คนเดือนตุลาฯ เล่าการฮึดสู้ของ ’ผู้หญิง‘ จากยุคถูกเปรียบเป็นควาย สู่ยุคเคียงบ่าผู้นำชาย

อดีตน.ศ.เข้าป่า เล่าการฮึดสู้ของ ’ผู้หญิง‘ เคยถูกเทียบเป็นควาย มี ‘แม่แก่’ ดูแลขบวนไม่ให้ออกนอกลู่

ในวาระครบรอบ 48 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โศกนาฏกรรมสังหารหมู่กลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการปราบปรามนักศึกษา ประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการกลับมาของ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกขับไล่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายนักศึกษาจัดงานรำลึกครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ร่วมกับ ชมรมโดมรวมใจ จัดงานรำลึกครอบรอบ “6 ตุลาฯ กระจกส่องสังคมไทย” ระหว่างวันที่ 5 – 6 ตุลาคมนี้

บรรยากาศเวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “เดือนตุลานอกกระแส : บางแง่มุมของขบวนการเดือนตุลาที่ไม่เคยเห็น” โดย นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน และผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช., และ นางพรพิมล โรจนโพธิ์ นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ADVERTISMENT

โดย นางพรพิมล กล่าวถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี   ว่าการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย เมื่อก่อนผู้หญิงถูกเทียบว่า เป็น ‘ควาย’ ผู้ชายเป็น ‘คน’ ถ้าไม่มีการต่อสู้จากอดีต อย่างเช่นในสมัยรัชกาลที่ 4 อำแดงเหมือน ก็สู้เรื่องการขอมีสิทธิเลือกคู่ครอง และไม่ยอมให้ผัวขายเมียไปเป็นทาส จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ไม่ให้อำนาจอิสระกับพ่อแม่ ในการขายลูก และเกิด พ.ร.บ.ผัวเดียว-เมียเดียว

ในปี 2475 มีการต่อสู้เพื่อยกระดับสิทธิสตรี ผู้หญิงหัวก้าวหน้าลุกขึ้นมาทำงานกับ ‘กรรมกรหญิง’ ก่อตั้งสมาคมสตรีไทยแห่งสยาม ทำงานกับผู้หญิงบริการทางเพศด้วย กระทั่งยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ องค์การสหประชาชาติ (UN) โดย ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม (ภรรยาจอมพล ป.)  ได้ไปร่วมประชุม จนเกิดความก้าวหน้าระดับหนึ่ง ทางรัฐบาลสนับสนุนให้ผู้หญิงตั้งองค์กรขึ้นมา มีความก้าวหน้าในช่วงนั้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาร่วมต่อสู้กับ กรรมกร

ADVERTISMENT

นางพรพิมลกล่าวถึง จุดที่ก้าวหน้าสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน คือการต่อสู้ของผู้หญิง ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการจัดตั้งกลุ่มผู้หญิงจุฬาฯ และผู้หญิงธรรมศาสตร์ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในมหาวิทยาลัย ต่อสู้เรื่องเช่นว่า ขอใส่กางเกงมาเรียนได้ เป็นต้น

อีกช่วงคือ รัฐบาลจะจดทะเบียนหญิงบริการทางเพศ ตอนนั้นผู้หญิงคัดค้าน เพราะมองว่าเป็นการตีตรา ตลอดชีวิตจนมีลูก ลูกก็จะรู้ว่าแม่เคยเป็นหญิงขายตัว

นอกจากนี้ ยังมีอีกช่วง ที่เรียกว่าการต่อสู้ค่อนข้างฮือฮามาก คือ ‘การคัดค้านประกวดนางงาม’ กลุ่มอิสระต่างๆ ก็คัดค้านด้วยว่า เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เปรียบเสมือนสินค้า วัตถุที่มาโชว์ตัวเดินไป-มา ไปถือป้าย ก็มีการไปแจกใบปลิวรณรงค์เรื่องนี้

พอมาถึงยุค 14 ตุลาฯ ให้หลัง เริ่มขยายความคิดไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ส่วนใหญ่ใช้คำว่า กลุ่มผู้หญิง (ต่อท้ายด้วยชื่อมหาวิทยาลัย) รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหว โดยแต่ละมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป แต่เห็นร่วมกันว่าจะเป็นประโยชน์กับการเคลื่อนไหว

 

นางพรพิมลกล่าวต่อว่า ในแง่ของการทำงานของกลุ่มผู้หญิง รวมๆ แล้วมีประมาณ 10 สถาบัน อย่าง ม.เชียงใหม่ (มช.) เป็นมหาวิทยาลัยภูธร ก็จะมีกิจกรรมกับคนท้องถิ่น บนดอยประจำ ส่วนในกรุงเทพฯ ทำงานกับกรรมกร ต่อมา มช. ร่วมกับ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ และวิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ ตั้งเป็น ‘ศูนย์กลางนักเรียนนักศึกษาภาคเหนือ’

