สาระสำคัญ 2 พ.ร.ก. เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ
หมายเหตุ – ส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. … ของกระทรวงการคลัง และร่าง พ.ร.ก.แก้ไขพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่…) พ.ศ. … ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุรัฐมนตรีพรรคร่วมลาประชุมหลายคน เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา มีสาระสำคัญดังนี้
1.ผู้ได้รับผลกระทบ
นิติบุคคลที่เป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ (MNE Group) ที่งบการเงินรวมของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด (Ultimate Parent Entity) มีรายได้รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 750,000,000 ยูโร
2.ความเป็นมาของร่างพระราชบัญญัติ
2.1 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ที่ประชุมกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกัดกร่อนฐานภาษี และการโยกย้ายกำไร (OECD/G20 Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting) (Inclusive Framework on BEPS) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 140 เขตเศรษฐกิจรวมทั้งประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบแนวทาง 2 เสาหลัก ในการจัดการความท้าทายทางภาษีที่เกิดจากเศรษฐกิจดิจิทัล (Two-Pillar Solution to Address the Tax Challenges Arising from the Digitalisation of the Economy) เพื่อเป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย
2.1.1 Pillar 1 การจัดสรรกำไรและสิทธิการจัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises (MNEs)) ขนาดใหญ่ เพื่อให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และ
2.1.2 Pillar 2 การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) จากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ (Tax Competition) โดยกำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate (ETR)) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15
2.2 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่สานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เสนอมาตรการรองรับ Global Minimum Tax ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร ดำเนินการตรากฎหมายหรือกำหนดแนวทางการดำเนินการตามความเหมาะสม ดังนี้
2.2.1 การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามหลักการของ Pillar 2
2.2.2 การจัดสรรรายได้จากการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตามหลักการของ Pillar 2 ให้แก่กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในอัตราอย่างน้อยร้อยละ 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินรายได้ดังกล่าว
2.2.3 การจัดส่งข้อมูลผู้ชำระภาษีส่วนเพิ่มให้แก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
3.คำอธิบายหลักการร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Top-up Tax) ตามมาตรการป้องกันการกัดกร่อน ฐานภาษีระหว่างประเทศ (Global Anti-Base Erosion Rules) (มาตรการ GloBE) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย Inclusive Framework on BEPS โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(1) ข้อความทั่วไป
ภาษีส่วนเพิ่มตามร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นประเภทภาษีอากรประเมิน และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาษีเงินได้ โดยการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร
(2) ขอบเขตของร่างพระราชบัญญัตินี้
ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับกับนิติบุคคลในเครือ (Constituent Entity) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และเป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ (MNE Group) ที่งบการเงินรวมของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด (Ultimate Parent Entity) ของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นมีรายได้รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่าจำนวนเงินตราไทย เทียบเท่า 750,000,000 ยูโร โดยพิจารณาจากอย่างน้อยสองรอบระยะเวลาบัญชีในช่วงสี่รอบระยะเวลาบัญชี ก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม
ทั้งนี้ ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดมีระยะเวลาไม่ใช่ 12 เดือน ให้ปรับปรุงเกณฑ์รายได้รวม 750,000,000 ยูโรดังกล่าวให้สอดคล้องกับระยะเวลาของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
นิติบุคคล (Entity) ของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ บางลักษณะ อาจไม่อยู่ในบังคับของร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ นิติบุคคลที่มีลักษณะเป็นหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ องค์กรไม่แสวงหากำไร กองทุนบำนาญ กองทุนเพื่อการลงทุนที่เป็นนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด เครื่องมือเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด และนิติบุคคลอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
