‘เอกนัฏ พร้อมพันธุ์’ กางภารกิจ ปฏิรูปอุตฯ-ยุติวงจรกากพิษ

‘เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ’กางภารกิจ ปฏิรูปอุตฯ-ยุติวงจรกากพิษ

หมายเหตุนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงนโยบายการทำงานขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย ที่เผชิญปัญหาโครงสร้างการผลิตที่อาจไม่ตอบโจทย์โลก ความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทยลดลง และปัญหากากพิษที่กระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

ช่วยขยายภาพ 3 นโยบายเร่งด่วนและแนวทางสู่ผลสำเร็จ

ผมประกาศเดินหน้า 3 นโยบายสำคัญ ประกอบด้วย 1.การกำจัดขยะมลพิษที่ทำร้ายชีวิตประชาชนหลายที่หลายจุด 2.เดินหน้าปกป้องอุตสาหกรรม จากพฤติกรรมการบิดเบือนตลาด การทุ่มตลาด เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งเซฟอุตสาหกรรมไทย ต้องช่วยธุรกิจขนาดเล็ก ให้ทำมาค้าขายด้วยระบบโปร่งใส และ 3.การพัฒนาอุตสาหกรรมให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจยุคใหม่ให้เติมเต็มห่วงโซ่อุตสาหกรรมในปัจจุบัน เพื่อให้อุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 

Advertisement

ผมกล่าวในวันเข้ารับตำแหน่งว่าพร้อมทำทันที แต่ความจริงผมทำการบ้าน หารือร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาชนไปก่อนแล้ว เพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดจนตกผลึกว่า หลังจากนี้ภาคอุตสาหกรรมต้องมีความรับผิดชอบเรื่องกากพิษหรือสารพิษให้มากขึ้น เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกตระหนัก หากควบคุมได้จะสร้างโอกาส แต่หากไม่เปลี่ยนก็น่าเสียดายถ้าประเทศไทยจะตกขบวน ดังนั้นไทยต้องเร่งสร้างโอกาส สร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ 

แม้ดูเป็นเรื่องยาก แต่ผมชอบทำเรื่องที่คนไม่คาดคิดว่าเราจะทำได้ ยกตัวอย่างเรื่องการแก้ไขกฎหมาย การเพิ่มโทษอาญา เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน เป็นการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม ต้องแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจมีความรับผิดชอบชัดเจน ปัจจุบันได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว มีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธาน

Advertisement

โดยปัญหามลพิษ ผู้ประกอบการต้องมีส่วนรับผิดชอบไม่ควรเป็นงบกลางจากเก็บเงินภาษีประชาชนไปจัดการปัญหาที่ประชาชนไม่ได้ก่อ ระบบคุณต้องถูกต้อง ต้องมีเงินก้อนหนึ่งที่เป็นหลักประกัน ใช้เยียวยาประชาชนได้ทันทีกรณีผู้ประกอบการสร้างความเสียหายต่อภาคประชาชน งบประมาณส่วนนี้จะอยู่ในกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรม คาดว่าจะใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาประมาณ 4 เดือน ใช้วิธีออกกฎหมายขึ้นมาใหม่ฉบับหนึ่งแต่ทุกอย่างมีซิงค์กันหมด เมื่อเกิดผลสำเร็จจะทำให้เกิดระบบใหม่ขึ้น 

อย่างเรื่องกากอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ไม่ต้องไปยืมกฎหมายคนอื่นมาใช้ ส่วนโทษสำหรับคนกระทำความผิด โทษปรับต้องอัพเดต โทษหนักขึ้น ค่าปรับเพิ่มขึ้น นำเงินค่าปรับมาใส่กองทุน เพื่อเป็นหลักประกันใช้เยียวยาผู้เสียหาย ไม่ต้องรอของบกลาง หรือไม่ต้องรอฟ้องศาล เพราะกระบวนการทางศาลกว่าจะเสร็จ คนเจ็บหรือตายกันก่อน แบบนี้ไม่ถูกต้อง 

สำหรับกองทุนไม่จำกัดแค่การเยียวยา อีกภารกิจคือการส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก ให้ปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ Digital transformation หรือการ Go Green จะทำยังไงให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องปรับตัวตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป รัฐบาลต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก 

