สถานีคิดเลขที่ 12 : รัฐธรรมนูญไร้รัก

สถานีคิดเลขที่ 12: รัฐธรรมนูญไร้รัก

แม้การพิจารณา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งล่าสุด จะดำเนินไปท่ามกลางบรรยากาศแห่งความรัก

แต่กระนั้น ภาพที่ปรากฏต่อสายตาประชาชน วาเลนไทน์ไม่ได้เป็นสีชมพูเลย

หากแต่เป็น “Blueวาเลนไทน์” อันเซื่องซึมหม่นหมองมากกว่า

ADVERTISMENT

ซึ่งก็หมายเหตุต่อสักนิดว่า เป็นการเซื่องซึมหม่นหมอง สำหรับฝ่ายที่อยากเห็นการเริ่มต้น “รัฐธรรมนูญใหม่” จากตัวแทนประชาชนจริงๆ

แต่อีกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่มีส่วนการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งจะโยงถึงการเมือง “พันลึก” แค่ไหนไม่อาจพูดให้ชัดๆ แต่เราก็ประจักษ์ชัดแจ้งถึงเป้าประสงค์ชัดเจน ที่จะ “แช่แข็ง” ประเทศไทยเอาไว้ ณ จุดแบบนี้ คือ “ห้ามแตะต้อง-ห้ามเปลี่ยน”

ADVERTISMENT

โดยฝั่งฟากนี้ คงปลาบปลื้มยินดี ในความเก่งกาจของตนเอง ที่สามารถปกปักรักษา “รัฐธรรมนูญ” ที่สืบทอด “ดีเอ็นเอ” จากการรัฐประหาร เอาไว้ได้อย่างทรงอานุภาพ

ใครคิดจะเปลี่ยน-แก้ไข-รื้อใหม่ ไม่มีทางทำได้

ฝ่ายนิติบัญญัติ แม้คือ 1 ใน 3 หลักอำนาจของประเทศ แต่ก็ไม่อาจที่จะเดินหน้าใช้อำนาจ (ที่ชอบธรรม) ของตนได้ ต้องพึ่งพิงองค์กรอิสระ อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นผู้ชี้ขาด

ชี้ขาดตามที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบเอาไว้

และแน่นอน ผู้ที่ฝ่าฝืน มีโอกาสที่จะถูกลงโทษอย่างหนัก ถึงขนาดประหารชีวิตทางการเมืองด้วยการถูกยุบพรรค หรือถูกกล่าวหากระทำการล้มล้างการปกครอง

ทำให้พรรคการเมือง นักการเมือง เกิดภาวะละล้าละลัง ไม่กล้าพังหรือทะลุ “กรอบ” ที่ถูกครอบเอาไว้ได้

กลายเป็นเพียง “ไก่ในสุ่ม” ที่อนุญาตให้จิกตี แย่งอำนาจ การนำ อยู่ใน “สุ่ม” เท่านั้น

ไม่มีสิทธิพังสุ่มออกไปข้างนอกเด็ดขาด

ภาวะเช่นนั้น ทำให้พรรคการเมืองอยู่ในภาวะอ่อนแอ ไม่อาจจะกระทำตามเจตจำนงที่สัญญาไว้กับประชาชนได้

แต่ตรงกันข้าม หากพรรคการเมือง นักการเมือง ที่ยึดตามแนวทางที่ขีดไว้ ก็มีโอกาสได้บำเหน็จรางวัล

ยิ่งกว่านั้น พรรคการเมือง หรือนักการเมืองใด ที่สามารถใช้ความเชี่ยวชาญ หรือ “ความเขี้ยว” หาประโยชน์จากรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบไว้ ก็สามารถสร้างความได้เปรียบได้อย่างเต็มที่

อย่างกรณี วุฒิสมาชิก ที่มีการออกแบบอย่างสลับซับซ้อน

และที่สุด เราก็ได้วุฒิสมาชิกที่ก่อให้เกิดคำถามอื้ออึง ว่าเป็นตัวแทนปวงชนโดยแท้จริงหรือไม่

หรือเป็นตัวแทนของพรรคการเมือง อย่างที่แสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่ออกมาอย่างสอดคล้องกัน

จนสามารถกำหนดวาระ และชี้นำทิศทางของสภาได้

ทำให้พรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ไม่อาจจะขับเคลื่อนในสิ่งที่ประกาศเป็นนโยบายเอาไว้ได้

สร้างภาวะอ่อนแอของระบบพรรคการเมือง ที่พรรคเสียงข้างมากควรเป็นผู้มีสิทธิอันชอบธรรมในการผลักดันเรื่องต่างๆ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภา โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ชัดเจนว่า พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนเสียงข้างมาก ไร้ความหมาย

กลายเป็นเพียงลูกไล่ และอยู่ในภาวะแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปเท่านั้น

ตอกย้ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในห้วงวาเลนไทน์ มิได้เป็นสีชมพู อย่างที่ว่า หากเป็นวาเลนไทน์สีน้ำเงิน

ที่ทำให้หลายๆ คน คิดถึง “เพลงบลูส์” อันมาจากรากฐานจากความเจ็บปวดแร้นแค้น ทุกข์ทรมาน ของชีวิตคนดำและทาส

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image