“ความคาดหวังในช่วงนั้น ต้องยอมรับว่าเราเคลื่อนไหวหนักมาก กับผู้นำชาย วิธีการไปคุยกับกลุ่ม แม่, เด็ก จะแตกต่างกับผู้ชาย เราจะซอยผม กินส้มตำอะไรไป ขณะที่ผู้ชายคุยเรื่องหนัก”

นางพรพิมลเผยว่า เมื่อรวมตัวกับ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ที่มีประเด็น ค่าเช่านา ที่ทำกิน ทำให้เกิดความไม่พอใจ ผู้นำชาวนาถูกลอบทำร้าย ยิงเสียชีวิต เกือบ 40 ราย บางครั้งไปกินข้าวกับชาวบ้าน วันดีคืนดี มีอันธพาลขึ้นบ้าน โดนข่มขู่ จนรู้สึกอยู่ไม่ไหว เมื่อเกิด 6 ตุลาฯ ก็ทำให้การตัดสินใจทำได้ง่ายขึ้น ขณะที่เราเคลื่อนไหวเพื่อกฎหมาย ขอแค่ให้บังคับใช้เท่านั้นเอง ยังถูกข่มขู่คุกคามขนาดนี้ ทำไม 6 ตุลาฯ เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงจะไม่ตัดสินใจแบบนั้น (เข้าป่า)

“กลุ่มผู้หญิง ถูกมองเป็นกลุ่มเล็กๆ น่ารัก แต่จริงๆ  แล้วเป็นพลังสำคัญ ทำให้ขบวนมีระบบมากขึ้น ประสบการณ์ใช้ชีวิตของคนทั้ง 2 เพศ ต่างกัน จะมี ‘แม่แก่’ ที่คอยมาเตือน สอดส่อง เวลาจะทำอะไรไม่ดีกับเพื่อนข้ามเพศร่วมอุดมการณ์ ผู้หญิงช่วยให้ขบวนไม่เลอะเทอะ เกิดกฎ 3 ข้อขึ้นมา จนก็มีคนตะโกนมาด้วยว่า ‘ถ้าปฏิวัติไม่เสร็จ กูไม่แต่งงาน’ “

“คนจะมองว่าพวกเข้าป่า จะมั่วกัน แต่ที่ไหนได้จะมี ‘แม่แก่’ คอยดูแลเช่นว่า ‘เมื่อกี้มัน (ผ.ช.) มาคุยอะไรกับเอ็ง’ ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญทำให้ขบวนไม่เหลวไหล แต่ก็จะมีผู้ชายเจ้าสเน่ห์ อย่าง คุณจาตุรนต์ ฉายแสง แต่คุณจาตุรนต์ไม่หลายใจ รักเดียวใจเดียว ออกจากป่าถึงจะแต่งงานอีกครั้ง เป็นผู้ชายที่ดี ที่พวกแม่แก่ ให้การยอมรับและยกย่อง” นางพรพิมลกล่าว และว่า

ในสังคมตอนนี้ก็มีประเด็นผู้หญิงหลายประเด็น อย่าง ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องของผู้หญิงและเด็ก ในปีหนึ่งๆ ถูกทำร้ายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว กลุ่มนักศึกษา จึงควรเข้าร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นเหล่านี้ต่อไป

“แรงงานหญิง ควรเป็นประเด็นหนึ่งที่นักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ควรให้ความสนใจ สวัสดิการ ค่าแรง เพื่อขับเคลื่อนสวัสดิการของเด็กเล็ก และสังคม ต้องพึ่งพวกเราอีกมาก

อีกเรื่องที่น่าเข้าไปมีส่วนร่วม คือ จัดทำรายงานอนุสัญญาสตรี (ทุก 4 ปี) ซึ่งเราได้ให้การรับรองกับสหประชาชาติ ช่วงปี 2004 ก่อนทำรายงาน ได้เข้าไปหาผู้หญิงกลุ่มต่างๆ แรงงานหญิงนอกระบบ, ข้ามชาติ, ชาวเขา ที่เป็นกลุ่มรากหญ้า นอกวงความสนใจของสังคม เราไปศึกษาปัญหา ความต้องการ ทำรายงานเสนอภาครัฐ 

ขณะเดียวกัน มันก็เหมือนกับการให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐ ต้องแก้ไขปัญหาของผู้หญิงเหล่านี้ ให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ โลกเปลี่ยนแปลงด้วยคนส่วนน้อย ที่มีความชัดเจน” นางพรพิมลกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image