กมธ.สิ่งแวดล้อม กัดไม่ปล่อย เรียกแจง โค่นป่าเมืองจันท์ปลูกทุเรียน-ปลูกทุเรียนในอ่างเก็บน้ำ จ.ตราด

กมธ.สิ่งแวดล้อม กัดไม่ปล่อย เรียกแจง โค่นป่าเมืองจันท์ปลูกทุเรียน-ปลูกทุเรียนในอ่างเก็บน้ำ จ.ตราด

กรณีที่มีการตรวจพบ การลักลอบปลูกทุเรียนในพื้นที่เกาะแก่งของอ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง โดยพบอยู่ทางทิศใต้ของอ่างเก็บน้ำ พบการปรับพื้นที่เพื่อปลูกต้นทุเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของชลประทาน อีกจุดอยู่ทางทิศตะวันตกของอ่างเก็บน้ำ ในเขตพื้นที่ชลประทาน พบการปลูกทุเรียนและมะละกอบนพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ พร้อมทั้งมีสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว 2 หลัง ซึ่งไม่พบตัวผู้บุกรุกในพื้นที่ดังกล่าว และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอ่างเก็บน้ำ พบการบุกรุกพื้นที่กว้าง โดยมีการปรับพื้นที่ป่าให้กลายเป็นสวนทุเรียน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 130 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างถาวร 2 หลัง แต่ไม่พบตัวผู้บุกรุก นั้น

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยกับ มติชนออนไลน์ว่า ในเวลา 15.30 น.วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ทางกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมฯจะเชิญ ตัวแทนจากกรมป่าไม้ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิม ที่มอบพื้นที่ ตามคำขอของกรมชลประทาน ที่จะสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำ กับ ตัวแทนจากกรมชลประทานมาให้ข้อมูลว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไม ปล่อยให้ที่ดินถูกเอกชนบุกรุกเข้าไปปลูกทุเรียนได้ หลังจากนั้น ในวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ ทางคณะกรมาธิการจะลงพื้นที่ อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง จ.ตราด

“ที่เราเห็นจากภาพถ่ายทางอากาศนั้นชัดมากว่า ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำนั้นมีการปลูกทุเรียนชัดเจน เป็นการใช้พื้นที่ผิดประเภท และหากปล่อยให้ภาคเอกชนเข้าไปปลูกพืชผลอื่น ก็ยิ่งมีความผิดชัดเจนขึ้นอีก ทั้งนี้ทางกรรมาธิการตั้งประเด็นเอาไว้ 2 เรื่อง คือ 1.การใช้ที่ดินที่ขอจากกรมป่าไม้อย่างผิดวัตถุประสงค์ คือ จากเอามาเพื่อการเก็บน้ำ แต่กลับให้เอกชนเอาไปปลูกทุเรียน 2.ถ้ามีเงื่อนไขการจ่ายเงินพืชผลอาสิน เช่น ก่อนหน้าที่กรมป่าไม้จะมอบที่ดินให้ มีชาวบ้านอาศัยอยู่มาก่อนและมีการปลูกพืชผลเอาไว้ และมีการจ่ายเงินค่าพืชผล เพื่อให้ชาวบ้านย้ายออก กรมชลประทานดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้วหรือไม่ อย่างไร”นายชีวะภาพ กล่าว และว่า นอกจากปลูกทุเรียนในอ่างเก็บน้ำแล้ว เรื่องการโค่นป่า 2 พันกว่าไร่ ที่ จ.จันทบุรี เพื่อปลูกทุเรียน ของนอมินี จีนเทา อีกด้วย ซึ่งจะเชิญ ตำรวจในท้องที่ ฝ่ายปกครอง จ.จันทบุรี มาชี้แจงด้วย

ADVERTISMENT

ทางด้านนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า เห็นข่าวที่ออกมาแล้ว แต่กรมป่าไม้ ได้มอบที่ดินซึ่งทางกรมชลประทานขอใช้ที่ดินเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง เมื่อปี 2542 พื้นที่ 39,000 ไร่ ครอบคลุม 15 หมู่บ้าน 5 ตำบล 2 อำเภอ

เมื่อถามว่า กรณีที่กรมชลประทาน ไม่ได้ทำตามวัตถุประสงค์ที่ขอจากกรมป่าไม้ไป แต่กรมชลประทาน ไม่ทำตามวัตถุประสงค์ กรมป่าไม้สามารถเอาที่ดินคืนมาได้หรือไม่ นายสุรชัย กล่าวว่า ที่ดินส่วนใหญ่ เป็นอ่างเก็บน้ำแล้ว การดำเนินการ เอาคืน อาจจะทำได้ แต่ก็มีขั้นตอนต่างๆ ทั้งนี้ ตนเห็นว่า กรมชลประทานเอง จะต้องจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นให้ได้ก่อนว่าจะทำอย่างไร

ADVERTISMENT

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image