ถอนรอบ 2 ร่างกม.คุ้มครองแรงงาน หลังปชน.-พท.รุมสับ ลูกจ้างเหมาไม่ได้รับสิทธิประโยชน์

‘กมธ.ฯพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน’ ถอนร่างเป็นครั้งที่2 หลังถูก ‘สส.ปชน.-พท.’ รุมจวก ตัดมาตรา 3 เพิ่มมาตรา 4/1 ออกทั้งหมด ขัดหลักการ ทำลูกจ้างเหมา ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในกาประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมให้ กมธ.วิสามัญฯ นำกลับไปทบทวนใหม่ ในมาตรา 3 เพิ่มมาตรา 4/1 โดยที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกัน ที่ระบุครอบคลุมหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้ว่าจ้างบุคคลธรรมดา เพื่อปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างเหมาบริการหรือสัญญาในลักษณะเดียวกัน โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับระยะเวลาการปฏิบัติงานปกติ เป็นรายวัน รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น

ทั้งนี้ เมื่อ กมธ.นำมากลับมาพิจารณาใหม่ ทาง กมธ.กลับตัดออกทั้งหมด ทำให้พนักงานราชการ อัตราจ้าง จ้างเหมา ทุกคน ถ้าคนที่ทำงานในหน่วยงานราชการ ไม่ได้รับการคุ้มครอง และไม่มีสิทธิประโยชน์อะไรเลย ทำให้ทั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน ไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าพนักงานลูกจ้างเหมาภาครัฐควรได้สิทธิคุ้มครอง และมีหลักประกัน จึงต้องการให้ กมธ.นำกลับไปทบทวนอีกครั้ง

ADVERTISMENT

อาทิ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า การตัดออกเช่นนี้ถือว่าขัดกับหลักการ ที่รับหลักการมาตั้งแต่ต้น ทั้งที่ข้อบังคับเขียนชัดเจนว่าแก้ไขเพิ่มเติมได้แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการ การจ้างทำของก็คือการจ้างทำของ แต่นี่จ้างคน จะกลายเป็นจ้างทำของได้อย่างไร และ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คนก็เป็นคนเขียน แต่ทำไมมองคนเป็นสิ่งของ บริหารมากกว่าสิทธิที่เขาพึงได้รับ แม้เอาเขียนในข้อสังเกต แต่อยู่หลังหลักการ ตนจึงไม่อาจรับกรณีการตัดมาตราดังกล่าวได้ จึงต้องการให้ กมธ.นำกลับไปทบทวน เพราะไม่อยากให้เสียโอกาสของแรงงานจำนวนมาก

ด้าน นายปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า การที่ กมธ.ตัดออกไปเลย เป็นการถอยหลังลงคลอง จึงขอทำ กมธ.ว่าไม่ว่าจะประกันสังคม สิทธิรักษาพยาบาล วันลาต่างๆ รวมถึงข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับลูกจ้าง ที่จะให้อยู่ในเขตอำนาจศาลแรงงานที่ กมธ.เสียงข้างน้อย ต้องการ แต่ กมธ.เสียงข้างมากตัดออกไป หากแรงงานเกิดข้อผิดพลาดแล้วจะให้เขาไปขึ้นศาลอะไร โดยเฉพาะในกระทรวงศึกษาธิการมีจ้างเหมาหลายแสนคน เขากำลังรอคำตอบอยู่ หากตัดอย่างนั้น แล้วจะคุ้มครองเขาอย่างไร ดังนั้นขอให้ กมธ.เสียงข้างมากถอนร่างกลับไปทบทวนใหม่ ถ้าไม่ถอนวันนี้ แล้วสมาชิกลงมติเห็นตาม กมธ.เสียงข้างมาก ถามคำเดียวว่าท่านจะมีหน้าลงพื้นที่กลับไปพบครูอัตราจ้าง หรือจ้างเหมาบริการในกระทรวงศึกษาธิการในเขตพื้นที่ของท่านได้อย่างไร ถ้าครูอัตราจ้าง หรือจ้างเหมา ยังไม่ได้รับสิ่งที่ประโยชน์ ยังถูกลิดรอนอย่างนี้ จะมีกำลังกาย กำลังใจอะไรไปสอนนักเรียน หรือทำประโยชน์ให้กับวงการการศึกษา

ADVERTISMENT

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ร่างที่ กมธ.นำกลับไปแก้ไข แล้วส่งกลับมา กลับมีความแตกต่างจากร่างสภารับหลักการ โดยเฉพาะการไปยกเลิกหลักการตัดมาตรา 3 ออก ที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4/1 โดยหลักการอาจจะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ หรืออาจจะเติมเต็มในส่วนที่สอดคล้อง แต่ต้องไม่เป็นการยกเลิก แม้กระทั่งร่างที่รับไปพร้อมกันถ้ามีหลักการที่สอดคล้องหรือเหมาะสมกันก็นำมาเติมเต็ม เว้นแต่ร่างที่รับไปพร้อมกันมีหลักการที่ขัดกับร่างหลักที่เรารับไป จะเติมเต็มไม่ได้เพราะขัดกัน ซึ่งหลักการที่ขัดกันสภาก็ไม่ควรที่จะพิจารณาพร้อมกันด้วย

