นายกฯ หัวโต๊ะถกครม.สัญจร ยันจีดีพีขยับขึ้น จากมาตรการกระตุ้นศก. สั่งกระทรวงรับลูกเพิ่มมูลค่าสินค้าพื้นถิ่น

นายกฯ หัวโต๊ะถกครม. สัญจร ยันจีดีพีขยับขึ้น จากมาตรการกระตุ้นศก. สั่งกระทรวงรับลูกเพิ่มมูลค่าสินค้าพื้นถิ่น

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางถึงสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งที่7/2568 ซึ่งเป็นครั้งแรกของปี 2568 โดยนายกฯและรัฐมนตรี สวมเสื้อผ้าบาติก ลายสมิหลา ที่ทางจ.สงขลา จัดเตรียมไว้ให้นายกฯและครม. สวมใส่การประชุม โดยมี รัฐมนตรี ลาการประชุม 5 คน 1.นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลัง 2.นายสรวงศ์ เทียนทองรมว. ท่องเที่ยวและกีฬา 3. นายพิชัย นริทะพันธ์ุ รมว.พาณิชย์ 4.นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ และ5.นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม

โดยก่อนเริ่มประชุม นายกฯ พบกับประชาชน ที่มารอให้กำลังใจ จากนั้นเดินชมบูธแสดงสินค้าโอท็อป ผลิตภัณฑ์ชุมชนของเทศบาลเมืองคอหงส์ พร้อมรับมอบของที่ระลึก เป็นชุดเสื้อกางเกง ลายไก่ทอดหาดใหญ่ อาหารขึ้นชื่อของจ.สงขลา และเอ่ยชมว่าทำแพคเกจน่ารัก เหมือนกับห่อข้าวเหนียวไก่ทอด และอุดหนุนกระเป๋าสานจากเชือกกล้วยตานี ของกลุ่ม ”กอร์ตานี“ ที่นำมาสานเป็นกระเป๋า ถือ กระเป๋าเอกสาร โดยนายกฯระบุว่าจะนำไปใส่เอกสารเวลาเดินทางไปต่างประเทศ และอุดหนุนกระเป๋าสานฝีมือวิถีชุมชนเป็นกำลังใจกับกลุ่มผู้ผลิต ทั้งนี้เนื่องจากมีเวลาจำกัด ทำให้นายกฯ เดินชมบูธสินค้าโอท็อปได้ไม่ครบ และกล่าวว่ารู้สึกเสียดายที่เดินชมไม่ครบ และสั่งให้ทีมงานนำนามบัตรของทุกร้านมาให้ชม เพื่อติดต่อกลับ ก่อนชมนิทรรศการวิชาการ และพบพูดคุยกับนิสิตนักศึกษา และถ่ายภาพเซลฟี่ และถ่ายภาพ ร่วมกับคณะรัฐมนตรี ผวจ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ผู้แทนภาครัฐ

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า การประชุมครม.นอกสถานที่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของรัฐบาลนี้และเป็นครั้งแรกของปีนี้ โดยวาระแรกจะเป็นการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4/2567 ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2567 และแนวโน้มปี พ.ศ. 2568 โดยสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะเห็นว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4/2567 มีทิศทางที่ดีขึ้น
โดยขยายตัว 3.2 % เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงผลของมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการตลอดมา แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตัวเลขการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น การใช้กำลังการผลิตในประเทศกลับลดลง จึงขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันเร่งหามาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด และจากการลงพื้นที่ตรวจราชการได้รับฟังปัญหาจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงขอสั่งการดังนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เร่งหาแนวทางสนับสนุนการปลูกกล้วยสายพันธุ์ของพัทลุง และทุเรียนภูบรรทัด ส่งเสริมการเพาะปลูกให้แพร่หลาย รวมทั้งการหาตลาดรองรับผลผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าในชุมชนให้มากขึ้น

ADVERTISMENT

ส่วนพื้นที่ทะเลน้อย จ.พัทลุง ที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านการท่องเที่ยวและการประมง ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยทางจังหวัดและภาคเอกชน มีข้อเสนอให้ขุดลอกทะเลน้อย กำจัดวัชพืช ฟื้นฟูนิเวศคืนธรรมชาติ ฟื้นการประมงและส่งเสริมอาชีพให้กับท้องถิ่น โดยขอให้หน่วยงานต่างดำเนินการเพิ่มเติมดังนี้

ADVERTISMENT

1. ขอให้กระทรวงทรัพยากรฯ ศึกษาและกำหนดแนวทาง พร้อมทั้งจัดเตรียมงบประมาณที่จำเป็นสำหรับดำเนินการ

2. ขอให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงและกระทรวงทรัพยากรฯ หามาตรการในการสนับสนุน และให้ความรู้ทางวิชาการอย่างถูกต้อง สำหรับการทำประมงในพื้นที่จังหวัดสงขลา เช่น การเลี้ยงปลาดุกนา ทั้งในส่วนของระบบการหมุนเวียนน้ำ และพันธุ์ปลา เพื่อยกระดับให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

3. ขอให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ให้มากขึ้นด้วย 4.ขอให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เร่งหามาตรการในการเพิ่มแสงสว่างให้กับสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง และไม่กระทบต่อระบบนิเวศ 3. จากการเยี่ยมชม กลุ่มบริษัท ไทยยูเนียน ที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ในการส่งออกอาหารทะเลไปต่างประเทศ โดยมีข้อเสนอสำคัญ ที่จะขอให้กรมประมง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพันธุ์กุ้งอย่างจริงจัง ฟื้นฟูความเข้มแข็งด้านการเลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออก ที่ไทยเคยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกครั้ง 4.ตัวเมืองจังหวัดสงขลามีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ และขอให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ ร่วมกับท้องถิ่น พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นเจ้าภาพในการเป็นศูนย์กลางการประสานหน่วยงานต่างๆ ที่จะลงมาร่วมพัฒนาด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image