‘เศรษฐา’ ร่วมนับถอยหลังสมรสเท่าเทียม ปค.เตรียมจดทะเบียนทั่วปท.ปี 68 เผยเกณฑ์ใครจดได้-ไม่ได้
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นฤมิตไพรด์ พร้อมคณะทำงานสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน ภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันผลักดันพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม และกรุงเทพมหานคร จัดงานแถลงข่าว “นับถอยหลังสู่วันสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality Day) ที่ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของประเทศไทยที่กลายเป็นประเทศแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับการรับรองและได้ใช้ชีวิตคู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์์ศรี การเดินทางเพื่อปักธงกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทุกเพศควรได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีความเคารพในความแตกต่างหลากหลาย เป็นการเน้นย้ำว่าทุกคนมีสิทธิมีศักดิ์ศรีที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
“หลังจากการต่อสู้กว่า 23 ปีที่ผ่านมา ประเด็นความเท่าเทียมความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความก้าวหน้า และเป็นพลังทางบวกให้กับสังคมไทย ชัยชนะครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนร่วมกัน เป็นพลังเดินหน้าปักธงสีรุ้ง ร่วมกันเดินประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทย ทำให้ทั่วโลกรู้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยอมรับ โอบรับความหลากหลายทางเพศ และเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย เชื่อว่าทุกคนเชื่อในพลังของความรัก และดิฉันเชื่อว่าความรักของทุกเพศควรจะได้รับการยอมรับ และควรได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” น.ส.จิราพรกล่าว
นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายมีผลใช้บังคับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทางกรมการปกครองได้เตรียมความพร้อม 5 ด้าน ด้านแรก คือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจดทะเบียนนมรส การจดทะเบียนครอบครัวต่างๆ การกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ 2.ได้มีการปรับปรุงระบบ มีการเปลี่ยนระบบที่ระบุชายหญิง ปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นคำว่า “คู่สมรส” และเปลี่ยนแบบพิมพ์ต่างๆ และเตรียมความพร้อมของบุคลากร 3.การประชาสัมพันธ์ ได้กำชับส่วนงานที่เกี่ยวข้องให้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทั้งหลายผ่านสื่อออนไลน์ของกรมการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักฐานต่างๆ ที่จะนำมาใช้ สิทธิของคู่สมรส คุณสมบัติของคู่สมรส โดยจะต้องประชาสัมพันธ์สิ่งเหล่านี้ออกไป ก่อนที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 หรือ 23 มกราคม 2568 ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุวันที่ชัดเจนได้
“คุณสมบัติของผู้ที่จดทะเบียนสมรสได้ สำหรับคู่สมรสคนไทย หากมีคุณสมบัติตามกฎหมายก็สามารถมาจดทะเบียนสมรสได้เลย โดยต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งเป็นอายุที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ต้องใช้ความยินยอมจากผู้ปกครอง 2.ต้องไม่เป็นคนวิกลจริต ไม่ถูกศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ ส่วนกรณีคู่สมรสต่างชาติ สามารถมาจดในประเทศไทยได้ แต่จะมีผลในประเทศของคุณหรือไม่ก็ต้องไปดูที่ประเทศนั้นๆ ด้วย ปัจจุบันมีความพร้อมแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ เหลือแต่รอระเบียบออกอย่างเดียว และความชัดเจนของวันเท่านั้น โดยสามารถไปจดทะเบียนสมรสได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอ 878 แห่ง จุดเคาน์เตอร์บริการอำเภอ…ยิ้ม 19 แห่ง และสำนักทะเบียนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 50 แห่ง ” นายสมชัยกล่าว
นายสมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับความกังวลว่าจะมีการจดทะเบียนเพื่อการค้ามนุษย์หรือไม่นั้น ขอนำเรียนว่า นายทะเบียนต้องสังเกตพฤติกรรมอยู่แล้ว โดยจะให้มียืนยันหลายอย่าง เช่น สัมภาษณ์ว่าอยู่กินกันมากี่ปี นับได้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นการเปิดกว้างของยุคปัจจุบัน คนเรามีความต้องการไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดี ส่วนในเรื่องของสิทธิต่างๆ ที่จะตามมา เราก็คงต้องไปแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
น.ส.อรรณว์ ชุมาพร หรือ วาดดาว ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Pride” (บางกอกไพรด์) ผู้เสนอแก้ไขกฎหมายสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน กล่าวว่า “นฤมิตไพรด์ ขอเชิญชวนคู่รัก LGBTQIAN+ มาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ไปด้วยกัน เพื่อยืนยันให้เห็นว่าคู่รัก LGBTQIAN+ รอคอยและต้องการสมรสเท่าเทียมมานาน โดยการจดทะเบียนสมรสในวันแรกของการบังคับใช้กฎหมายนี้พร้อมกันทั่วประเทศ เป้าหมายของเราคือ 1,448 คู่ ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับกฎหมายมาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ “สมรสเท่าเทียม” แต่โดยส่วนตัวได้ 1,000 คู่ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการยืนยันเจตจำนงในการก่อตั้งครอบครัวแล้ว โดยจัดกิจกรรมพิเศษสำหรับคู่รัก LGBTQIAN+ ที่พร้อมจดทะเบียนสมรสในวันแรกของการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะจัดใหญ่ที่ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในวันพุธที่ 22 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-19.00 น.
น.ส.อรรณว์ กล่าวว่า ในเรื่องของสมรสเท่าเทียม ไม่ใช่แค่กฎหมายไทยยอมรับความรัก การแต่งงาน การสมรสของคู่รัก LGBTQIAN+ เท่านั้น แต่ยังส่งผลในเรื่องของเศรษฐกิจด้วย เพราะเรื่องนี้ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการยอมรับความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ให้สิทธิ์ทางกฎหมายแก่คู่รักเพศเดียวกัน และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ต่อจากไต้หวันและเนปาล ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIAN+ จากทั่วโลกเข้ามาเที่ยว และมาจดทะเบียนสมรสเป็นจำนวนมากแน่นอน
“ตามการวิเคราะห์ของแพลตฟอร์มท่องเที่ยว Agoda กฎหมายใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ หรือ “Rainbow Tourism” คาดว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 4 ล้านคนต่อปี พร้อมสร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท และเพิ่ม GDP ของประเทศขึ้น 0.3% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ยังสะท้อนถึงการก้าวไปข้างหน้าของสังคมไทยในด้านความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลายที่มากขึ้นในเวทีโลกด้วย” น.ส.อรรณว์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ไปร่วมงานด้วย และได้โพสต์ในเพจ เศรษฐา ทวีสิน – Srettha Thavisin ถึงวันสมรสเท่าเทียมว่า
“วันนี้มาร่วมงานแถลงข่าว นับถอยหลังสู่ วันสมรสเท่าเทียมครับ “Because Marriage Is About to Be Equal” ผมมาร่วมนับถอยหลังไปกับทุกคน ให้กับวันสำคัญที่เราทุกคนรอคอยครับ วันพุธที่ 22 มกราคม 2568 จะเป็นวันสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เมื่อคู่รัก LGBTQIAN+ สามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมตามกฎหมาย ความฝันของการจดทะเบียนสมรส การแต่งงานเสมือนของหญิงและชาย เพื่อสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ เป็นก้าวใหญ่ของประเทศไทยเราครับ
และก้าวต่อไป ผมอยากเห็น “คำนำหน้า” ที่เราทุกคนควรกำหนดเองได้ครับ”