นพ.ชลน่านกล่าวว่า การยกเลิกหลักการเป็นคำถามว่าสภาจะยอมวิธีการแบบนี้หรือไม่ ท่านไปตัดมาตรา 3 ออกคือยกออกไปทั้งหมด ขอให้ กมธ.ที่มาจากกฤษฎีกาช่วยยืนยันด้วยว่าท่านได้ให้ความเห็นและทักท้วง กมธ.ในประเด็นนี้หรือไม่ ว่ายกเลิกหลักการน่าจะทำไม่ได้ ถ้าทักท้วงแล้ว กมธ.ไม่ฟังแต่ส่งกลับมา เป็นเหตุว่าสภาอาจจะต้องไม่เห็นชอบกับการแก้ไขของท่าน อาจจะมีการโหวตคว่ำในวาระ 3 ในอนาคต หรือกลับไปที่ร่างเดิม หรือร่างของสมาชิกที่แปรญัตติเอาไว้ ดังนั้น ถ้าสภาคิดว่าไม่มีข้อเสนอของ กมธ.เสียงข้างน้อย ที่รองรับได้ก็ต้องกลับไปร่างเดิม ไม่เช่นนั้นกฎหมายฉบับนี้ในวาระ 3 ก็ถูกคว่ำ ดังนั้นต้องไปยกร่างมาใหม่

ด้าน นายชนิสร์ คล้ายสังข์ กฤษฎีกาในฐานะ กมธ.ชี้แจงว่า กมธ.เห็นด้วยที่จะให้มีการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้แรงงาน แต่การแก้ไขกฎหมาย ต้องดูว่ากฎหมายไปขัดกับกฎหมายปัจจุบันและกฎหมายอื่นหรือไม่ เพราะในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ไม่ใช้บังคับกับส่วนราชการ ถ้าจะมาเพิ่มเป็นร่างใหม่ มาตรา 3 เพิ่มมาตรา 4/1 โดยบอกว่าต้องใช้บังคับส่วนราชการ อย่างนี้ไม่ขัดกันหรือ ถ้าสภาบอกว่ามีมติรับหลักการ แก้ไขอะไรไม่ได้ หรือไม่รับหลักการบางส่วนไม่ได้ ตนมองว่าเป็นการจำกัดอำนาจของสภา ถ้าสภามีมติไปแล้วมีผลกระทบ ซึ่งขัดกับมาตรา 4 ในปัจจุบันก็เท่ากับขัดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังตกลงกันไม่ได้ ทำให้นายพิเชษฐ์​ขอพักการประชุม 20 นาที เพื่อให้ กมธ.และสมาชิกที่เห็นต่างไปพูดหารือกัน

หลังพักการประชุม น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา กมธ.ชี้แจงว่า เหตุผลที่ กมธ.ตัดเนื้อหาเกี่ยวกับลูกจ้างเหมาบริการภาครัฐออกจากเนื้อหากฎหมาย ไม่ได้ต้องการปฏิเสธการคุ้มครองลูกจ้างสัญญาจ้างเหมาบริการของภาครัฐ กมธ.พยายามคุ้มครองถึงที่สุดแล้ว แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มีไว้ใช้บังคับภาคเอกชน กมธ.ไม่มีอำนาจก้าวก่ายในภาครัฐ แต่ก็ไม่ได้ละเลยพยายามศึกษาเพิ่มเติม ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากประเภทการจ้างที่เรียกว่า การจ้างเหมาทำของตามสัญญาจ้างเหมาบริการ ที่รับจ้างเป็นจ๊อบๆ ไม่ผูกพันกันยาวนาน ไม่มีสวัสดิการ ซึ่งปัญหาเกิดจากหน่วยงานภาครัฐไปใช้งานผิดประเภท ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ปรับลดอัตรากำลังพลภาครัฐ โดยที่หน่วยงานภาครัฐยังต้องการใช้กำลังพลทำงาน จึงหันไปใช้วิธีจ้างเหมาบริการ แต่ต้องมาทำงานทุกวัน ทำงานตามเวลามายาวนาน โดยไม่มีสวัสดิการตามสัญญาจ้าง เสมือนเป็นการละเมิดคน จึงเกิดปัญหาขึ้น ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่อยู่ที่การใช้งานผิดประเภท การจ้างงานแบบนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง และบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มีกรมบัญชีกลางเป็นผู้รับผิดชอบ

น.ส.ณัฏฐากล่าวต่อว่า ต้องยอมรับความจริงว่า ปัญหาอยู่ที่อีกกฎหมายหนี่ง แต่ กมธ.มีอำนาจจำกัดอยู่แค่การคุ้มครองแรงงานภาคเอกชน กมธ.พยายามช่วยมากที่สุด โดยใส่เป็นข้อสังเกตว่า ประเทศไทยมีแรงงานกลุ่มนี้จำนวนมาก ปัญหาเกิดจากการจัดการภาครัฐที่ลดอัตรากำลังคน หน่วยงานรัฐจึงต้องจ้างคน โดยใช้วิธีผิดประเภท ต้องไปแก้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง และบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบการใช้งานคนแต่ละหน่วยงาน ยืนยันว่า กมธ.ไม่มีเจตนาปฏิเสธคุ้มครองแรงงานที่รับสัญญาจ้างเหมาบริการจากภาครัฐ แต่ภายใต้ขอบเขต พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เราทำได้ดีที่สุดเท่าที่ทำแล้วในวันนี้

จากนั้นนายพิเชษฐ์ ได้แจ้งว่า ประธาน กมธ.ฯขอนำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กลับไปปรับปรุงใหม่ แล้วนำกลับมาเสนอใหม่ ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการถอนร่างกลับไปปรับปรุงใหม่เป็นครั้งที่ 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image