“ภูมิธรรม” เผยตั้ง”ฉัตรชัย“คุมสมช.ให้คนในโชว์ฝีมือ-สร้างกำลังใจหน่วยงาน สานต่อคุยสันติสุข เชื่อ “ใช้การเมืองนำ-พัฒนาชีวิต-สร้างเศรษฐกิจในพื้นที่“ แก้ปัญหาใต้ได้
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีที่ คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า หากดูประวัติของการเข้ามาเป็นเลขาฯสมช.ส่วนใหญ่จะเป็นคนนอกที่เข้ามา และปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอาคนที่ผิดหวังจากตำแหน่งเข้ามา และการแต่งตั้งครั้งนี้ยอมรับว่า มีการเสนอมาหลายส่วน แต่ตนอยากให้โอกาสคนภายในที่เติบโตมาจากด้านการข่าว เป็นมืออาชีพ ได้ใช้ฝีมือพิสูจน์ให้เห็นว่า คนภายในก็ทำได้ดีไม่น้อยกว่าใคร และจะทำให้ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายของคนในหน่วยงานมีความเป็นปกติ เป็นระบบมากขึ้น หากต้องใช้คนนอกบางทีข้างในก็ไม่มีขวัญและกำลังใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมอบหมายให้นายฉัตรชัย เป็นหัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุขชายแดนภาคใต้ ต่อหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ได้ให้นโยบายไปว่า การประสานงานและพูดคุยกันเป็นวิถีในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง และเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงต้องเอาการเมืองนำการทหาร และในทีมที่นายฉัตรชัย ทำอยู่ยังสามารถประสานงานต่อเนื่องได้ โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นด้วยว่า คนที่มาคุยกันสามารถเป็นตัวแทนที่ทำให้เกิดผลสำเร็จหรือไม่ หากคุยแล้วไม่เป็นผลสำเร็จ ต้องนำไปทบทวนและประเมิน ทั้งนี้ได้เรียนกับทุกฝ่ายว่า เรื่องนี้น่าจะมีโอกาสจบได้ง่ายขึ้น เพราะเยิ่นเย้อมานาน ซึ่งฝ่ายการเมืองของหน่วยที่จะเข้ามาประสานงาน ก็อยากเห็นความสงบเช่นกัน จึงคิดว่าเขายังดำเนินต่อได้และจะหาวิธีการอื่นไปด้วย
เมื่อถามถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาพื้นที่ 3 จชต. นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องทำงานเรื่องการเมือง และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย ที่มีกฎหมายรองรับอยู่ แต่ ต้องพูดคุยเพราะมีหลายเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้บางเรื่องที่ผ่อนปรนได้และจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีก็ควรทำ และดูเรื่องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมและหลายชุมชนมาร่วมตัวทำเรื่องเศรษฐกิจ ให้เลี้ยงดูชุมชนได้ นอกจากนั้น ยังให้นโยบายแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอาหาร
ฮาลาล ที่นักลงทุนยังไม่กล้าเข้ามา เราต้องหาทางแก้ไขปัญหา โดยเอื้อประโยชน์ต่อการทำมาหากินเลี้ยงชีวิตของชาวมุสลิม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือชาวพุทธ สิ่งนี้จะทำให้ปัญหาความรุนแรงทุเลาลง