เท้ง นำส.ส.ปชน. บี้นายกฯยุบสภา ยันชัดล่มแก้รธน. สะท้อนปัญหาพท.-ภท. ไม่ใช่ข้อกม.อย่างที่อ้าง

‘ณัฐพงษ์’ แถลงจี้ ‘นายกฯ’ ใช้อำนาจผู้นำ ‘ยุบสภา’ หาก ‘พรรคร่วม รบ.’ ไม่ทำตาม มองยังขาด 3 เรื่อง ‘ เจตนารมณ์การเมือง-ความเป็นนิติรัฐ-ไม่เคารพเสียง ปชช.’ ด้าน ‘พริษฐ์’ สงสัยสัมภาษณ์ ‘อนุทิน-อุ๊งอิ๊ง’ ไม่เหมือนกัน แล้วใครพูดจริง ชี้ หากกังวลข้อกฎหมายจริง ควรชวน ‘ภท.’ ลงชื่อส่ง ‘ศาล รธน.’ ตีความ เชื่อ เสียง ‘สว.น้ำเงิน’ ย้อนแย้ง เป็นเครื่องประจักษ์ความแตกแยก ‘รัฐบาล’

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา พรรคประชาชน นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน แถลงภายหลังการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวดมาตรา 15/1 ภายหลังองค์ประชุมไม่ครบ จนทำให้ต้องปิดประชุม ต่อเนื่องเป็นวันสอง

โดย นายณัฐพงษ์กล่าวว่า พรรคประชาชนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวาระนี้แทบจะเป็นโอกาสสุดท้าย ที่พวกเราคิดว่า ถ้าสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็ยังพอมีโอกาสที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทันต่อการเลือกตั้งปี 2570 พวกเราเชื่อว่า การแก้ไขเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มีกระบวนการที่สามารถเดินทางอย่างตรงไปตรงมาได้ ไม่จำเป็นต้องเดินอ้อม เพราะพวกเราไม่เชื่อว่าการเดินอ้อมแบบที่เป็นอยู่ จะสามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พวกเราเห็นแล้วว่า ช่วงระหว่างพักการประชุม วิปทั้ง 2 ฝ่าย เข้าไปหารือร่วมกัน เพื่อที่อย่างน้อยๆ ถ้าสมาชิกจากฝั่งรัฐบาลยังมีข้อกังวลเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย หรือกังวลว่าถ้าเดินหน้าเข้าสู่วาระการประชุมในครั้งนี้ อาจจะมีการพัวพัน หรือมีการฟ้องร้องไปถึงข้อกฎหมายต่างๆ ได้นั้น เราก็ยังควรเปิดโอกาสให้มีการหารือ หรืออภิปรายกันก่อน เพื่อให้สังคม หรือเพื่อนสมาชิกต่างๆ มีความเข้าใจมากขึ้น

ADVERTISMENT

แต่ผลปรากฏว่า ภายหลังจากการประชุมวิปร่วมกัน ในช่วงระหว่างพักการประชุมที่ออกมา เมื่อดำเนินการประชุมต่อนั้น พบว่า ฝั่งรัฐบาลเองก็ยังเดินหน้าที่จะให้มีการนับองค์ประชุมต่อ จนนำมาสู่การที่สภาล่ม นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะพยายามเดินอ้อมอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้

ดังนั้น สิ่งที่พวกเราเชื่อว่าเป็นทางออกในการเดินหน้าทางตรงเพื่อแก้ไขปัญหา ที่ประเทศไทยในปัจจุบันยังขาดอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการเดินหน้าอย่างจริงจังตรงไปตรงมาต่อประชาชน คือ 1.เรื่องของการขาดเจตจำนงทางการเมือง ซึ่งพวกเรายืนยันว่า ถ้าก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยได้มีการพูดคุยหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างจริงจังเดินหน้าอย่างเต็มที่ ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอเข้ามา ก็ควรจะต้องถูกเสนอเข้ามาเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่นี่กลับเป็นร่างของพรรคเพื่อไทยเพียงร่างเดียว จนทำให้การประชุมทั้ง 2 วันที่ผ่านมา พบกับเหตุการณ์แบบที่เป็นอยู่ คือไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

ADVERTISMENT

ตลอดจนเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีการให้สัมภาษณ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุ ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แทบไม่เคยที่จะเข้าไปหารือเรื่องนี้กับพรรคภูมิใจไทย ในการจะพยายามผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเลย ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการขาดเจตจำนงทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน ว่าไม่ได้มีความจริงใจ ในการที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทย ระบุต้องเดินอ้อม เพื่อที่จะไม่ทำให้สภาล่มนั้น ก็เป็นข้ออ้าง เพื่ออธิบายสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น คนในพรรคเพื่อไทยเอง ก็มีการให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิด ที่มีเสียงโหวตจากฝั่งของสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ทำให้ต้องมีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ และพอตั้งรับไม่ทัน ก็เลยหาเหตุผลอธิบายเฉพาะหน้า

