โมเดล ‘อยู่ยาว’ เดินเครื่อง’เคลียร์’ คำเตือน’ธีรยุทธ’

เช้าวันที่ 10 มีนาคม ข่าวร้ายในแวดวงสื่อสารมวลชนแพร่สะพัด

เจ๊ยุ-ยุวดี ธัญญสิริ อดีตนักข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่ประจำการอยู่ทำเนียบรัฐบาลถึงแก่กรรมอย่างสงบ หลังเข้ารับการรักษาตัวตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ถือเป็นความสูญเสียของวงการสื่อสารมวลชนไทย และเป็นการจากไป โดยมอบภารกิจเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนที่เจ๊ยุซึ่งเป็นจุดยืนในการประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวมาตลอดชีวิต

แม้กระทั่งล่าสุดที่ทาง สปท.พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งมีเนื้อหาเอียงไปทางด้านการควบคุมสื่อ

Advertisement

เจ๊ยุก็เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่ไม่เห็นด้วย

แม้จะทราบว่าในสถานการณ์ที่ประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่บริหารประเทศมาจากการยึดอำนาจ การเรียกร้องต่อรองจะเป็นไปได้ยาก เพราะแนวคิดระหว่าง “อำนาจนิยม” กับ “เสรีนิยม” ต่างกันคนละขั้ว

แต่สื่อมวลชนย่อมต้องมีจุดยืนอยู่กับ “เสรีนิยม”

Advertisement

การควบคุมสื่อไม่ได้เป็นแนวคิดของ “เสรีนิยม” ดังนั้นสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จึงต้องคัดค้านกฎหมายที่มีเจตนาควบคุมสื่ออย่างเต็มที่กันต่อไป

 

สำหรับประเทศไทยขณะนี้อยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ และมีโรดแมปว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในปี 2560 นี้

แต่ขณะเดียวกันก็มีสัญญาณบางประการชวนให้สงสัยว่า การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นตามโรดแมปที่วางไว้

ประการแรก เกิดกระแสอยู่เนืองๆ เรื่อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” และภายหลังเป็นกระแส “ปรองดองก่อนเลือกตั้ง” ซึ่งขณะนี้กระบวนการปรองดองยังอยู่ในขั้นตอน “รับฟัง” ความคิดเห็นของคณะกรรมการภายใต้คณะกรรมการ ป.ย.ป.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าชุดตระเตรียมการปรองดอง

คณะกรรมการ ป.ย.ป.มีโรดแมปดำเนินการ 27 วาระ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ หนึ่ง 42 ประเด็นให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2560 ส่วนอีก 32 ประเด็น ดำเนินต่อไปจากปี 2561 ให้แล้วเสร็จในปี 2564

คำนวณตามระยะเวลาดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ย.ป.ซึ่งทำหน้าที่ปฏิรูปและปรองดองก็มีแนวโน้มที่จะใช้เวลาล่วงเลยไปเกินกว่าโรดแมปเลือกตั้ง

ดังนั้น หากเลือกตั้งภายในปี 2560 ย่อมเกิดก่อนการปฏิรูปและปรองดองแน่ๆ

ประการที่สอง เริ่มมีคำถามเกี่ยวกับการใช้ ม.44 ในการบริหารประเทศ เปรียบเทียบกับสถานการณ์ของประเทศไทย

เปรียบเทียบทำนองว่า หากประเทศไทยไม่มี ม.44 จะอยู่กันอย่างไร

อย่าลืมว่า ม.44 เป็นมาตราในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งมอบอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้แก่หัวหน้า คสช.ดำเนินการ

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ชูธงใช้ ม.44 บริหารราชการแผ่นดิน เร่งรัดกฎระเบียบที่ติดขัด แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในกระทรวงศึกษาธิการ แก้ไขการจราจร และอื่นๆ

รวมทั้งล่าสุด คือการใช้ ม.44 สั่งให้พื้นที่วัดพระธรรมกายและบริเวณใกล้เคียงเป็นพื้นที่ควบคุม

เป้าหมายเพื่อตรวจค้นกดดันให้พระธัมมชโยมอบตัวในคดีที่ถูกกล่าวหา

กระทั่งพระและศิษย์ของวัดพระธรรมกายออกมาขัดขวาง เกิดการกระทบกระทั่ง มีผู้ผูกคอตาย มีเค้าลางว่าจะเกิดความวุ่นวาย

และสุดท้ายมีคำถามว่า ถ้าไม่มี ม.44 แล้วประเทศจะอยู่กันอย่างไร

คล้ายกับจะถามว่า ประเทศไทยจะไม่มีรัฐบาลทหารได้หรือ?