(3) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามร่างพระราชบัญญัตินี้
นิติบุคคลในเครือแต่ละรายที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ
(4) ฐานภาษี
ภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศที่จัดเก็บภาษีต่ำ โดยให้พิจารณาเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี และเป็นรายประเทศ สำหรับแต่ละกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ ทั้งนี้ รอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณานั้นให้เป็นไปตามกำหนดเวลาตามงบการเงินรวมของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นๆ
(4.1) การพิจารณาประเทศที่จัดเก็บภาษีต่ำ
ประเทศที่จัดเก็บภาษีต่ำ หมายถึง ประเทศที่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหนึ่งมี “เงินได้รวมสุทธิ”
(Net GloBE Income) แต่มี “อัตราภาษีที่แท้จริง” (Effective Tax Rate) ต่ำกว่าร้อยละ 15 ทั้งนี้ ให้พิจารณา เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี และเป็นรายกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ
(4.1.1) อัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) ในประเทศหนึ่งของกลุ่มนิติบุคคล ข้ามชาติหนึ่งที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น ให้พิจารณาดังนี้จาก
อัตราภาษีที่แท้จริง = (a)/(b)
โดยที่
“(a)” คือ ผลรวมของภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังปรับปรุง (Adjusted Covered Taxes) ของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว
“(b)” คือ เงินได้รวมสุทธิ (Net GloBE Income) ของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้น
สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว
(4.1.2) “ภาษีที่อยู่ในขอบข่ายภายหลังปรับปรุง” (Adjusted Covered Taxes) ให้พิจารณา โดยนำจำนวนที่มีลักษณะเป็น “ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย” (Covered Taxes) ของแต่ละนิติบุคคลในเครือ มาปรับปรุงตามหลักเกณฑ์ของมาตรการ GloBE ที่กำหนดในกฎกระทรวง
(ก) “ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย” หมายความถึง จำนวนภาษีที่ถูกบันทึกในงบการเงินของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายที่คำนวณจากรายได้หรือกำไรของนิติบุคคลในเครือนั้น และให้รวมถึงจำนวน ดังต่อไปนี้
– จำนวนภาษีที่ถูกบันทึกในงบการเงินของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายที่คำนวณจากรายได้หรือกำไรของนิติบุคคลในเครืออื่นที่นิติบุคคลในเครือนั้นมีส่วนได้เสียในความเป็นเจ้าของ
– จำนวนภาษีที่จัดเก็บตามระบบภาษีที่จัดเก็บจากการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้เป็นเจ้าของตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (Eligible Distribution Tax System)
– จำนวนภาษีอื่นที่จัดเก็บแทนที่การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล
– จำนวนภาษีที่จัดเก็บโดยพิจารณาจากกำไรสะสมและทุน รวมถึงภาษีที่จัดเก็บ โดยอ้างอิงถึงหลายองค์ประกอบซึ่งขึ้นอยู่กับกำไรและทุน
(ข) “ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย” ตาม (ก) ไม่ให้รวมถึงจำนวนดังต่อไปนี้
– ภาษีส่วนเพิ่มตามกฎการรวมเงินได้ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ (Qualified Income Inclusion Rules)
– ภาษีส่วนเพิ่มตามกฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ (Qualified Undertaxed Payment Rules)
– ภาษีส่วนเพิ่มตามกฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ (Qualified Domestic Minimum Top-up Tax)
– จำนวนภาษีเงินปันผลที่ขอคืนได้ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด (Disqualified Refundable Imputation Tax)
– ภาษีที่บริษัทประกันภัยได้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับผลตอบแทนที่จ่ายให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์
(4.1.3) “เงินได้รวมสุทธิ” (Net GloBE Income) ให้พิจารณาดังนี้
เงินได้รวมสุทธิ (Net GloBE Income) = (a) – (b)
โดยที่
“(a)” คือ “ผลกำไรตามมาตรการ GloBE” (GloBE Income) ของทุกนิติบุคคลในเครือ
“(b)” คือ “ผลขาดทุนตามมาตรการ GloBE” (GloBE Loss) ของทุกนิติบุคคลในเครือ
(4.1.4) “ผลกำไรตามมาตรการ GloBE” (GloBE Income) หรือ “ผลขาดทุนตามมาตรการ GloBE” (GloBE Loss) นั้นหมายถึง กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามงบการเงิน (Financial Accounting Net Income or Loss) ของแต่ละนิติบุคคลในเครือที่ได้ปรับปรุงตามหลักเกณฑ์ตามมาตรการ GloBE ที่กำหนดในกฎกระทรวง กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามงบการเงิน (Financial Accounting Net Income or Loss) ของแต่ละนิติบุคคลในเครือข้างต้นนี้ หมายความถึง
(ก) กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการจัดทำหรือเสมือนว่าใช้จัดทำงบการเงินรวมของนิติบุคคลแม่ลำดับสูงสุด ก่อนการตัดรายการระหว่างนิติบุคคลในเครือดังกล่าว หรือ
