‘สามารถ’ขอรัฐอย่าฝืนสร้างรถไฟตามข้อเสนอของจีน ชี้มีทางเลือกถูกกว่า-ดีกว่า

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ว่า

ช่วงนี้มีเสียงทักท้วงกันมากว่ารถไฟไทย-จีนมีราคาค่อนข้างแพง โดยมีราคาเฉลี่ย 607 ล้านบาท/กิโลเมตร รถไฟเส้นทางสำคัญนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางรถไฟคู่ ขนาดรางกว้าง 1.435 เมตร (รถไฟไทยในปัจจุบันใช้รางกว้าง 1 เมตร และทางรถไฟเกือบทั้งหมดเป็นทางเดี่ยว ทำให้รถไฟสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดเพียงประมาณ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง หรือความเร็วเฉลี่ยเพียงประมาณ 60 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น) โดยมีเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร มีมูลค่าโครงการประมาณ 530,000 ล้านบาท ซึ่งรวมทั้งการก่อสร้างงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม ระบบตั๋ว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ผลจากที่โครงการนี้ต้องใช้เงินลงทุนมากทำให้รัฐบาลจีนเสนอให้ก่อสร้างช่วงนครราชสีมา-หนองคายเป็นทางเดี่ยว เพื่อลดเงินลงทุน แต่จะทำให้รถไฟวิ่งได้ช้าลง เพราะต้องคอยสับหลีกกับขบวนรถไฟที่วิ่งสวนทางมา

“ผมขอเปรียบเทียบค่าก่อสร้างรถไฟไทย-จีนกับรถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ของมาเลเซีย ซึ่งวิ่งระหว่างอิโปห์-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 329 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า มีมูลค่าโครงการ 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 128,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาในปี พ.ศ.2551 หากคิดเป็นราคาในปีปัจจุบันจะได้ประมาณ 148,000 ล้านบาท ดังนั้น ราคาเฉลี่ยต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร จะเท่ากับ 450 ล้านบาท ราคานี้รวมทั้งการก่อสร้างงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม ระบบตั๋ว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รถไฟทางคู่เส้นทางนี้ประกอบด้วยทางในระดับพื้นดิน อุโมงค์ยาว 3.3 กิโลเมตร พร้อมด้วยสะพานและทางลอดหลายแห่ง รวมทั้งสถานีจำนวน 27 สถานี เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558” นายสามารถระบุ

ผลการเปรียบเทียบปรากฏว่ารถไฟทางคู่ของมาเลเซีย ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามีราคาถูกกว่ารถไฟไทย-จีน ขนาดรางกว้าง 1.435 เมตร ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเช่นเดียวกันถึง 157 ล้านบาท/กิโลเมตร หรือคิดเป็น 35% ทั้งๆ ที่มีความเร็วสูงสุดใกล้เคียงกัน กล่าวคือ รถไฟทางคู่ของมาเลเซียมีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในขณะที่รถไฟไทย-จีนมีความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ หากรัฐบาลจะต้องก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ช่วงนครราชสีมา-หนองคายเป็นทางเดี่ยวตามข้อเสนอของจีน ผมขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาชะลอโครงการรถไฟไทย-จีนออกไปก่อน อย่าฝืนสร้างตามข้อเสนอของจีนเลย และขอให้เร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ให้ครอบคลุมทั่วทุกภาค โดยให้เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนรถไฟจากพลังงานดีเซลเป็นพลังงานไฟฟ้า จะทำให้เราได้รถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ที่มีขีดความสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะมีความเร็วเฉลี่ยสูงกว่าความเร็วเฉลี่ยของรถไฟไทย-จีน ในกรณีที่รัฐบาลต้องก่อสร้างช่วงนครราชสีมา-หนองคายเป็นทางเดี่ยว อีกทั้ง ใช้เงินลงทุนถูกกว่าด้วย การกระทำเช่นนี้จะช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของรัฐบาล และที่สำคัญ เป็นการลงทุนที่ให้ประโยชน์คุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแน่นอน

ทั้งหมดนี้ ตนขอฝากถึงรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนให้รอบคอบอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image