จับสัญญาณแก้ม.256 วัดฝีมือ ‘อิ๊งค์-พท.’ บริหารจัดการพรรครบ.

จับสัญญาณแก้ม.256
วัดฝีมือ‘อิ๊งค์-พท.’
บริหารจัดการพรรครบ.

การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หนึ่งในนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่แถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภาตั้งแต่สมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

ทำท่าว่าจะเดินหน้าลำบาก สะท้อนผ่านสัญญาณการแก้ไข แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) และคณะ

และร่างของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ต้องประสบปัญหาองค์ประชุมล่ม เดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไม่ได้ หลังมีความเห็นต่างจากของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ประกาศมติพรรค ภท.ชัดเจน ว่าพรรค ภท.ไม่ขอร่วมพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256

ADVERTISMENT

เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ระบุว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง” โดยฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภาให้ความเห็นว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ต้องดำเนินการทำประชามติ 3 ครั้ง ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

สอดคล้องกับท่าทีของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.ส่วนใหญ่ ยังมีความกังวลถึงความชัดเจนในการทำประชามติ จึงไม่กล้าเสี่ยงที่จะร่วมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของที่ประชุมรัฐสภา เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกร้องเรียนตรวจสอบจริยธรรมภายหลัง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติ ก่อนการพิจารณาแก้ไขมาตรา 256

ADVERTISMENT

สถานการณ์ความเห็นต่างผ่านการไม่ร่วมประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่มีหนึ่งในสองฉบับเป็นร่างที่พรรค พท.เสนอ ของพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรค ภท.และพรรคร่วมอื่นๆ สะท้อนความเป็นจริงของรัฐบาลผสม ตามที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค พท. ยอมรับว่า เป็นกลไกทางสภา เมื่อสองสภามีความเห็นที่ต่างกันจึงเป็นแบบนี้ หากเรื่องใดที่เห็นตรงกันจะไม่ออกมาเป็นแบบนี้

ยอมรับว่าหลายเรื่องคิดเห็นตรงกัน แต่เมื่อเป็นรัฐบาลผสม จะเหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ โดยเราเคารพสิทธิในความเห็นนั้น ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ยอมรับว่า มีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะ จึงขับเคลื่อนการทำงานและนโยบายของรัฐบาลได้ช้า เพราะบางเรื่องก็ต้องรับฟังเสียงของพรรคร่วมด้วย

เช่นเดียวกับที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. สะท้อนการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค พท.ไว้ว่า

เป็นธรรมดาของรัฐบาลผสม ถ้าจะให้การขับเคลื่อนได้รวดเร็วต้องเลือกพรรค พท.เยอะๆ การเมืองก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในสมัยที่นายทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่พรรคไทยรักไทยมาจนถึงพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนั้นมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 251 เสียง การทำอะไรมันก็เร็ว แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ ตอนนี้เป็นรัฐบาลผสม เป็นส่วนของพรรค พท. 142 เสียง และพรรคร่วมรัฐบาลอีกเกือบ 180 เสียง จะให้มีเสียงเบ็ดเสร็จเหมือนในอดีตคงไม่ได้ ซึ่งนายทักษิณและทุกฝ่ายก็ต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์

ความเห็นต่างทางการเมืองที่เกิดขึ้น ภายใต้การทำงานของรัฐบาลผสมที่มีพรรค พท.เป็นแกนนำ สะท้อนการขับเคลื่อนนโยบายหลายเรื่องที่ไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ตามที่พรรค พท.แกนนำรัฐบาลต้องการ

ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถฝ่าด่านความเห็นต่างของพรรคร่วมไปได้ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ยังต้องลุ้นผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมวุฒิสภา การแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่ชายแดนเมียนมา ในประเด็นการตัดไฟฟ้าที่ต้องทำความเข้าใจกันระหว่างแกนนำพรรค ภท.ที่กำกับดูแลการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กับสภา ความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หนึ่งในหน่วยงานความมั่นคงที่กำกับดูแลโดยพรรค พท. ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรต่อการทำความเข้าใจให้ผู้กำกับนโยบายของทั้งสองหน่วยงานเห็นตรงกัน

ซึ่งยังไม่นับรวมกับนโยบายต่างๆ ที่พรรค พท.จะเดินหน้าต่อนับจากนี้ ในห้วงอายุรัฐบาลที่เหลืออยู่ นอกจากนี้ยังมีวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างพรรค ปชน. จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งผลกระทบต่อการอภิปรายผ่านตัวเลขการลงมติไว้หรือไม่ไว้วางใจ ทั้งตัวนายกฯ และรัฐมนตรี จะเป็นอีกดัชนีชี้วัดที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ของรัฐบาลผสม ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ดีไซน์การเมืองให้ออกมาเป็นรัฐบาลผสม ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาล
พรรคเดียวเหมือนเช่นในอดีตได้

การแก้ปัญหาความเห็นต่างทางการเมืองผ่านการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลนับจากนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือผู้นำรัฐบาลอย่าง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พท. ในฐานะแกนนำพรรครัฐบาล จะต้องแสดงฝีมือบริหารจัดการการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันให้ได้ โดยยึดจุดร่วม สงวนจุดต่าง

หากนายกฯแก้ปัญหาความเห็นต่างของรัฐบาลผสมไม่ให้ความขัดแย้งขยายวงได้ ย่อมจะเป็นผลดีต่อการเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาลร่วมกัน รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ ย่อมมีความหวังที่อาจจะประสบความสำเร็จได้

หากออกมาในทางตรงข้าม ผู้นำรัฐบาลไม่สามารถขจัดความเห็นต่างภายในพรรคร่วมรัฐบาลที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ จะถือเป็นการนับถอยหลังของรัฐบาลผสม ก่อนครบวาระ 4 ปี ในปี 2570

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image