นายกปลื้มไทยพัฒนายั่งยืน คว้าอันดับ 1 อาเซียน 6 ปีซ้อน ขึ้นเวทีหอค้าตปท. ชูโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ผู้ว่า ททท. ชี้สมรสเท่าเทียม ดึง ‘LGBTQ’ แห่เที่ยวเพียบ สอท. แนะรับมือภาษีมะกัน
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ห้องแกรนด์ บอลรูมโรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงาน JFCCT Prime Ministers Address Luncheon 2025 ของหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand: JFCCT) ในหัวข้อ Sustainable Thailand-Advancing with Reforms โดยมี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม นางวีเบ็คก้า ลิสซานด์ เลอร์ว็อก ประธาน JFCCT และผู้แทน JFCCT คณะทูตานุทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้บริหารภาคเอกชนจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เข้าร่วม
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานที่มีผู้นำภาคธุรกิจและผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกเข้าร่วมจำนวนมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่างประเทศต่ออนาคตทางเศรษฐกิจไทย ขอบคุณ JFCCT ที่ส่งเสริมการค้าการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย
- ปลื้มไทยที่1อาเซียนพัฒนายั่งยืน
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน จะช่วยประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง รัฐบาลให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และพร้อมร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาระหว่างประเทศที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ ภายในปี ค.ศ.2030 โดยดัชนีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี ค.ศ.2024 ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 45 ของโลก เป็นที่ 3 ในเอเชีย และอันดับที่ 1 ในอาเซียน ติดต่อกัน 6 ปี (ค.ศ.2019-2024)
‘รัฐบาลมุ่งมั่นเปลี่ยนการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมให้เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทยเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น โดยสนับสนุนการใช้โมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้นวัตกรรมและมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมหลัก’นายก ฯ กล่าว
ขณะที่ น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การประกาศสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีผลวันที่ 23 มกราคม 2568 ในประเทศไทย ส่งผลให้ไทยเป็น 1 ใน 40 ประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้มีการสมรสเท่าเทียม ถือเป็นผลดีต่อไทย โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ที่มีเทศกาลวาเลนไทน์ คาดจะดึงดูดกลุ่มหลากหลาย LGBTQ+ คู่รักและคู่แต่งงาน เดินทางเข้ามาฮันนีมูน หรือจัดงานแต่งงานในไทยมากขึ้น โดยกลุ่ม LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลกมีจำนวน 500-600 ล้านคน
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงประเด็นการประกาศขึ้นภาษีประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐอเมริกาและการเรียกเก็บภาษีประเทศที่เก็บกับสหรัฐในอัตราที่เท่ากัน ของ
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่า ประเทศไทยถือว่าอยู่ในหมวดประเทศมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับขึ้นภาษีในสินค้าบางประเภท เนื่องจากล่าสุดไทยเป็นประเทศที่เกินดุลสหรัฐเป็นลำดับที่ 10 อยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมปี 2562 สมัยที่นายทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกไทยอยู่ลำดับที่ 14 เกินดุลอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าไทยเป็นประเทศอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากเวียดนามที่เกินดุลการค้าจากสหรัฐ ดังนั้นจึงเป็นประเทศที่มีความเสี่ยง น่าจะถูกจับตามองตามลำดับของการเกินดุล
“ไทยต้องทำการบ้านอย่างรอบคอบ ดูว่ามีสินค้าอะไรที่จะซื้อจากสหรัฐเพิ่มขึ้นได้บ้าง เช่น สินค้าการเกษตร ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ธัญพืช เพื่อนำเข้ามาทำอาหารสัตว์ รวมถึงกลุ่มปิโตรเคมี อนาคตอาจจะมองการซื้ออาวุธ หรือเครื่องบิน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ไม่ให้เกิดการเกินดุลมากเกินไป จะช่วยทำให้ได้ประโยชน์วิน-วิน ทั้ง 2 ประเทศ สำคัญที่สุดผู้จะทำหน้าที่เจรจาหรือล็อบบี้ยิสต์ ต้องเก่ง สามารถนำเสนอ พูดคุยต่อรองได้เป็นอย่างดี” นายเกรียงไกรกล่าว