ใบตองแห้ง แนะคนเดือนตุลา หนุนเจนใหม่ แต่อย่าไปชี้นำ เลิกมองตัวเอง ‘รู้ดี’
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “ครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ว่ามีผู้ทยอยเดินทางมาร่วมรำลึกอย่างต่อเนื่อง
เวลา 13.30 น. ที่หอประชุมศรีบูรพา มีเสวนาหัวข้อ “คนเดือนตุลาหลังเดือนตุลา : การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางการเมืองของคนเดือนตุลาหลังทศวรรษ 2520” วิทยากรได้แก่ นายอธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์ชื่อดัง และ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ในตอนหนึ่ง นายอธึกกิตกล่าวว่า การกลับมาจัดงานรำลึก 6 ตุลาในหลายปีนี้เพราะการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในการชุมนุมปี 2563 เหมือนกับมองเห็นตัวเอง แม้คิดต่างกันหลายอย่าง รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าคนรุ่นใหม่โอบรับคนรุ่น 6 ตุลา แต่ไม่ได้เห็นว่าเป็นวีรบุรุษ แต่มี “จุดร่วม” คือการเป็นคนที่ตื่นตัวทางการเมือง ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือเราควรให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ แต่อย่าไปชี้นำ อย่าไปบอกว่าตัวเองรู้ดีกว่า เก่งกว่า ไปบอกว่าเขาไร้เดียงสา นี่คือปัญหา
นายอธึกกิตกล่าวด้วยว่า เรื่องคนเดือนตุลา ปี 2549 มีความขัดแย้ง แตกกันจากเหนือจรดใต้ แตกกันระดับกรุงเทพฯ แตกกันระดับเขตงาน แต่ตนคิดว่าหลังจากนั้นก็จบ คนเดือนตุลาเป็นตัวหนุนอยู่ใน 2 ขั้วที่เกิดปะทะกัน แน่นอนว่า เราต้องยืนยันว่าฝ่ายที่เชียร์รัฐประหารนั้นผิด เพราะเป็นการทำลายประชาธิปไตย พอถึงปี 2566 ตนก็แซวว่าการข้ามขั้วตระบัดสัตย์เป็นการทรยศอุดมการณ์เดือนตุลาหรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์เดือนตุลาเลย แต่เป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยปกติมากๆ ของนักการเมือง เมื่อหาเสียงอย่างไร ก็ต้องรักษาคำมั่นสัญญา
“มันไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับเดือนตุลาอะไรเลย คนเดือนตุลาเอง ผมว่ามันก็จบไปเยอะ เป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่า ต้องยอมรับว่าเขามีพันธะต่อพรรคการเมือง ต่อผู้นำพรรคของเขา ต่อคนที่เขาร่วมหัวจมท้ายมาตั้งแต่ปี 2544 คือ 20 กว่าปีมาแล้ว ผมคิดว่าเขาสร้างผลงานหลายอย่างที่เป็นคุณูปการอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นมรดก 6 ตุลา มาจากหมอมหิดล หลายคนมีส่วนช่วย คนส่วนหนึ่งคิดว่าเขามีพันธะ เขารู้สึกว่าผู้นำของเขาไม่ได้รับความยุติธรรม มีพันธะที่ต้องพากลับบ้าน
ประเด็นคือว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของคนเดือนตุลาอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องระหว่างพรรคการเมืองกับพรรคการเมือง และพรรคการเมืองกับคนรุ่นใหม่ พรรคการเมืองอยากได้อำนาจ อยากเป็นรัฐบาล เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่คนหมั่นไส้คือการอธิบายด้วยภาษาฝ่ายซ้ายเก่า เป็นความพยายามอธิบายในเชิงอุดมการณ์ สะท้อนวิธีคิดแบบที่หวังว่าตัวเองจะนำไปสู่การประนีประนอม ทำให้เกิด 66/23 ใหม่ แต่เอาเข้าจริงก็ถูกวิพากษ์ เพราะคนที่เลือกอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงมากกว่า มีเพดานสูงกว่า และไปให้ความหวังพวกเขา” นายอธึกกิตกล่าว
นายอธึกกิตยังกล่าวถึงอุดมการณ์คนเดือนตุลาว่า เริ่มจากเรื่องเสรีภาพ ความเป็นธรรม เมื่อ 6 ตุลากระโดดข้ามไปสู่สังคมนิยม โค่นล้มสังคมทราม มุ่งหมายเอาธงชัยมาปัก พรึบเดียวแตกสลาย อุดมการณ์ที่ยึดมั่นร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มันแตก เกิดวิกฤตศรัทธาอย่างรุนแรงต่อพรรคคอมมิวนิสต์ พอเกิดการปะทะกันทางความคิด เกิดท่าทีที่รุนแรง สุดท้ายสิ่งที่ตามมาคือการล่มสลายโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น อุดมการณ์ที่พูดกันมันแตกหมด มันดับหมดเลย ชีวิต 4-5 ปีที่อยู่ในป่า เสียสละ อดทน ต่อสู้ ยอมพลีชีวิต เป็นช่วงชีวิตที่จนตายก็ไม่ลืม เป็นความใฝ่ฝันที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ต้องนับหนึ่งใหม่ และคนที่นับหนึ่งใหม่ต่างคนต่างไป บางคนไปทำธุรกิจ บางคนทำงานภาคประชาสังคม บางคนเป็นนักวิชาการ บางคนเป็นสื่อ บางคนเป็นนักการเมือง
“ความเป็นคนเดือนตุลามันจบไปรอบหนึ่งแล้ว ประมาณว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเขาไปสู่ชีวิตใหม่ ไปสู่เส้นทางใหม่ แต่เส้นทางใหม่ของเขามีอะไรที่ต้องเรียกร้องอยู่บ้าง ซึ่งผมคิดว่ามันเอามาตรของคนเดือนตุลามาตรเดียวกันไปวัดไม่ได้ มันวัดได้ตรงที่ว่าตกลงแล้วคุณยังรักษาจรรยาบรรณห รือศีลของคนเดือนตุลาไว้หรือเปล่า” นายอธึกกิตกล่าว