อุตสาหกรรมไทยต้องมุ่งเซ็กเตอร์เป้าหมาย คือ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ การป้องกันประเทศ และเกษตรมูลค่าสูง หรือ BCG และอุตสาหกรรมที่ต้องดูแลคือ เหล็ก เพราะเป็นฐานของทุกอุตสาหกรรม ผมไม่ได้
มองแค่ดึงโรงงานขนาดใหญ่หรือธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามา แต่มองความพร้อมเอสเอ็มอีไทยด้วย ถ้าเอสเอ็มอีไม่พร้อม สุดท้ายโอกาสก็ไปกระจุกอยู่ที่กลุ่มโรงงานใหญ่อยู่ดี เกิดปัญหาไม่จ้างงานคนไทย แรงงานไทยต้องมีทักษะตอบโจทย์อุตสาหกรรม ผมจะนำงบประมาณจากกองทุนมาพัฒนาทักษะของเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ในการพัฒนาเอสเอ็มอี ผมจะใช้กลไกของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าสนับสนุน ขณะนี้ผมได้คุยกับ กนอ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างเป็นรูปธรรม

ผมจะตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอี หลักการง่ายๆ คือจะสร้างตลาดใหม่ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรม ดึงโรงงานขนาดใหญ่เข้ามาในนิคม จากนั้นจะจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีประมาณ 3% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยรัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรม อว. การนิคมฯ จะส่งเสริมเรื่องงบประมาณในการลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สาธารณูปโภคที่ทันสมัย มีส่วนกลางในการกำจัดกากพิษให้ได้มาตรฐาน และส่งเสริมพลังงานสะอาด และรัฐบาลจะเป็นผู้ส่งเสริม เตรียมพร้อมเอสเอ็มอี ตั้งแต่การบ่มเพาะ การแมตชิ่งกับธุรกิจขนาดใหญ่

ทั้งหมดนี้ต้องไปด้วยกัน นอกจากเปิดตลาดเอสเอ็มอี ยังเป็นการเซฟเอสเอ็มอีไทย และดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลชุมชน โรงงานจะย้ายไปใกล้ลูกค้า ใกล้นิคมขนาดใหญ่ หรืออยู่ในพื้นที่มีกฎหมายบริหารจัดการชัดเจน ดูแลได้ง่ายแล้ว สร้างค่านิยมง่ายตรวจตาดูแลวัดมลภาวะง่ายขึ้น เปรียบเหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

กระทรวงแก้ไขกฎหมายโรงงานแต่สะดุด จะสำเร็จยุคนี้หรือไม่

กรมโรงงานฯกำลังแก้ไขกฎหมายโรงงาน เจตนาดี แต่ความเป็น ส.ส. รู้ว่ากฎหมายแบบไหนออกได้ แบบไหนออกยาก หากส่งไปสภาถูกตีกลับแน่นอน เผลอๆ ไม่ผ่านกฤษฎีกา อาจต้องทบทวน แก้ไขใหม่ เรื่องแบบนี้ต้องมีเทคนิค โดยการแก้ไขกฎหมายกรมโรงงาน เรื่องใหม่คือความปลอดภัยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การตั้งกองทุนเพื่อดูแลประชาชน เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี ดังนั้นผมและทีมจึงดึงประเด็นนี้ออกมา และรวมกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ดึงขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามารวมด้วย ตลอดจนการเพิ่มโทษ ที่จะไม่มีแค่โทษปรับ แต่จะมีโทษอาญาเพิ่มด้วย ทั้งหมดนี้จะออกเป็นกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับ เพื่อใช้ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ

ภารกิจกองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมมีอะไรบ้าง เกิดประโยชน์อย่างไร

กองทุนปฏิรูปอุตสาหกรรมมี 2 ภารกิจหลัก 1.เรื่องการเยียวยาเอาเงินเก็บเงินจากผู้ที่ทำธุรกิจที่เสี่ยงต่อการสร้างผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ เก็บเงินมาเป็นหลักประกัน หากใครทำผิดก็ต้องมีการปรับเก็บเงินมา เพื่อนำรายได้ส่วนนี้มาเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 2.เรื่องการส่งเสริมผู้ประกอบการ ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมมีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐตั้งมานานเกือบ 10 ปี กองทุนนี้มีเงินอยู่กว่า 20,000 ล้านบาท ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ไปปล่อยกู้ ไม่ใช่ไม่ดี แต่ผมว่ามันทำให้ดีกว่านี้ 