(ข) กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิที่นิติบุคคลในเครือแต่ละรายอาจกำหนดได้ตามมาตรฐานการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับ (Acceptable Financial Accounting Standard) หรือตามมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับอนุญาต (Authorized Financial Accounting Standard) หากปรากฏว่า
– ไม่สามารถกำหนดผลกำไรสุทธิหรือผลขาดทุนสุทธิตาม (ก) ได้อย่างสมเหตุสมผล
– งบการเงินของนิติบุคคลในเครือแต่ละรายนั้นได้ปรับใช้มาตรฐานการบัญชีดังกล่าวในการจัดทำงบการเงิน
– ข้อมูลในงบการเงินมีความน่าเชื่อถือ และ
– ในกรณีที่มีรายการที่มีผลแตกต่างถาวร (permanent difference) จากการปรับใช้มาตรฐานการบัญชีที่แตกต่างจากมาตรฐานการบัญชีตาม (ก) มากกว่า 1,000,000 ยูโร รายการนั้นได้ถูกปรับปรุงให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีตาม (ก) แล้ว
4.1.5) หากประเทศใดเข้าลักษณะเป็นประเทศที่จัดเก็บภาษีต่ำแล้ว สำหรับกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติกลุ่มใดที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นแล้ว ให้ถือว่า นิติบุคคลในเครือของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาตินั้นทุกรายที่ตั้งอยู่ในประเทศดังกล่าวเป็นนิติบุคคลในเครือที่เสียภาษีต่ำ (Low-taxed Constituent Entity)
5) หลักเกณฑ์เฉพาะเรื่อง โดยให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจ ดังนี้
(5.1) กำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับ
(5.1.1) การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ (Corporate Restructurings)
(5.1.2) กิจการร่วมค้า (Joint Venture)
(5.1.3) กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติร่วมที่มีหลายนิติบุคคลแม่ (Multi-parented MNE Group)
(5.1.4) นิติบุคคลในเครือที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลส่งผ่าน (Flow-through Entity) นิติบุคคลผู้ไร้ถิ่นที่อยู่ทางภาษี (stateless Entity) หรือนิติบุคคลเพื่อการลงทุน (Investment Entity) และ
(5.1.5) นิติบุคคลที่อยู่ในบังคับของระบบการเสียภาษีเงินปันผลที่จัดเก็บในชั้นใดชั้นหนึ่ง ระหว่างชั้นของผู้ถือหุ้นหรือชั้นของผู้จ่ายเงินปันผล (Deductible Dividend Regimes) หรือของระบบภาษีที่เข้าเงื่อนไข ซึ่งจัดเก็บจากการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้เป็นเจ้าของ (Eligible Distribution Tax Systems)
(5.2) กำหนดสิทธิในการเลือก (Election) เพื่อดำเนินการหรือไม่ดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัตินี้แก่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติหรือแก่นิติบุคคลในเครือ ในบางกรณี
ทั้งนี้ การกำหนดตาม (5.1) และ (5.2) จะต้องสอดคล้องกับมาตรการ GloBE และให้ประกาศในราชกิจจาบุเบกษา
(6) จำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่ต้องเสีย
จำนวนภาษีส่วนเพิ่มที่นิติบุคคลในเครือแต่ละรายที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยต้องเสีย สำหรับแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่มนั้น ให้เป็นผลรวมของภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศ (Domestic Top-up Tax) ภาษีส่วนเพิ่มต่างประเทศตามกฎการรวมเงินได้ (Income Inclusion Rules) หรือภาษีส่วนเพิ่ม ต่างประเทศตามกฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือ (Undertaxed Payment Rules) แล้วแต่กรณี
การอุทธรณ์
ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีส่วนเพิ่มผู้ใดที่ไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินภาษีส่วนเพิ่มของเจ้าพนักงาน ประเมินให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีส่วนเพิ่ม และหากผู้อุทธรณ์ผู้ใดไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ให้มีสิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์
กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้ใช้สิทธิในการระงับข้อพิพาทตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการ GloBE ที่รัฐบาลไทยได้เข้าผูกพันไว้ ผู้อุทธรณ์อาจแจ้งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อขอให้พักการพิจารณาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะปรากฏผลการระงับข้อพิพาทเช่นว่านั้นก็ได้ และเมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้รับหนังสือแจ้งเช่นว่านั้น ให้พักการพิจารณาไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะปรากฏผลการระงับข้อพิพาทดังกล่าว เว้นแต่เป็นไปตามเหตุที่อธิบดีประกาศกำหนดให้พิจารณาอุทธรณ์ต่อไปได้ ทั้งนี้ การอุทธรณ์หรือการใช้สิทธิในการระงับข้อพิพาทตามความตกลงระหว่างประเทศนั้น ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีส่วนเพิ่ม
เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์มีอำนาจออกหมายเรียกผู้อุทธรณ์ มาไต่สวนออกหมายเรียกพยาน กับสั่งให้ผู้อุทธรณ์หรือพยานนั้นนำสมุดบัญชี หรือพยานหลักฐานอย่างอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้