หมายเหตุ – การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องบทบาทการทูตของไทยต่อประเทศเมียนมา ของนายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม (ปธ.) ถามนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงประเด็นสถานการณ์ในประเทศเมียนมาที่จะกระทบกับประเทศไทย ทั้งสถานการณ์ภัยสงคราม ความไม่สงบ สถานการณ์การเมือง รวมถึงคอลเซ็นเตอร์และขบวนการค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม
มาริษ เสงี่ยมพงษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
‘ย้ำแก้เมียนมาต้องสมดุล-หลายมิติ’
ก ารที่ผมจัดการประชุมในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 กับ 5 ประเทศ เป็นการประชุมเพื่อสร้างการร่วมมือในการแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความไม่สงบในประเทศเมียนมา แต่ไม่ได้มีส่วนใดหรือประเทศไหนพูดหรือรับรองการเลือกตั้งอย่างใดทั้งสิ้น และไม่ได้มีความพยายามที่จะรับรองการแก้ปัญหาของประเทศเมียนมาแต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับประเทศเมียนมาต้องการแต่เราไม่ได้ไปรับรอง และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคลี่คลายสถานการณ์ในประเทศเมียนมา เรื่องแรกคือแนวทางในการดำเนินนโยบายของประเทศไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งประเทศไทยมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมากว่า 2,000 กิโลเมตร ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมากในหลายด้าน ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีบทบาทสำคัญที่หาทางออกช่วยเหลือให้สถานการณ์ในประเทศเมียนมาคลี่คลายไปในทิศทางที่ถูกต้องและไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ซึ่งทางรัฐบาลตระหนักดีว่าสถานการณ์ในเมียนมามีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนและมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้น การดำเนินงานทางการทูตที่ผ่านมาเกี่ยวกับประเทศเมียนมา จำเป็นต้องทำอย่างสมดุลในหลากหลายมิติ หลายช่องทาง และทางรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงนโยบายไว้ต่อสภาคือเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทั้งหมดนี้ในทุกมิติก็ต้องมีความเกี่ยวพันกันหมด และจะต้องประเมินจังหวะเวลา น้ำหนักที่เหมาะสมในแต่ละนโยบายที่ใช้ซึ่งบางอย่างก็ต้องดำเนินการอย่างเงียบๆ
ประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงของทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ปกครอง หรือฝ่ายต่อต้าน ฉะนั้น ประเทศไทยมีเป้าหมายชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงและไม่ต้องการเห็นการสู้รบในประเทศเมียนมา แต่มีขั้นตอนและความเปราะบางในหลายจุดสถานการณ์ที่ซับซ้อน ดังนั้น เป้าหมายของไทยคือต้องการเห็นประเทศเมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของเรากลับมาสู่ความสงบสุขมีเสถียรภาพ ประชาชนชาวเมียนมามีความเป็นอยู่ที่ดี และมีการสร้างพัฒนาการที่ก้าวหน้าให้เกิดขึ้น และทั้งหมดเกิดขึ้นในกระบวนการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่มในประเทศเมียนมา
ส่วนเรื่องปัญหาความขัดแย้งในประเทศเป็นเรื่องภายในของประเทศเมียนมาเอง ซึ่งฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาจะต้องหาทางออกสำหรับอนาคตของประเทศกันเองจึงจะมีความยั่งยืน ประเทศภายนอกจะไม่สามารถเข้าไปช่วยบีบบังคับให้ประเทศเมียนมาเป็นไปในรูปแบบที่ต้องการได้ ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญและมีความปรารถนาดีจะช่วยหาทางสนับสนุนให้ฝ่ายต่างๆ หันหน้ามาพูดคุยกันตามกระบวนการที่ทางอาเซียนได้พูดอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความสงบสุขและความปรองดอง มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง และเป็นผลประโยชน์ที่สำคัญเมื่อประเทศเมียนมามีความสงบสุข ก็จะทำให้เป็นผลประโยชน์ที่สำคัญต่อประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและชีวิตประชาชน
ที่ผ่านมาทางรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินการในการดำเนินการทางการทูตเชิงรุก ในระดับทวิภาคี ไทยยังคงช่องทางการสื่อสารกับทางเมียนมาในระดับต่างๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย และร่วมมือแก้ไขปัญหาร่วมกันในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ส่วนในระดับประเทศอาเซียน ประเทศไทยสนับสนุนบทบาทของอาเซียน และการดำเนินการของประธานอาเซียนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อโดยมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศลาว ควบคู่กับการปรึกษาหารืออย่างสม่ำเสมอกับประเทศต่างๆ นอกอาเซียน และหน่วยงานของยูเอ็น นอกจากนี้ประเทศไทยยังผลักดันการหารือระหว่างประเทศเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นพื้นที่ในการหารือกันอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับผลกระทบที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างได้รับจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ซึ่งทุกประเทศที่เข้าร่วมเห็นความสำคัญและชื่นชมประเทศไทย สำหรับการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในเมียนมาประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพมาโดยตลอด ซึ่งประเทศไทยต้องการให้กระบวนการสันติภาพ กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้งโดยยินดีที่จะช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาได้มีโอกาสพูดคุยและหาทางออกโดยสันติ และประเทศไทยจะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ประเทศไทยมีบทบาทในการช่วยเหลือด้านนี้แก่ประเทศเมียนมาตลอด ทั้งในระดับทวิภาคีและผ่านองค์การระหว่างประเทศ