2.การขาดความเป็นนิติรัฐ ซึ่งจะเห็นจากบรรยากาศในที่ประชุม ที่มีสมาชิกรัฐสภาในหลายส่วนออกมาให้ความเห็นถึงข้อกังวลว่า จะมีการไปยื่นร้อง หรือมีผลพัวพันทางกฎหมายทีหลัง ในวันนี้เอง แม้แต่การที่เราจะขอให้มีการหารือ โดยยังไม่มีการเข้าญัตติการพิจารณา ก็ยังไม่เปิดโอกาสให้พวกเราหารือ ทั้งๆ ที่เวทีในการประชุมรัฐสภาควรจะเป็นเวทีที่ปลอดภัยที่สุด

“ประเทศเราไม่ได้ถูกปกครองภายใต้กฎหมาย รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด แต่เรากำลังอยู่ภายใต้การปกครองของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกลายเป็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใหญ่กว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ และสมาชิกรัฐสภา แทนที่จะยึดถือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และตีความเอง กล้าใช้อำนาจของตัวเองเป็นหลัก กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น สุดท้ายหากจะทำอะไร เพื่อผลประโยชน์ของพ่อแม่พี่น้องประชาชน ก็ต้องวิ่งกลับไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน” นายณัฐพงษ์กล่าว

3.การไม่เคารพเสียงของประชาชน ซึ่งนโยบายในการหาเสียงของทุกพรรคในช่วงเลือกตั้ง ก็มี ข้อเสนอแบบเดียวกัน ว่าจะเร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ยังเป็นนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเช่นเดียวกัน

“ดังนั้น วิธีในการหาทางออกเรื่องนี้ ถ้านายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาล มีความจริงจังที่จะเดินหน้าเรื่องนี้ นายกฯเป็นคนที่ถืออำนาจสูงสุดอยู่แล้วในการยุบสภา นายกฯสามารถที่จะเข้าไปเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล และแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของประชาชน ถ้าไม่สามารถที่จะเดินหน้าผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทุกพรรคร่วมรัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ นายกฯมีอำนาจในการยุบสภา เพื่อคืนเสียงให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชนได้ เพราะฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2 วันที่ผ่านมา ผมอยากยืนยันว่า นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเราต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายณัฐพงษ์กล่าว

ด้าน นายพริษฐ์กล่าวว่า ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนน่าจะตัดสินใจได้ พรรคไหนจริงจังจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาชนเรายืนยันว่า เราต้องการผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อให้เรามีระบบการเมืองที่ดีขึ้น และทำให้ผู้แทนราษฎรนั้น สามารถแก้ไขปัญหาประชาชนได้อย่างตรงจุดได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ตนเข้าใจดีว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จนั้น มีบทบัญญัติที่เขียนเอาไว้ชัดเจน ว่าจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ ทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และที่สำคัญก็คือ 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเราจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทย ได้ให้เหตุผลถึงความกังวลใจ หากเดินหน้าพิจารณา และมีการลงมติ อาจจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะจากพรรคภูมิใจไทย และ ส.ว.บางส่วนที่หลายคนวิเคราะห์ว่า อาจจะมีชุดความคิดคล้ายๆ กับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งอาจไม่ลงมติ หรือมีแนวโน้มจะไม่ลงมติเห็นชอบ เพราะเรื่องข้อกังวลทางกฎหมาย

แต่ตนอยากจะชวนสังคม และประชาชนตั้งคำถาม ว่าสาเหตุของอุปสรรคที่เราไม่ได้เสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และ ส.ว.กลุ่มนี้ เป็นเพราะข้อกังวลทางกฎหมายจริงๆ หรือเป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

หากเชื่อว่า สาเหตุที่แท้จริงแล้ว คือข้อกังวลทางกฎหมาย ในมุมหนึ่ง พรรคประชาชนก็ยืนยันว่า สิ่งที่รัฐสภาดำเนินการอยู่ ไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัย 4/2564 และหากวันนี้สมาชิกพรรคเพื่อไทยร่วมเป็นองค์ประชุมให้เราสามารถประชุมต่อได้ ก็จะเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะได้ร่วมกันชี้แจงกับสังคม และสมาชิกรัฐสภาว่า ทำไมสิ่งที่เราดำเนินการอยู่นั้น ร่างแก้ไขของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ในอีกมุม คนก็เข้าใจว่าเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่อาจจะเสนอส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งพรรคประชาชน เราเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการส่งเรื่องไปจริง ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าฝ่ายที่ส่งไปนั้นจะได้คำตอบที่ตัวเองต้องการ เนื่องจากเคยมีการส่งเรื่องไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาแล้ว 2 ครั้ง

