ไอติม พบวันนอร์ ยื่น 2 ข้อมูลใหม่ คำวินิจฉัยส่วนตัวศาล ย้ำทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ

‘ไอติม’ พบ ‘วันนอร์’ ตื้อยื่นแก้รธน. พร้อม 2 ข้อมูลใหม่ดันร่างแก้ม.256 ทวงสัญญารัฐบาลมีรธน.ใหม่ก่อนเลือกตั้ง แจงไทม์ไลน์ประชามติ 2 ครั้ง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เข้าพบ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อหารือถึงการผลักดันการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้าที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนก่อนแก้รัฐธรรมนูญ

ภายหลังการเข้าพบ นายพริษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงขณะนี้คือ การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะเป็น 2 หรือ 3 ครั้ง หากย้อนไปต้นปี 2567 พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เคยริเริ่มแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่สภาฯ โดยให้ทำประชามติ 2 ครั้ง มีส.ส.ร.มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน ให้ความเห็นต่อประธานรัฐสภา ไม่ให้บรรจุร่างแก้ไขดังกล่าว โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ 3 ครั้ง เป็นเหตุให้ประธานรัฐสภา ไม่บรรจุวาระดังกล่าว กลายเป็นความเห็นต่างการตีความ

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น การเข้าพบประธานรัฐสภาในครั้งนี้ ได้นำข้อมูลเพิ่มเติม 2 อย่างมายื่นต่อประธานรัฐสภาคือ 1.คำวินิจฉัยส่วนตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ที่มีการระบุชัดเจนว่า ทำประชามติ 2 ครั้งก็เพียงพอ 2.ข้อมูลที่กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เข้าพบประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อเป็นข้อมูลใหม่ในการพิจารณาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยตั้งส.ส.ร. เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง โดยให้คณะกรรมการประสานงานฯ และเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปวินิจฉัยอีกครั้งว่า จะต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 3 ครั้งหรือ 2 ครั้ง หวังว่า ข้อมูลใหม่ทั้ง 2 อย่างจะเพียงพอให้คณะกรรมการประสานงานฯ วินิจฉัยว่าทำประชามติแค่ 2 ครั้งก็เพียงพอ

ADVERTISMENT

เมื่อถามว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า รัฐบาลเคยสัญญากับประชาชนจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป หรือตอนที่พรรคเพื่อไทยฉีกเอ็มโอยูพรรคก้าวไกลช่วงจัดตั้งรัฐบาล ก็ระบุว่า จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง แล้วจะยุบสภาฯ คืนอำนาจให้ประชาชน ฉะนั้นเห็นชัดว่า รัฐบาลได้สัญญาจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนเลือกตั้งครั้งถัดไป

แต่หากรัฐบาลยังเดินตามแผนเดิมให้ทำประชามติ 3 ครั้ง โอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า จะเป็นจริงน้อยมาก หนทางเดียวที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงได้คือ ลดการทำประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง หากเดินตามแผนเดิม โอกาสเสร็จทันก็น้อย สิ่งที่อยากเห็นคือ ความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะรักษาสัญญากับประชาชน เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลและพรรคประชาชนเห็นพ้องกัน จึงอยากเห็นรัฐบาลมาร่วมมือ และมุ่งมั่นทำเรื่องนี้ด้วยกัน

ADVERTISMENT

เมื่อถามว่า จะคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตอนออกหนังสือขอเข้าพบนั้น ออกพร้อมกัน 3ฉบับคือประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ และนายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เป็นเจตนารมณ์ของเราอยู่แล้วที่อยากเข้าพบฝ่ายบริหาร ซึ่งเหลือเพียงคำตอบของฝ่ายบริหารว่าจะให้เราเข้าพบเมื่อไหร่

เมื่อถามว่า หากทำประชามติ 2 ครั้ง ประเมินว่าจะได้เห็น ส.ส.ร.ใหม่ทันปี 2568 หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตั้งส.ส.ร. และคณะกรรมการประสานงานฯ ตัดสินใจบรรจุวาระในรอบนี้ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 ได้ทันที ในการเปิดสมัยประชุมสภาเดือนธันวาค ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะผ่าน 3 วาระ ภายใน 3-6 เดือน หากเป็นเช่นนั้น ประชามติรอบแรกจะเกิดขึ้นหลังผ่านวาระ 3 อาจเป็นช่วงหลังปี 2568 เมื่อประชามติผ่านแล้วจะต้องมีกระบวนการเลือกตั้งส.ส.ร. หากทำทุกอย่างเสร็จได้ภายในปี2568 ส.ส.ร.จะมีเวลาปี 2569 จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำให้สามารถนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปทำประชามติรอบ 2 ได้ช่วงต้นปี 2570 ก็จะเสร็จทันก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป วันนี้อยากให้มีการทบทวนการตัดสินใจเรื่องการบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ใหม่ จึงจำเป็นต้องยื่นร่างเดิมเข้าไปอีกครั้ง ให้คณะกรรมการประสานงานฯ มีข้อมูลใหม่ประกอบการพิจารณา

ด้าน ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อได้ข้อมูลใหม่ที่กมธ.พัฒนาการเมืองฯยื่นต่อประธานรัฐสภาแล้ว จะนำไปประกอบคำวินิจฉัย เพื่อพิจารณาว่า คณะกรรมการประสานงานฯจะกลับมติที่เคยให้ความเห็นไม่บรรจุวาระการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยการตั้งสสร.มายกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่พรรคก้าวไกลในขณะนั้นยื่นร่างเข้ามา คณะกรรมการประสานงานฯอาจเรียกนายพริษฐ์ ชในฐานะประธานกมธ.พัฒนาการเมืองฯ มาให้ข้อมูลเพื่อพิจารณาทบทวนความเห็น แม้คำวินิจฉัยที่เป็นความเห็นของตุลาการรัฐธรรมนูญรายบุคคล จะไม่มีผลทางกฎหมายเหมือนคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญ แต่อาจนำมาใช้พิจารณาประกอบแนวทางคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญว่า จะต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2 หรือ 3 ครั้ง ก็มีโอกาสที่คณะกรรมการประสานงานฯจะกลับมติก่อนหน้านี้ได้ ถ้าข้อมูลใหม่ช่วยให้คำวินิจฉัยกลางมีความกระจ่างมากขึ้น เพราะเรายึดคำวินิจฉัยกลางเป็นหลัก และใช้คำวินิจฉัยส่วนบุคคลมาประกอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image