ไอติม เหน็บ นายกฯ เมินเฉยแก้ รธน.ใหม่ แม้แถลงสภาฯไปแล้ว ยันทำประชามติ 2 ครั้งไม่ขัดกม. ชนินทร์ ลั่น อยากเห็นสส.-สว.เข้าประชุม 13-14 ก.พ.นี้
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มีการจัดเสวนาหัวข้อ “ผ่าน ม.256 เปิดประตูเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่” โดยมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) นายปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และน.ส.ภัสราวดี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ร่วมเสวนา มีนายณัชปกร นามเมือง ตัวแทน iLaw เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยนายปุรวิชญ์ กล่าวถึงความคาดหวังในการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ว่า วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้จะถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของความพยายามที่จะปลดล็อกรัฐะรรมนูญปี 2560 เราเคยพยายามมาแล้ว 26 ครั้งในสภาฯ ชุดที่แล้ว สำเร็จครั้งเดียว แต่จะทำอีกสักครั้งเพราะอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ตนมองว่ารัฐธรรมนูญของไทยสะท้อนสมดุลทางอำนาจของการเมืองไทย ซึ่งที่มีปัญหาคือเรื่องโครงสร้างสถาบันทางการเมือง การจำกัดสิทธิของประชาชน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องไปคลี่ออก อย่างไรก็ตาม ตนได้ตั้งฉายาให้วุฒิสภาว่าผู้รักษาสถานภาพเดิม เพราะเราต้องย้อนกลับไปดูว่าทำไมรัฐธรรมนูญไทยจึงมี 20 ฉบับ เนื่องจากคนชนะจะเป็นคนเขียนกติกา เมื่อเขียนกติกาก็ออกแบบสถาบันมารักษาอำนาจและกติกาของตัวเองเอาไว้ และวุฒิสภาก็เป็นหนึ่งในสถาบันการเมืองที่ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาระเบียบอำนาจทางการเมืองนั้น องค์กรอิสระก็เช่นกัน หากนับตั้งแต่ปี 2540 ตนมองว่าวันนี้องค์กรอิสระไปไกลมากแล้ว เพราะจุดตั้งต้นของการมีองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ในอดีตกระทรวงมหาดไทยจัดเลือกตั้ง ก็บอกว่าการเลือกตั้งไม่เสรีเป็นธรรม ต้องมีองค์กรมาจัดเลือกตั้ง เช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ
นายปุรวิชญ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ เป็นเพียงแค่กระบวนการปลดล็อกเพื่อจะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพียงเท่านั้น ส่วนจะมีการยื่นให้ตีความอีกครั้งนั้น ตอนนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นหลักฐานอยู่ในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ส่วนตัวตนยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องยื่นศาลให้ตีความ นอกจากจะหน่วงเวลาเพื่อเป็นแทคติกทางการเมืองที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญทันในสภาสมัยนี้ และขอขีดเส้นใต้ว่าการเมืองเป็นไปได้หมดหากมีเจตจำนงในการที่จะทำจริงๆ จึงขอส่งเสียงไปยังสมาชิกรัฐสภาทั้ง สส.และสว.ว่าสุดท้ายแล้วมีเจตจำนงอย่างไร สุดท้ายแล้วจะส่งต่ออนาคตของประเทศอย่างไรให้ลูกหลาน
ด้านนายชนินทร์ กล่าวว่า จุดยืนของพรรค พท.เรายื่นแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่สมัยที่เป็นพรรคฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นโอกาสดีที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภารัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรจุวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากหลายฝ่ายทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสว. แม้จะทำได้ยาก แต่เราก็พยายามทำอยู่ โดยในมุมของพรรค พท.เรายืนยันว่าควรทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นั้น ยังไม่ใช่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น เราจึงพยายามให้ความมั่นใจสส. และสว.ที่จะเข้ามาร่วมแก้รัฐธรรมนูญในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ว่าสามารถดำเนินการได้ ไม่ขัดต่อหลักการหรือกฎหมายหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
“ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร เห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก็อยากให้เข้ามาร่วมประชุม มาแสดงความคิดเห็นเพื่อให้สังคมได้เห็นจุดยืนของแต่ละคน ย้ำว่าพรรค พท.เราเขียนหลักการไว้กว้าง คือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเพื่อให้มีบทบัญญัติเรื่องนี้ ไม่ใช่เอารายละเอียดของรูปแบบ สสร.ไว้ในหลักการ หมายความว่าไม่ว่าร่างดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาเข้าไปในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มากน้อยแค่ไหน แต่ก็สามารถปรับแก้เนื้อหารายละเอียดได้“ นายชนินทร์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น นายชนินทร์ กล่าวว่า อาจจะไม่เป็นธรรมที่เราจะใช้เลนส์ของพรรคการเมืองเพียงเลนส์เดียวในการมาบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหา ฉะนั้น จึงอยากโฟกัสว่าสิ่งที่มีการถกเถียงกันมาตลอดจริงๆ คือเรื่องที่มาหรือการยอมรับรัฐธรรมนูญมากกว่า ที่ทำให้ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากเรื่องที่มาหรือการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นมันไม่ถูกต้อง แม้จะมีการทำประชามติและได้รับการเห็นชอบจากคนที่ออกมาทำประชามติเกินครึ่งก็ตาม แต่กระบวนการที่ได้มาก่อนจะทำประชามตินั้นเป็นกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ฉะนั้น กลไกการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เราคาดหวังคือการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือก สสร.ของเขาเองภายใต้บรรยากาศสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่บรรยากาศของกลุ่มคนที่ยึดอำนาจมา นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมหรือเป็นกติกาที่คนไทยทุกคนยอมรับไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นฉันทามติของสังคม ขณะเดียวกันก็มองว่าองค์กรอิสระหลายองค์กรต้องมีการทบทวนที่มา แม้จะเป็นเรื่องที่เราอาจจะยังไม่ชี้ถูกหรือชี้ผิดว่าควรเป็นเช่นไร เพราะต้องมีการมาถกเถียงและพูดคุยกัน รวมถึงเรื่องสิทธิ์ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญว่าเรื่องไหนที่ต้องห้ามหรือเรื่องไหนที่ถือเป็นสิทธิ์ เรื่องไหนต้องมีการพิจารณาภายใต้กฎหมายลูก
นายชนินทร์ กล่าวด้วยว่า ตนขอย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในมาตรา 256 ยังไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาทั้งสส.และสว.ที่จะสามารถทำได้โดยที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราเคยมีการพิจารณาแล้ว แต่ก็ไม่มีใครที่ถูกดำเนินคดีหรือสั่งระงับการกระทำใดๆ ในการพิจารณาครั้งนั้น ส่วนจะต้องมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอีกครั้งหรือไม่นั้น ส่วนตัวตนมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพราะการทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้งเพียงพอแล้ว แต่หากอ้างอิงตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พท. เคยพูดต่อสาธารณะซึ่งเป็นความเห็นของหนึ่งในฐานะของผู้ที่เคยเสนอร่าง อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จและแล้วเสร็จ แต่ก็เป็นความกังวลว่าเขาจะเข้าร่วมหรือลงมติอย่างไร เพราะการที่ไม่เข้าร่วมอาจจะมีมุมมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิ่งที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือหากเข้าร่วมแล้วลงมติด้วยความกังวลว่าขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การล้มกระบวนการทั้งหมด ตนก็เห็นความจำเป็นในสิ่งที่นายชูศักดิ์เคยบอกว่าหากจะล้มด้วยความกังวล ก็ให้สู้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญยังดีกว่าปล่อยให้ล้มไปเลย แต่ย้ำว่าส่วนตัวตนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และไม่มีความกังวลในการยื่นตีความ
นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนหน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญที่พรรค พท.จะเสนอนั้น ประเด็นแรกเรายังยืนยันในหลักการว่าอยากได้ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% แต่ทั้ง 200 คนมาจากการใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เป็นระบบการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด เพราะมองว่าเราไม่สามารถหาสัดส่วนและแบ่งการจำกัดได้ชัดเจนว่านอกจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เราจะใช้สัดส่วนใดมากำหนดประชากรหรือกำหนดประเภทของสสร. ส่วนการยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 นั้น เป็นจุดยืนของพรรค พท.มาตลอดที่เราจะงดเว้นการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 เพื่อให้เดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ได้ และต้องพูดคุยกันในสังคมรวมถึงทำประชามติก่อน อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของพรรค พท.วางกรอบไว้ 180 วันเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเสร็จในรัฐบาลนี้ให้ได้ แต่ก็สามารถที่จะแก้ไขในชั้นกมธ.ได้ ทั้งนี้ พรรค พท.จะมีการประชุมในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งคงจะมีการขอมติในที่ประชุมพรรคอีกครั้งเรื่องการอภิปรายเพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลรับทุกร่าง ตนจะพูดแทนพรรคไม่ได้
ขณะที่นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากลองคำนวณตามไทม์ไลน์แล้ว หากที่ประชุมรัฐสภาไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมี สสร. ในวาระ 1 วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้นั้น การที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ทันต่อการเลือกตั้งปี 2570 ก็จะเป็นไปไม่ได้เลย จึงถือว่าวันดังกล่าวจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะยังคงความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันต่อการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งตนมองว่าฝ่ายการเมืองที่มีความเกี่ยวกับข้องกับเรื่องนี้อาจจะยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่มากพอ นั่นคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่หายไปจากบทสนทนาเรื่องรัฐธรรมนูญ และต้องยอมรับว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่นโยบายของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่เคยแถลงต่อรัฐสภาไว้ด้วย โดยขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 5 วันเท่านั้นก่อนจะถึงวันที่มีการพิจาณาในวาระที่ 1
”ทั้งนี้ อย่าว่าแค่นายกรัฐมนตรีจะพูดถึงเลย แต่ปกติเราจะเห็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอร่างเข้ากฎหมายต่างๆ เข้ามาประกบด้วยไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอะไรก็ตาม แค่ทำไมเมื่อเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญเราจึงเห็นเพียงแค่ร่างของพรรค พท. หากจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่เรื่องฝ่ายบริหารนั้น เราจะมองเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเราอยู่ในระบบรัฐสภา ที่เลือกฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติแยกกัน เนื่องจากฝ่ายบริหารอยู่ได้เพราะได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายสภา ฉะนั้น หัวหน้าฝ่ายบริหารหรือนายกรัฐมนตรีย่อมถูกคาดหวังให้รับผิดชอบงานของรัฐบาลในสภาด้วย นั่นคือการแก้กฎหมายในสภา อีกทั้งยังมีเรื่องการโน้มน้าวเสียงในสภาด้วย และระยะเวลาก่อนที่จะมีการพิจารณาในวาระที่ 1 นั้น ผมจึงอยากเห็นนายกรัฐมนตรีออกมาช่วยกันอีกหนึ่งแรงเพื่อให้นโยบายเรือธงอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลนั้นประสบความสำเร็จและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาได้“ นายพริษฐ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนมองว่ามี 4 โจทย์ที่หากจะมี สสร.แล้วต้องไปขบคิดกันคือ 1.วุฒิสภา ที่เราต้องไปคิดกันว่าสุดท้ายต้องออกแบบระบบรัฐสภาแบบสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ หากสภาคู่ที่มีวุฒิสภาด้วยนั้นเราจะทำอย่างไรให้วุฒิสภามีที่มาและอำนาจสอดคล้องกันมากขึ้นตามระบบสากลที่หากวุฒิสภาจะมีอำนาจสูงต้องที่มาจากการเลือกตั้งและยึดโยงกับประชาชน 2.ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ประชาชนคาดหวังให้เข้ามาทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นมีการออกแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีการขยายขอบเขตอำนาจ เช่น เรื่องการยุบพรรคการเมือง นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่มา ที่เราจะทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งคนที่ประชาชนเชื่อมั่นจริงๆ รวมถึงกลไกการให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ ที่ในอดีตประชาชนสามารถเข้าชื่อถอดถอนได้ แต่ในปัจจุบันสิทธิ์เหล่านี้กลับหายไป 3.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนเรื่องของการกระจายอำนาจแม้แต่คำเดียว และเนื้อหาสาระก็ถูกมองได้ว่ามีบทบัญญัติที่ทำให้การกระจายอำนาจไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น และ 4.นโยบายของรัฐบาลที่ยังถูกครอบงำโดยยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. ที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้นโยบายของรัฐบาลไม่คล่องตัวหรือเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้เท่าที่ควร
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องสิทธิ์เสรีภาพของประชาชนที่อ่อนแอลง แม้จะถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ก็ไม่ได้ถูกเขียนในลักษณะที่รัดกุม ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิ์ในการที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และอีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 25 ที่ไปเพิ่มเงื่อนไขให้รัฐเข้ามาจำกัดเสรีภาพของประชาชนด้วย ซึ่งนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ตนมองว่าเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงอยากให้สส.และสว.ได้อ่านก่อนว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาอย่างไรบ้าง แต่หากจะถามว่าเมื่อมีปัญหาแล้วทำไมไม่แก้ไขรายมาตรา ทำไมต้องมาแก้ไขทั้งฉบับ ก็เหมือนกับการที่เราเข้าไปอยู่ในบ้านหลังหนึ่งที่มีคนสร้างมา เราไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ ในบ้านหลังนั้นมีปัญหาเยอะแยะ มีรูรั่วในหลายห้อง แม้จะมีการบอกให้ไปแก้ทีละจุดก็สามารถที่จะทำได้ แต่อีกมุมหนึ่งประชาชนก็อาจจะมองว่าแทนที่จะไปแก้ทีละจุดที่มีปัญหาและเชื่อมโยงกันนั้น การทำบ้านหลังใหม่เลยอาจจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่ารวมถึงยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบ เพราะจะทำให้รู้สึกหวงแหนบ้านหลังนั้นด้วย จึงเป็นที่มาของการที่เราเห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับ การแก้ไขเฉพาะรายมาตรานั้นไม่เพียงพอ
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากประชุมรัฐสภาเห็นชอบผ่านทั้ง 3 วาระตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) ต้องมีการจัดทำประชามติหลังวาระ 3 และหากประชาชนเห็นชอบก็จะมีผลบังคับใช้ นำไปสู่การมี สสร.เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากนั้นก็จะมีการทำประชามติอีกครั้งว่าประชาชนเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และในปี 2564 ก็มีคนเคยยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตอบกลับมาว่าวินิจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดย ให้ประชาชนผู้มีอำนาจได้ลงประชามติก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วก็ต้องให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่ จะเห็นว่ามีประชามติแค่ 2 ครั้งคือประชามติก่อนกับประชามติหลัง ซึ่งตอนนั้นพรรคก้าวไกลและพรรค ปชน.ก็เห็นตรงกัน แต่ก็มีคนไปตีความว่าประชามติไม่ได้หมายความว่าก่อนที่จะให้สสร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ก่อนที่จะให้พรรคการเมืองเสนอร่างเข้าไปในวาระที่ 1 จึงมีการงอกประชามติขึ้นมา และเมื่อต้นปี 2567 พรรค พท.จึงเสนอให้ยื่นเรื่องไปถามศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แต่ปรากฎว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับ บอกว่าคำวินิจฉัยนั้นชัดเจนแล้ว
