บิ๊กอ้วน ปลื้มเอกชนผลิต UAV เทียบเท่ามาตรฐานโลก ดันเหล่าทัพ ใช้อุตฯป้องกันประเทศของไทย

‘ภูมิธรรม’ เยี่ยมชม ‘อาร์ วี คอนเน็กซ์’ ผู้ผลิตโดรนสัญชาติไทย ย้ำพร้อมหนุนอุตฯป้องกันประเทศของไทย

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด จ.ปทุมธานี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมกระบวนการผลิตอากาศยานไร้คนขับ (UAV หรือโดรน) และศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ (CSOC) ของ บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และให้บริการเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ชั้นนำของประเทศ โดยมี รศ.ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ ประธานบริษัท พร้อมด้วยผู้บริหาร บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ให้การต้อนรับ

ขณะที่ น.อ.กันต์พัฒน์ มังคละศิริ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด เป็นผู้บรรยายสรุปถึงประเด็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยที่อยากเสนอต่อรัฐบาล โดยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด รวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยหลายรายมีศักยภาพและมีความพร้อมที่ทัดเทียมกับผู้ผลิตยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีของต่างประเทศ โดย บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด มีศักยภาพในการออกแบบ ผลิต UAV และการปรับปรุงอากาศยานรบให้แก่กองทัพอากาศ (ทอ.) ตลอดจนระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti-Drone System), ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link : TDL), ระบบเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย (Intelligent Operation Center : IOC) และงานให้บริการข้อมูล ระบบวิเคราะห์ การเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนเหตุการณ์ (Analysis, Monitoring and Alerting System) นอกจากนี้ บริษัทยังมีความร่วมมือกับศูนย์การทหารปืนใหญ่ กองทัพบก ในโครงการพัฒนาระบบปฏิบัติการ ควบคุมและสั่งการ ศูนย์ปฏิบัติการทางยุทธวิธี กรมทหารปืนใหญ่อีกด้วย

ADVERTISMENT

“ปัจจุบันสถานการณ์โลกมีความเปลี่ยนแปลง เกิดสงครามผสมผสาน (Hybrid Warfare) หรือสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Warfare) ที่ทำให้ต้องพัฒนา UAV และระบบป้องกันใหม่ๆ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย ข้อมูลสารสนเทศและไซเบอร์ จึงขอเสนอรัฐบาลและกระทรวงกลาโหมในกำกับของรองนายกฯภูมิธรรมให้ความสำคัญกับภัยคุกคามสมัยใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ” น.อ.กันต์พัฒน์ระบุ

น.อ.กันต์พัฒน์กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ได้กำหนดแนวทางและนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง สามารถแข่งขัน และลดการพึ่งพาหรือนำเข้าจากต่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของหน่วยปฏิบัติควรดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ดี ระเบียบที่นำไปสู่การปฏิบัติในขั้นตอนการจัดหาอาจยังขาดความชัดเจนและอาจถูกตีความว่าการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะเจาะจงไปที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ปฏิบัติขาดความมั่นใจและกังวลว่าจะถูกกล่าวหาว่าประพฤติทุจริต ส่งผลให้นโยบายการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถสัมฤทธิผลได้ตามเจตนารมณ์

ADVERTISMENT

น.อ.กันต์พัฒน์เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทได้ขยายการตลาดไปยังต่างประเทศโดยมีพันธมิตรความร่วมมือในเรื่อง UAV แล้วในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี แคนาดา โปรตุเกส เป็นต้น ซึ่งในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ขณะนี้ถือเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกเทคโนโลยีป้องกันประเทศไปยังประเทศที่ต้องการทางเลือกนอกเหนือจากชาติมหาอำนาจ โดยอาจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยุทโธปกรณ์ได้

ด้าน นายพิพัฒน์ ถาวรโลหะ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำคณะรองนายกฯเยี่ยมชมขีดความสามารถการพัฒนาและผลิต UAV กล่าวเสริมว่า บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด มีบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ ศักยภาพในการผลิต สามารถรองรับการผลิตและส่งออกนอกประเทศ ซึ่งเราเน้นการวิจัยพัฒนาและพึ่งพาตนเอง เช่น JRV-01 โดรนเป้าบินขับเคลื่อนด้วย jet engine ที่บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด สามารถผลิตได้เองเป็นประเทศแรกในอาเซียน

นายธนจักร วัฒนกิจ รองประธานฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและการวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด นำคณะรองนายกฯเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังความปลอดภัยไซเบอร์ (CSOC) โดยมีระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อภัยคุกคามของข้อมูลสารสนเทศและไซเบอร์ที่ครบวงจร (Managed Detection and Response (MDR) ชื่อ “อะซูไรต์” (Azurites) ที่ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศแล้ว เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา อินเดีย บูรไน เป็นต้น โดยบริษัทลูก “ซินแคลร์” ผู้ให้บริการ MDR ที่ใช้อะซูไรต์ ได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการด้าน MDR จาก Gartner Peer Insights ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) โดยเฉพาะในเรื่องของการประเมินผลิตภัณฑ์และบริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับแพร่หลายทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์การตรวจจับการทุจริต (Fraud Detection) ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ฉบับใหม่ที่จะให้ธนาคารและค่ายมือถือร่วมรับผิดชอบกรณีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน

ภายหลังเสร็จสิ้นการเยี่ยมชม นายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอากาศยานไร้คนขับ UAV หรือโดรน และระบบระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อภัยคุกคามของข้อมูลสารสนเทศและไซเบอร์ของบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ภูมิใจที่รู้ว่าบริษัทไทยมีความสามารถด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและมาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ วันนี้เห็นแล้วว่าบริษัทไทยที่มีขีดความสามารถมีอยู่จริง เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่กระทรวงกลาโหมในการผลักดันให้เหล่าทัพใช้ยุทโธปกรณ์ที่ผลิตจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย

รมว.กลาโหมกล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นภาคเอกชนของไทยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) พิเศษที่ 11 และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงกลาโหมที่ส่งเสริมให้เกิดการเอื้ออำนวยต่อการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของภาคเอกชน ทั้งนี้ ปัจจุบันแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศประมาณ 2 หมื่นคน เป็นส่วนสำคัญที่ยังคงต้องส่งเสริมให้เกิดแรงงานด้านเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดขึ้น เป็นการพัฒนาประเทศและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย

“ผมขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ที่ให้การต้อนรับผมและคณะเป็นอย่างดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเยี่ยมชมโรงงานผลิตในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป” รมว.กลาโหมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image