‘ปธ.วิปฝ่ายค้าน’ แย้มมี รมต.ถูกจองกฐินขึ้นเขียงซักฟอก 10 คน อัดให้เวลาแค่ 3 วัน เหมือนคนพูดไม่เคยเป็น ส.ส. ย้อนที ‘เพื่อไทย’ เป็นฝ่ายค้านยังขอตั้ง 7 วัน ถามแบบนี้พยายามเลี่ยงการตรวจสอบหรือ ไล่กลับไปอ่านประชาธิปไตย 101 ใหม่ ชี้เป็นเรื่องปกติ ‘ทักษิณ’ ตั้งวอร์รูมแจงชั้น 14
เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านครั้งที่แล้วเราได้ให้แต่ละพรรคไปร่างญัตติของตัวเอง เพราะแต่ละพรรคอาจจะอภิปรายรัฐมนตรีแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ซึ่งข้อกล่าวหาและประเด็นที่จะอภิปรายก็ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ ได้รับเนื้อหาของแต่ละพรรคเรียบร้อยแล้ว โดยกระบวนการต่อไปพรรค ปชน.ในฐานะพรรคแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำเนื้อหาแต่ละพรรคมารวบรวมกับพรรค ปชน.เพื่อให้เป็นญัตติเดียวกัน เพื่อที่จะลงชื่อร่วมกันอีกครั้ง ฉะนั้น ไทมไลน์ที่จะยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรได้คงจะเป็นภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์เหมือนเดิม
เมื่อถามว่า จำนวนรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายมีกี่คน นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เราคงไม่ยื่นทั้งคณะ คงไม่ไหวหากจะอภิปรายรัฐมนตรีกว่า 30 คน คงจะไม่เยอะขนาดนั้น แต่คาดไว้ราวๆ 10 คน แต่ต้องรอดูรายชื่อที่ชัดเจนกว่านี้
เมื่อถามว่า หากมีการอภิปรายพาดพิงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับชั้น 14 อาจจะมีการตั้งวอร์รูมเพื่อชี้แจงเรื่องดังกล่าว นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เป็นสิทธิของทุกคนที่จะถูกกล่าวหา แล้วจะแถลงข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายหนึ่งจะตั้งข้อสงสัยและข้อกล่าวหา ส่วนใครที่ถูกกล่าวหาและเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องชี้แจงก็มีสิทธิที่ชี้แจง ไม่ได้มีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า ที่เคยมีการแถลงว่าจะขออภิปราย 5 วัน แต่เหมือนรัฐบาลจะให้ได้แค่ 3 วัน นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เราเคยเป็นฝ่ายค้านมาด้วยกัน หากจะให้อภิปราย 2 วัน แล้วลงมติอีก 1 วัน หากจะพูดแบบนี้ก็เหมือนกับคนไม่เคยเป็น ส.ส. และรู้อยู่แล้วว่าอย่างไรก็ต้องมากกว่านั้น และทุกครั้งก็ 4 วันเป็นอย่างน้อย สมัยพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำฝ่ายค้านก็ขอ 7 วัน พอตัวเองเป็นรัฐบาลบอกจะให้พูด 2 วัน ก็ตัดสินกันเองแล้วกันว่านี่เป็นการพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยคงเป็น 4-5 วันตามที่ขอไป
เมื่อถามว่า หากท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลให้ไม่ถึงตามที่ขอจะทำอย่างไร นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า คงต้องมีการพูดคุยเจรจากัน และคิดว่าาเราเป็นประเทศประชาธิปไตย ประเทศที่ตรวจสอบถ่วงดุลด้วยระบบรัฐสภา เราควรจะเคารพกลไกนี้ คิดว่าคงไม่มีปัญหานอกจากพรรค พท.และพรรคร่วมรัฐบาลไม่เชื่อในกลไลตรวจสอบถ่วงดุล หรือพยายามที่จะปิดปากสภาไม่ให้ตรวจสอบรัฐบาล เชื่อว่าอย่างไรก็จบลงด้วยดี
เมื่อถามว่า หากมีการอ้างเรื่องภารกิจของรัฐบาลเหมือนการมาตอบกระทู้สดจะทำอย่างไร นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชุดที่แล้วเขาไม่ติดภารกิจกันหรือ ซึ่งจริงๆ ผมได้ประสานไปล่วงหน้าแล้วว่าเป็นสัปดาห์ไหน หากเคลียร์ไม่ได้ ผมคิดว่าควรไปอ่านประชาธิปไตย 101 ใหม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เขาถ่วงดุลกันอย่างไร ทุกคนมีประสบการณ์หมดอยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยเองก็อวดอ้างตัวเองเสมอว่ามีประสบการณ์มาก ก็คงรู้อยู่ว่าสิ่งใดเหมาะสม ไม่เหมาสม