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนยืนยันว่าการทำประชามติ 2 ครั้งไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นสามารถทำได้ แม้สว.บางคนจะมองว่าทำได้แค่แก้ไขรายมาตรา ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าสามารถทำได้ หากเดินตามร่างแก้ไขของพรรค ปชน. และพรรค พท.แม้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านทั้ง 3 วาระแล้ว แต่สสร.ก็ไม่ได้เกิดขึ้นทันที ต้องถามความเห็นของประชาชนก่อน ส่วนที่มีข้อกังวลว่ายังมีเสียงที่เห็นต่าง หากมีการพิจารณาในสภาแล้วจะเป็นปัญหาหรือไม่ หากยังจำกันได้ว่าเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมานั้น เราก็มีการพิจารณาวาระคล้ายๆ กัน เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาก็ไม่ได้บอกให้รัฐสภายุติการพิจารณา วันนั้นที่ประชุมรัฐสภาก็เดินหน้าพิจารณาวาระ 3 ต่อ แม้จะมีสมาชิกบางคนกังวลและไม่ไปลงมติในวันนั้น แต่ก็ยังมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยทั้ง สส.และสว.ลงมติ ซึ่งก็ไม่ได้มีผลเสียหายอะไรเกิดขึ้น จึงยืนยันว่าสมาชิกรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการเข้ามาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ส่วนจะต้องมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอีกครั้งหรือไม่นั้น ตนมองว่าการทำประชามติ 2 ครั้งพอและไม่ถึงความจำเป็นว่าต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง สำหรับใครที่คิดว่าจะยื่นนั้น ตนก็มีความกังวลว่ายื่นแล้วจะได้อะไร เพราะมุมหนึ่งที่หากยื่นไปแล้วก็อาจจะได้คำตอบเหมือนตอนที่พรรค พท.เคยยื่นไปเมื่อปี 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้วินิจฉัย หรือหากรับเรื่องไว้ก็อาจจะได้คำตอบเหมือนปี 2564 ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่พรรค ปชน.จะเสนอจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ตนคิดว่าหลักๆ มี 2 หัวข้อคือการให้มี สสร.เข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมาจากการเลือกตั้ง 100% แต่เป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งการเลือกตั้ง 200 คนออกเป็น 100 คนใช้จังหวัดเป็นการเลือกตั้ง และอีก 100 คนใช้กรุงเทพฯ เป็นเขตเลือกตั้ง และเปิดให้ตัวแทนของตัวเองเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญได้เพื่อให้มีความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม สสร.ควรมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับเพียงแค่ล็อกไว้ห้ามไปแก้ไขอะไรที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ ซึ่งเมื่อล็อกในส่วนนี้ไว้แล้วก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะไปล็อกหมวด 1 และหมวด 2
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้เกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเดิมการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะแก้ไขเพียงแค่ถ้อยคำเดียวต้องอาศัยเสียงของรัฐสภาทั้งหมด 3 ส่วนคือ ต้องได้เกิน 50% แต่ต้องเป้น 1 ใน 3 ของสว. และมี 20% ของสส.ฝ่ายค้าน ฉะนั้น ตนเห็นว่าการจะตัดเงื่อนไข 1 ใน 3 ของเสียงสว.ออกที่เคยได้ผ่านการเห็นชอบมาแล้วในปี 2563 นั้น จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการที่จะไม่เห็นชอบในปีนี้ และการแก้ไขรายมาตราบางมาตรานั้น มีเงื่อนไขที่บอกว่าแม้จะผ่าน 3 วาระไปแล้ว ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็บอกว่าหากจะไปแก้ไขมาตราหมวด 1 หมวด 2 หมวด 15 นั้น หรืออะไรก็ตามเกี่ยวกับคุณสมบัตินักการเมือง อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ต้องมีการทำประชามติปิดท้าย ครั้งนี้เราก็มองว่าบางเรื่องในหมวด 15 ที่มีการแก้ไขควรมีการทำประชามติปิดท้าย ซึ่งเราวางกรอบไว้ 360 วันในการจะทำให้รัฐธรรมนูญเสร็จ