นโยบายที่ใช้กับเมียนมาไม่ใช่รูปแบบเก่า ทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกทุกประเทศเป็นไปในลักษณะใด ดังนั้น การที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบ
อย่างมากจากเมียนมา ทำให้เราต้องแสดงบทบาทนำในการแก้ไขปัญหา ซึ่งการประชุมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมากับเพื่อนบ้านทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอย่างเดียว แต่เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างสมบูรณ์ ทั้งเรื่องความมั่นคงชายแดน รวมทั้งเรื่องการพัฒนา การติดต่อเพื่อการค้าขายตามบริเวณชายแดนปกติ ฉะนั้น มิติของการแก้ไขปัญหาในเมียนมาจะเปลี่ยนแน่นอนโดยเน้นเรื่องความร่วมมือเพื่อให้สถานการณ์เอื้ออำนวยที่จะส่งผลให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนในเมียนมา โดยที่เมียนมาสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งของตัวเองได้อย่างดี และกระทรวงต่างประเทศพร้อมเจรจา ดำเนินนโยบายทางด้านการทูตเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานในประเทศไทยบรรลุผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนจะได้รับ
สำหรับการดูแลผู้ลี้ภัยที่อพยพเข้ามายังประเทศไทย ได้รับการดูแลบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรมทั้งผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ ที่อาศัยในพื้นที่พักพิง 9 แห่งที่มีอยู่ เป็นเวลากว่า 40 ปี และได้ให้ความช่วยเหลือต่างๆ อำนวยความสะดวกในการไปตั้งถิ่นฐานประเทศไทยที่ 3 เป็นขั้นตอนตามปกติที่ทำมา นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีแนวทางในการดูแลกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบที่เข้ามาในประเทศหลังการรัฐประหาร ตามแนวทางของสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งอนุญาตให้อยู่พื้นที่ความปลอดภัยชั่วคราว โดยการดูแลของกองทัพและกระทรวงมหาดไทย กลุ่มที่เข้ามาแสวงหาการทำงานของกระทรวงแรงงาน สำหรับกลุ่มเปราะบางตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างจริงจัง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำกรอบความช่วยเหลือโดยเน้นด้านสาธารณสุข และการศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ซึ่งตรงนี้ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์ อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมาด้วย ขอให้คำมั่นว่าคำนึงถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย
กัณวีร์ สืบแสง
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม (ปธ.)
‘แนะการทูตแทรกแซง-สร้างสรรค์’
สถานการณ์ในประเทศเมียนมาที่จะกระทบกับประเทศไทย ทั้งสถานการณ์ภัยสงคราม ความไม่สงบ สถานการณ์การเมือง รวมถึงคอลเซ็นเตอร์ ขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งวันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายมาริษได้เชิญเพื่อนบ้านประเทศต่างๆ รวมถึงตัวแทนสภาทหารของเมียนมาเข้าร่วมประชุมที่ประเทศไทย ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ให้ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมามาพูดคุย เพราะสถานการณ์ออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งที่อยากถามคือวันนั้นจากการพูดคุยทหารเมียนมาได้มีการมาพูดว่าเขาจะมีการเลือกตั้งในปี 2568 โดยใช้เวทีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจัดตั้งขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นการไปรองรับผลของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือไม่ แต่ทราบหรือไม่ว่าเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยมีกระแสว่าไม่สามารถรับรองผลการเลือกตั้งนี้ได้ ในฐานกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่ยึดหลักประชาธิปไตยจะยอมรับหรือไม่ ท่านมีจุดยืนทางการทูตอย่างไรต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ท่านต้องแสดงออกมา
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพูดเหมือนว่าใช้จุดยืนทางการทูต เอาความมั่นคงนำการทูต ขอให้เปลี่ยนเสียใหม่ เพราะปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปนานแล้ว ถ้าเราจะบอกว่าจุดยืนของเราเป็นการทูตแบบเงียบๆ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ฉะนั้น นโยบายทางการทูตต้องเปลี่ยนเป็นการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ทำอย่างไรก็ได้เพราะประเทศไทยมีภูมิรัฐศาสตร์ดีกว่าประเทศอื่น โดยต้องใช้จุดแข็งด้านกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ทำงานกับเราสามารถแสดงบทบาทผู้นำในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในเมียนมา
ดังนั้น อยากถามว่าจะทำอย่างไรกับแรงงานที่เข้ามาทำงานยังประเทศไทย เพราะบางคนกำลังจะมีต่ออายุการเป็นแรงงาน เพราะได้ข่าวว่าแรงงานที่เข้ามาในประเทศไทยจะนำเงินไปให้ทหารเมียนมาซื้ออาวุธ รวมถึงจะทำอย่างไรกับผู้ลี้ภัยที่เข้ามายังประเทศไทยเป็นหลักแสนคน ที่เป็นเรื่องการทูตระหว่างประเทศ