ผู้เขียน | ชโลทร |
---|
⦁…วันเวลาเดินทางมาถึง “เดือนสุดท้าย” ของปี ทั้งส่วนขององค์กร หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทห้างร้าน หรือภาคราชการ รวมถึงตัวบุคคล “ที่รู้จักบริหารจัดการตัวเอง” ต่างทบทวนปีที่ผ่านมา ประเมินจุดอ่อน จุดแข็ง มองโอกาสและอุปสรรค เพื่อวางแผนให้กิจการ หรือชีวิตปีต่อไปประสบความสำเร็จ หรือราบรื่นในการไปสู่เป้าหมายให้รอบคอบที่สุด ข้อมูลที่พร้อมและถูกต้องกว่าคือ “ความได้เปรียบ”
⦁…สำหรับความเป็นไปของประเทศ “เศรษฐกิจปากท้อง” ดูจะเป็นเป้าหมายที่ “รัฐบาลแพทองธาร” จะใช้เป็นผลงานสร้างคะแนนนิยม ด้วยข้อจำกัดในการจัดการกับ “โครงสร้างอำนาจการเมือง” ที่ถูกออกแบบป้องกันความเปลี่ยนแปลงไว้ค่อนข้างแข็งแกร่ง และนั่นเป็นความท้าทายยิ่ง เพราะเอาเข้าจริง “โครงสร้างอำนาจ” คือ “อุปสรรคสำคัญ” ของ “การบริหารเศรษฐกิจปากท้อง”
⦁…ขณะที่ทุกคน โดยเฉพาะ “ทีมเศรษฐกิจ” ที่ พิชัย ชุณหวชิร เดินนำขบวน รู้ดีว่า “ความอยู่ดีกินดีของประชาชน” ในยุคสมัยเช่นนี้สร้างไม่ง่ายเลย ด้วย “โอกาสในการหารายได้” ลดลง อย่าว่าแต่ “หารายได้เพิ่มให้เหมาะกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น” กระทั่ง “รักษารายได้เดิมไว้ให้ประทังการอยู่รอดของครอบครัว ยังเป็นเรื่องยากเย็น” ก่อภาวะ “หนี้ครัวเรือนท่วมหัว” กันทั่วหน้า พร้อมกับ “หนี้สินของกิจการ” โดยเฉพาะ “ขนาดเล็ก ขนาดกลาง” บีบคั้นจนยากจะอยู่รอดกันทั่วหน้า ที่ทำได้คือพยายามใช้ “การลงทุนภาครัฐ” รวมถึง “แจกเงินเข้าไปหล่อเลี้ยงระบบไว้” ขณะที่ “หนี้สาธารณะ” หวาดต้องขยาย “เพดานที่จะกู้ได้” ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่ “อ้อมแอ้ม” มากขึ้น
⦁…การทำมาหากินที่ยากลำบาก หรือ “คิดโครงการลงทุนแล้วไปไม่รอด” แปลงร่างเป็น “นักต้มตุ๋น” ก่อคดี “ฉ้อโกง” สร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนร่วมสังคม เป็น “ตอผุด” ให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็น “ตำรวจ ดีเอสไอ” หรือหน่วยงานผู้รักษากฎหมาย เลยไปถึง รัฐมนตรีดีอี-ประเสริฐ จันทรรวงทอง ต้องเสียเวลากับ “อาชญากรดิจิทัล” จนน่าเสียดายโอกาสเกิดของ “ความคิดสร้างสรรค์” ที่จะคิดแผนงาน “พัฒนาเทคโนโลยีของประเทศให้ก้าวทันความเป็นไปของโลก” ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
⦁…ขณะที่ “ความเหลื่อมล้ำ” ของ “โอกาสในอำนาจ” ที่เอื้อ “อภิสิทธิ์ชน” ได้สร้างความไม่ชอบมาพากล เกิดการยึดครอง “ที่ดินของรัฐ” อย่างไม่เอื้อความเป็นธรรมให้กับ “การทำมาหากินของผู้ด้อยโอกาส” แต่กลับส่งเสริม “การสะสมความร่ำรวย” ให้กับ “ผู้เข้าถึงการใช้อำนาจ” จนก่อความรู้สึกไม่เป็นธรรม และขยายสู่การกระทำให้ “กระบวนการยุติธรรม” ไร้ความหมายมากขึ้น ด้วยประสบการณ์ของการใช้เหลี่ยมเล่ห์ ท้าทายอย่างยิ่งว่า “ผู้มีหน้าที่ดูแลทุกข์ของประชาชน” อย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล กับ “ผู้ถือธงความยุติธรรม” อย่าง ทวี สอดส่อง จะแสดงบทบาทแบบไหน กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น
⦁…การเมืองเข้าสู่โหมด “เลือกตั้ง อบจ.” ที่จะทยอยไปทั่วประเทศ เพราะถึงวันนี้ “การเมืองท้องถิ่น” ถูกทำให้เชื่อเป็นเนื้อเดียวกับการเมืองระดับประเทศมากขึ้น “พรรคการเมือง” วางแผนเล่นเป็น “ภาพใหญ่” ไม่ปล่อยให้เป็นแค่ “สู้กันในจังหวัด” เหมือนที่ผ่านมา และเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร เลือกที่จะใช้โอกาสนี้ “สร้างบารมีให้รับรู้ถึงการเป็นทางเลือกที่ปฏิเสธไม่ได้” ขณะที่วาระของประเทศที่คนส่วนใหญ่ถูกกระตุ้นให้ตื่นรู้คือ “ความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด” ทำให้การปะทะกันทางความคิดร้อนฉ่า
⦁…ภาวะรวมนับจากนี้จะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่า “ความคิดที่หนักแน่น และความมุ่งมั่นที่เต็มร้อย” ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และความสดใหม่ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อม “ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนประเทศ” อย่างสูงยิ่งของ “ทีมอนาคตใหม่ ก้าวไกล” ในนาม “พรรคประชาชน” ในปัจจุบัน จะใช้พลังแบบไหนในภารกิจ “ชักเย่อ” กับ “การผนึกกำลังของอนุรักษนิยม” ที่เริ่มมีข่าวสะพัดถึงปฏิบัติการลาก “ถอยหลังเข้าคลอง”
⦁…หากเคยได้สนทนาวิสาสะด้วย จะรับรู้ถึงจิตใจความคิดที่แน่นหนักใน “ความมุ่งมั่นทำงานเพื่อแก้ปัญหาประชาชน” ด้วยการเน้น “ลงพื้นที่ใช้ความสนิทชิดเชื้อเพื่อรับรู้ปัญหา” ขณะที่ “ความรู้ความคิดจากการศึกษาและประสบการณ์” ชัดเจนใน “ความคมชัดมุมมองแบบคนรุ่นใหม่” เมื่อวันนี้ สุรชาติ เทียนทอง ได้สวมบทบาท “ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง” เป็นกำลังสำคัญให้ จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ จึงเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง





