‘มาร์ค’ ฟันธง! ทักษิณพูดมาก เพราะช่วงนี้ คดีความคนในครอบครัวกำลังเข้มข้น

(แฟ้มภาพ)

“มาร์ค” ไม่แน่ใจ “แม้ว” แกล้งตายจริงหรือไม่ ชี้ เลือกจังหวะเคลื่อนไหวช่วงคดี “ตระกูลชิน” เข้มข้น รู้ทันเกมรุกใช้สื่อต่างชาติหวังเป็นตัวแทนปชต. เชื่อ “บิ๊กตู่” แสดงจุดยืนไม่ตอบโต้เพราะยึดหลักกฎหมาย

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่า หลังรัฐประหาร 2 ปีที่ผ่านมา นายทักษิณให้สัมภาษณ์ค่อนข้างน้อย จึงไม่แน่ใจว่าวัตถุประสงค์คืออะไร แต่เคยมีคำพูดหนึ่งที่จำได้คือ แกล้งตาย ตนคิดว่ามีหลายปัจจัยที่อาจจะทำให้นายทักษิณเลือกจังหวะที่ออกมาแสดงความคิดเห็น เพราะคดีความที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในครอบครัว กำลังเดินหน้าเข้มข้นมากขึ้น ทั้งคดีจำนำข้าว และคดีกรุงไทย ตนจึงคิดว่าเหตุผลนี้คงเป็นแรงกดดันในการที่นายทักษิณออกมา ในลักษณะของการตอบโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การแสดงความมั่นใจว่าจะกลับมาโดยไม่จำเป็นจะต้องรับโทษ เพราะฉะนั้นตนจึงคิดว่าน่าจะเกี่ยวกับคดีความของคนในครอบครัว นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวะเวลาของเรื่องรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติ โดยค่อนข้างเห็นได้ชัดว่า ในกลุ่ม นปช. หรือผู้สนับสนุนนายทักษิณนั้น เดินหน้าเต็มที่แล้วว่า ไม่เอาและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่สนใจว่า ทางเลือกถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญตกไปคืออะไร เหมือนกับเป็นการฟันธงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงไม่แปลกที่นายทักษิณจะออกมาเวลานี้

เมื่อถามว่า มองว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หรือไม่ เพราะเข้ามาจะ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถปรองดอง สมานฉันท์ได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ได้มองอย่างนั้น แต่ตนมองว่าการที่นายทักษิณไม่ห่วงเรื่องคดี เพราะเกิดการฮั้วกันน่าเป็นความล้มเหลวมากกว่า อีกทั้งความคาดหวังที่มีต่อคนที่มารับผิดชอบบ้านเมืองตอนนี้ คือสามารถทำให้บ้านเมืองและกฎหมายเดินได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.บอกไม่ต้องตอบโต้ หรือพูดถึงกฎหมาย และย้ำว่ากฎหมายจะต้องมีการบังคับใช้นั้น เป็นการยืนยันให้เกิดความมั่นใจว่า คสช.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงท่าทีจุดยืนตรงนี้ ส่วนการปรองดอง ตนย้ำว่าเป็นเรื่องแปลกที่เวลาพูดเรื่องปรองดอง จะต้องมีคนหยิบฉวยเรื่องของการนิรโทษกรรม หรือมาล้มคดีเป็นตัวตั้ง ทั้งที่จริงๆ มันไม่ใช่ เราควรมองไปข้างหน้ามากกว่า ระบบของเราจะสามารถทำให้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน โดยจะคงความคิดเห็นที่แตกต่างต่อไปด้วยการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างไรมากกว่า

“นายทักษิณต้องอาศัยสื่อต่างประเทศที่อยู่ใกล้ตัวและไกลจากเรา เพื่อเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว ซึ่งเราก็ทราบด้วยว่านายทักษิณเองก็มีการจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ หรือบริษัทที่ทำงานล็อบบี้ ซึ่งสามารถช่วยให้เข้าถึงสื่อต่างๆ เหล่านี้ได้ พร้อมกับต้องยอมรับความจริงว่า โลกตะวันตกไม่ชอบการรัฐประหารอยู่แล้ว ดังนั้นมีสุ้มเสียงจากที่ไหนที่ออกมาแสดงท่าทีในการคัดค้านก็จะมีโอกาสได้พื้นที่สูง สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นความท้าทายเหมือนกัน เพราะถ้า คสช.ทำงานจนเสร็จ แล้วมีการปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง การเผชิญหน้า โดยไปเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของบุคคลใด บุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง ยังสามารถเกิดขึ้นทำได้ เรื่องนี้ คสช.ก็จะถูกมองว่าไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากสภาพปัญหาเดิมๆ หรือหากในที่สุดต่างประเทศยังไม่เข้าใจว่าประเทศไทยก้าวพ้นจากตรงนี้เข้าสู่ขั้นต่อไปของโรดแมป หรือประเทศไทยยังมีความไม่เป็นประชาธิปไตย มีความไม่ชอบธรรม กำลังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็จะเป็นความล้มเหลวได้เหมือนกัน และหากสื่อต่างชาติมองเช่นเดียวกัน นายทักษิณก็จะกลายเป็นตัวแทนของระบอบประชาธิปไตยสำหรับสื่อต่างประเทศ ผมคิดว่านั่นก็เป็นความล้มเหลว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า แรงกระเพื่อมจากการที่นายทักษิณได้ให้สัมภาษณ์ มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แสดงว่าท่านไม่เชื่อ คสช. เพราะ คสช.บอกแล้วว่าไม่ให้ไปสนใจ ทั้งนี้ ต้องบอกว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่ยังสนับสนุนหรือเป็นคนรับใช้และทำตามนายทักษิณ ยังอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจะไปปฏิเสธว่าไม่มีความหมายหรือไม่มีอะไรไม่ได้ แต่ถามว่าผลจะมีมากแค่ไหนยังตอบยาก เพราะต้องยอมรับว่าในขณะนี้ก็มีข้อจำกัดของทุกๆ ฝ่ายในการที่จะเคลื่อนไหว บางทีคนที่สนับสนุนนายทักษิณอาจจะยังสับสนอยู่เหมือนกันว่า ตกลงจะแกล้งตาย แล้วจะให้ทำอะไรต่อหรืออย่างไร เราก็ยังเห็นไม่ชัด แต่ว่าสิ่งเหล่านี้เวลาก็จะเป็นตัวที่บ่งบอกว่าจะปรากฎออกมา โดยเฉพาะถ้ามีการพยายามที่จะระดมคนมากดดันในเรื่องของคดีความ ก็แสดงว่ายังเป็นปัญหาว่าเรายังไม่สามารถทำให้คนกลุ่มหนึ่งยอมรับการทำงานของกระบวนการยุติธรรมได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image