“หลักฐานที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งเป็นต้นเหตุและสาเหตุของการที่เราไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และ ส.ว.กลุ่มนี้ ไม่ใช่เพราะสาเหตุเรื่องข้อกังวลทางกฎหมาย ไม่ใช่เพราะสาเหตุเรื่องความไม่ชัดเจนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และ ส.ว.กลุ่มนี้ ก็ไม่ได้มาลงมติเห็นชอบ ต่อการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ หากพรรคเพื่อไทยจะบอกว่า การมีความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นสิ่งที่ทำให้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และ ส.ว.กลุ่มนั้นเห็นชอบ แล้วเหตุใดเจ้าตัวเขาเองก็ถึงไม่มาลงมติเห็นชอบเพื่อส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ ว่าต้นตอและสาเหตุ คือความขัดแย้งกันทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งปรากฏให้เห็นไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญ แต่กับเรื่องอื่นๆ ด้วย”

เมื่อถามว่า พรรคประชาชนจะเดินต่อไปอย่างไร นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ถ้าเรามองย้อนเหตุการณ์กลับไปในภาพรวม ถ้าพรรคเพื่อไทยมีเจตจำนง ในการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาจะต้องมีการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งพรรคภูมิใจไทย ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องแก้ไขสถานการณ์ในเรื่องนี้

นายพริษฐ์กล่าวเสริมโดยแยก 2 ขั้นตอน คือขั้นตอนแรก เราไม่เห็นถึงเหตุผล หรือความจำเป็นที่ต้องยุติการประชุม เพราะมีนัดประชุมรัฐสภาแล้ว หากกังวลว่า เมื่อเข้าญัตติแล้วปลายทางเมื่อมีการลงมติ เสียงสนับสนุนจะไม่เพียงพอ ก็ไม่เป็นประเด็น เพราะเราสามารถเดินหน้าอภิปรายต่อได้ ซึ่งเมื่อถึงขั้นที่ต้องลงมติ และมีความกังวลใจ ก็เข้ามาหารือกันได้อีกครั้งหนึ่งว่า จะเลื่อนการลงมติออกไปหรือไม่ เพราะเราไม่เข้าใจเหตุผลที่จะเสียเวลา 2 วันเต็มๆ แทนที่เราจะได้ใช้พื้นที่รัฐสภาเพื่อสื่อสารกับประชาชนที่รอฟังอยู่ และการที่บทสัมภาษณ์ของนายอนุทินและนายกรัฐมนตรีที่แตกต่างนั้น ตนขอฝากคำถามกับสื่อมวลชนไปด้วยว่า “ตกลงใครพูดจริง”

ส่วนการหารือของวิปเมื่อช่วงเช้าก่อนการประชุมนั้น นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานวิปฝ่ายค้าน จะชี้แจงผ่านทางโซเชียลมีเดียอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุ ควรชะลอ เนื่องจากหากปล่อยให้โหวตจะตกเหว นายพริษฐ์ระบุว่า หากจุดหมายปลายทางการอภิปรายยังไม่สามารถโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาได้ มองซ้ายมองขวาไปแล้วเห็นว่า จำนวน ส.ว.ที่เข้าห้องประชุมมีไม่ถึง 67 คน หรือ 1 ใน 3 ที่เพียงพอต่อการจะทำให้สามารถผ่านวาระ 1 ได้นั้น ก็สามารถหารือกันได้ว่า จะเลือกการลงมติต่อหรือไม่ ถ้ากังวลใจเรื่องการลงมติ ตามการใช้คำพูดของพรรคเพื่อไทย คือลงเหว ก็ยังไม่ต้องลงมติก็ได้ แต่ควรให้มีการอภิปรายต่อไปก่อน

“คำถามที่ต้องถามกลับไป ถ้าเราเห็นว่า การเดินตรง มีเหว มีอุปสรรคอยู่ข้างหน้า แล้วที่ผ่านมา ท่านนายกฯเห็นไหม ได้พยายามเต็มที่แล้วหรือยัง ในการพยายามคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเคลียร์อุปสรรคนี้”

เมื่อถามว่า หากมีการส่งคำร้องอื่นที่ไม่ซ้ำกับ ส.ว. พรรคประชาชนมีจุดยืนอย่างไร นายพริษฐ์กล่าวว่า เราศึกษาข้อมูลกฎหมายมาแล้ว พรรคประชาชนยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สามารถเดินหน้าได้เลย ไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องชะลอ เรื่องนี้ไว้ โดยการส่งไปศาลก่อน

ส่วนมั่นใจหรือไม่ว่าหากเลื่อนการลงมติจะผ่าน นายณัฐพงษ์มองว่า คำว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าให้ตนตอบตามข้อเท็จจริงตามระบบของการเมืองปัจจุบัน แน่นอนปัจจัยที่สำคัญที่สุด ก็คือฝั่งของพรรคภูมิใจไทย และต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า อาจจะไม่ผ่าน มีแนวโน้มสูง

ส่วนความกังวลเรื่องเสียง ส.ว.นั้น นายณัฐพงษ์มองว่า สุดท้ายก็กลับมาที่เรื่องของการควบคุมเสียงทั้งฝั่งรัฐบาล ถ้าพรรคเพื่อไทยยืนยันจริงๆ ว่า สิ่งที่พรรคต้องการในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือความชัดเจนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไปเชิญชวนพรรคภูมิใจไทย ให้มาลงมติสนับสนุน การส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image