 

ปฏิบัติการต่อพระธัมมชโยในระยะแรก อาจมองว่าเป็นคดีความส่วนตัว แต่เมื่อมีการใช้ ม.44 เข้าดำเนินการ

เรื่องพระธัมมชโยเริ่มขยายไปถึงวัดพระธรรมกาย

และเมื่อเรื่องราวบานปลายไปถึงวัดพระธรรมกาย เริ่มเห็นเจตนาของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ

สาเหตุหลักที่ดำเนินกับวัดพระธรรมกายคือความมั่นคงของรัฐ

เป้าหมายต่อพระธัมมชโยคือต้องการให้ลาสิกขา โดยเชื่อว่าเมื่อไร้พระธัมมชโยวัดพระธรรมกายก็อ่อนแรง

เมื่ออ่อนแรงลงก็จะไม่เป็นภัยใดๆ ต่อความมั่นคง

เจตนาดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับการจัดการกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ซึ่งก็คือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

เป็นเจตนาที่ไม่ต้องการให้ “เสียของ” หลังจากประเทศต้องถอยหลังจากการรัฐประหาร

เป็นเจตนาเคลียร์พื้นที่เพื่ออยู่ยาว

 

ปฏิบัติการที่มีต่อวัดพระธรรมกาย หากเทียบเคียงกับการปฏิบัติการต่อการเมืองแล้วใกล้เคียงกัน

ขณะที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. วัดพระธรรมกายก็ต้องอยู่ในกรอบเช่นเดียวกัน

นักการเมือง กลุ่มการเมือง หรือกลุ่มคิดต่าง ที่ไม่รับฟังคำสั่ง คสช. ถือว่ามีความผิด ต้องถูกดำเนินคดี

พระในวัดพระธรรมกายก็ต้องทยอยเข้ามอบตัวเพื่อต่อสู้คดีเช่นเดียวกัน

พรรคการเมืองที่ถูกร้องเรียนต้องฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆ ที่พิจารณาขจัดให้พ้นจากเวทีการเมืองด้วยข้อหาต่างๆ

ขณะนี้วัดพระธรรมกายก็กำลังเดินเข้าสู่เส้นทางที่ไม่แตกต่าง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงมาตรการที่ดำเนินการกับวัดพระธรรมกาย 3 มาตรการคือ 1.ใช้ ม.44 2.ถอดถอนสมณศักดิ์ และ 3.เสนอฝ่ายสงฆ์จัดการตามวินัยพระ

เช่นเดียวกับวิธีการตอบโต้ของฝ่ายพระวัดพระธรรมกายก็ใช้หลักสิทธิมนุษยชน ร้องขอให้เลิกใช้ ม.44

ขณะเดียวกันก็ขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติกับพระอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองให้เหมือนกัน

เทียบกันฉากต่อฉากแล้ว…คล้ายกันมาก

 

อย่างไรก็ตาม หากเจตนาที่แท้จริงของปฏิบัติการคือต้องการอยู่ยาว ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเริ่มมีกระแสคัดค้านการอยู่ยาวดังขึ้นเรื่อยๆ

และเป็นกระแสคัดค้านจากฝ่ายที่่เห็นชอบกับการกำจัด “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งเป็นมิตรกับ คสช.

กรณีนายธีรยุทธ บุญมี วิพากษ์วิจารณ์แม่น้ำ 5 สาย ด้วยการเปรียบเปรยการบริหารงานของรัฐบาลเหมือน “ยุทธ์เรือโยง ป้อมเรือพ่วง”

มองการทำงานของรัฐบาลว่าอยู่ในลักษณะ “พายวน” นั้นน่านำมาพิจารณา

นายธีรยุทธชี้ว่า การปฏิรูปไม่คืบหน้า และเตือนว่า อย่าอยู่ยาวเกินกว่าโรดแมปที่ประกาศไว้

คำเตือนดังกล่าวเป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้ว่า การอยู่ยาวที่กำลังผลักดัน จะมี “อุปสรรค” กีดขวาง

“อุปสรรค” ดังกล่าวจะงอกเงยมากขึ้นเรื่อยๆ

งอกเงยจากฝ่ายที่คัดค้าน คสช.ตั้งแต่ดั้งเดิม และงอกเงยจากฝ่ายที่เคยอยู่เคียงข้าง คสช.

เจตนาที่จะอยู่ยาวจึงไม่ง่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image