ขณะนี้ภารกิจค่อนข้างชัดเจนว่ากระทรวงจะพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องทำให้เสร็จ ให้เร็ว ใช้เงินพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอี ไม่ใช่กองเงินไว้แบบนั้นเหมือนรักษาหน้าไปวันๆ และผมจะทำให้กองทุนนี้มีรายได้ เป็นรายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียมของคนที่ทำอุตสาหกรรม ถ้าอุตสาหกรรมสร้างปัญหา ต้องนำเงินของอุตสาหกรรมมาแก้ปัญหา จะไม่เพิ่มค่าธรรมเนียม ไม่ต้องการเพิ่มภาระให้คนที่ทำดี ผมจะแยกเลย คนดีเราต้องชม คนไม่ดีเราต้องจัดการ ค่าธรรมเนียมไม่ปรับขึ้น แต่โทษปรับขึ้นแน่นอน เรตค่าปรับปัจจุบันหลักแสนบาท แต่กากอุตสาหกรรมมูลค่าพันล้านบาท ต้องปรับใหม่ทั้งหมด ซึ่งค่าปรับเหล่านี้เมื่อเข้ากองทุน เผลอๆ รายได้กองทุนต่อปีอาจจะมีเงินเข้าเฉียดพันล้านบาทก็ได้

กฎหมายใหม่ใช้ชื่อ พ.ร.บ.ปฏิรูปอุตสาหกรรมหรือไม่ 

ยังต้องดูกันอีกครั้ง ภายใต้โจทย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมต้องจัดการหลายเรื่อง ทั้งการตั้งกองทุน แก้กฎหมาย แม้กระทั่งการสร้างความร่วมมือสร้างพันธมิตรทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ลำพังอุตสาหกรรมคงทำไม่สำเร็จแน่นอน หน่วยงานที่อยู่ในการกำกับดูแล ทั้งการนิคมฯ เอสเอ็มอีแบงก์ หน่วยงานอื่นๆ ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ต้องร่วมมือกันหมด 

นอกจากนี้ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน ได้หารือกับสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทย พบปัญหาขั้นตอนการตั้งนิคมฯใหม่มีความยุ่งยาก ต้องปรับให้เร็วที่สุดเพื่อความสะดวกของทุกฝ่ายให้ได้รับอานิสงส์ร่วมกัน ขณะเดียวกันเมื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่แล้ว กลุ่มนี้ก็ต้องช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วย จึงเป็นที่มาของการจัดสรรพื้นที่ 3% ในนิคมฯเพื่อให้เอสเอ็มอีตั้งลงทุน การทำในลักษณะแบบนี้อาจจะดูเหมือนกึ่งบังคับ แต่ไม่ใช่ เป็นเพียงกุศโลบายเท่านั้น เพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปสร้างสภาพแวดล้อม ส่งเสริมการลงทุนให้เอสเอ็มอีไทย เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างธุรกิจรายใหญ่กับเอสเอ็มอี เป็นอีโคซิสเท็ม ภาคเอกชนร่วมขับเคลื่อน โดยรัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริม ลดขั้นตอนต่างๆ ผลักดันเอสเอ็มอีที่ยังไม่พร้อมให้มีโอกาสเติบโต 

ในการทำงานช่วง 10 วันที่ผ่านมา ผมได้เดินสายพูดคุยเจรจา สื่อสาร ปาฐกกับวงในกระทรวงอุตสาหกรรม และนอกกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ผมตั้งใจพูดนโยบายที่ตั้งใจทำ ให้คนเห็นภาพและกลไกเดียวกัน ถ้าภาพกับกลไกชัด มีความเชื่อมั่นก็จะทำได้ เหมือนระบบคนทำมาค้าขายทางธุรกิจ บางทีอาจจะไม่เดินด้วยกฎกติกาแต่เดินไปด้วยความเชื่อมั่น ดังนั้นเราต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าเกิดขึ้นได้ ในที่สุดเมื่อความเชื่อมั่นเกิดขึ้น ทุกคนได้ประโยชน์จากตรงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image