ครม.เห็นชอบ ไทยเข้าร่วม ข้อตกลงความร่วมมือด้านพลเรือนในการสำรวจและใช้งานอวกาศ

ครม. เห็นชอบให้ไทยร่วมโครงการ Artemis เข้าสู่การสำรวจอวกาศระดับโลก เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ผ่านอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ

วันที่ 30 ตุลาคม นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการลงนามในโครงการ Artemis Accords โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า-GISTDA  เป็น National Focal Point ของประเทศไทย ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นหลักการสำหรับความร่วมมือด้านพลเรือนในการสำรวจอวกาศเพื่อวัตถุประสงค์ทางสันติที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำหลัก ซึ่งมีประเทศชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมข้อตกลงจำนวน 47 ประเทศเข้าร่วมแล้ว ซึ่งการเข้าร่วมจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย เป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจ ธุรกิจอวกาศ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์มาสู่ประชาชนได้

โดย Artemis Accords เป็นข้อตกลงความร่วมมือด้านพลเรือนในการสำรวจและใช้งานอวกาศ อันประกอบด้วยดวงจันทร์, ดาวอังคาร, ดาวหาง, ดาวเคราะห์น้อย และเทหวัตถุต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ทางสันติ โดยลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2020 ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา และมีตัวแทนจากออสเตรเลีย, แคนาดา, อิตาลี, ญี่ปุ่น, ลักเซมเบิร์ก, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ร่วมลงนามเป็นสมาชิกชุดแรก

ADVERTISMENT

ปัจจุบันข้อตกลงดังกล่าวมีสมาชิกร่วมลงนามจาก 47 ประเทศทั่วโลก โดยในภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ร่วมลงนามใน Artemis Accordsเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2022

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การเข้าร่วม Artemis Accords เป็นโอกาสในการก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมอวกาศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ บนเวทีโลก ประเทศไทยจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการสำรวจและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในอวกาศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศสมาชิก สร้างแรงบันดาลใจและขยายโอกาสให้กับผู้ประกอบการ นักวิชาการและนักวิจัยในประเทศไทยให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

ADVERTISMENT

ทางด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ภายหลังการลงนาม Artemis Accords คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ จะเป็นกลไกหลักในการพิจารณากิจกรรมที่จะเข้าร่วมในนามประเทศไทย โดย GISTDA ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ Artemis Accords รวมถึง Artemis program ให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล ทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการอวกาศระดับโลก เพื่อให้คนไทยไม่พลาดโอกาสที่จะมีส่วนร่วมและเข้าถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา

ทั้งนี้ Artemis Accords ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศระดับโลกเท่านั้น แต่ยังถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ เปิดประตูให้พวกเขาได้มีโอกาสและเห็นศักยภาพของไทยบนเวทีอวกาศระดับสากลอย่างแท้จริง เป็นการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่และอนาคตที่ยั่งยืนที่ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนชีวิตของคนไทย แต่ยังช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในด้านการสำรวจและการใช้ประโยชน์จากอวกาศที่เป็นอนาคตของเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image