อดีต รมว.คลัง แนะคสช.ใช้ม.44 ขยายเวลาอุทธรณ์ต่อศาล คดีเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป

วันนี้ (14 มี.ค.) ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala” ระบุว่า การที่ผมกลับไปอ่านข่าวว่า กรมสรรพากรเสนอไม่ยื่นอุทธรณ์เรื่องภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปต่ออดีต รมว.คลัง (กรณ์ จาติกวณิช) ซึ่งข่าวปรากฏดังนี้ “ทั้งนี้ ศาลภาษีอากรกลางได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีในคดีหุ้นชินคอร์ปต่อนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ซึ่งหลังจากศาลภาษีอากรกลางพิพากษาแล้ว กรมสรรพากรในขณะนั้น ที่มีอดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายสาธิต รังคสิริ ไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ และเสนอให้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ในสมัยนั้น และอัยการสูงสุด ลงนามในการไม่อุทธรณ์ในครั้งนี้”

ทำให้เกิดคำถามว่า การเรียกเก็บภาษีกรณีนี้ จะใช้หลักการว่า กรมสรรพากรเคยออกหมายแก่บุตรของคุณทักษิณแล้ว ถือว่าเป็นตัวแทน จึงสามารถจะเรียกเก็บได้ ตามแนวทางของ สตง. นั้น จะเป็นการแก้ปัญหาถูกวิธีหรือไม่ ผมขอแสดงความเห็นเชิงวิชาการ ดังนี้ กรณีที่บริษัทแอมเปิ้ลริชขายหุ้นให้แก่บุตรของคุณทักษิณในราคา 1 บาท ซึ่งเป็นการขายนอกตลาดหลักทรัพย์ และกรมสรรพากรประเมินให้บุตรคุณทักษิณ เป็นผู้ที่ต้องเสียภาษี นั้น อาจจะเป็นการประเมินผิดคนเพราะผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี จะเป็นผู้ขายหุ้นมากกว่า กรณีที่กรมสรรพากรเห็นว่าผู้ขายทรัพย์สิน ตั้งราคาขายต่ำเกินไป กรมมีสิทธิที่จะประเมินให้เสียภาษีตามมูลค่าที่แท้จริง ดังนั้น การประเมินให้บุตรของคุณทักษิณเป็นผู้เสียภาษี จึงอาจจะเป็นการประเมินผิดตัว และจะต้องทำการอุทธรณ์ต่อศาล ขอเปลี่ยนไปประเมินคุณทักษิณแทน แต่เนื่องจากกำหนดเวลาในการยื่นอุทธรณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว จึงควรใช้อำนาจ คสช. มาตรา 44 ขยายเวลาในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล วิธีนี้น่าจะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และเป็นการกำหนดมาตรฐานแนวทางที่ถูกต้องในการระบุตัวบุคคลที่ต้องประเมินอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image