุการณ์ได้เต็มที่

จัดแสดงบริเวณหอสมุดปรีดี พนมยงค์ วันที่ 1 – 5 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 09.30 – 16.30 น. วันที่ 6 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 09.30 – 20.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image