อิ๊งค์ เรียก ‘พิชัย-นฤมล’ ถกด่วนแก้ข้าวตกต่ำ ทุ่ม 1.8 พันล้านผ่าน 3 มาตรการ ช่วยชาวนา

อิ๊งค์

อิ๊งค์ เรียก ‘พิชัย-นฤมล’ ถกด่วนแก้ข้าวตกต่ำ ทุ่ม 1.8 พันล้านผ่าน 3 มาตรการ ช่วยชาวนา มั่นใจดึงราคาเกิน8พัน/ตัน

ทั้งนี้วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าพบหารือเรื่องราคาข้าวและสินค้าเกษตร เร่งแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและยาว

จากนั้น น.ส.แพทองธารโพสต์ข้อความทางโซเชียลว่า เชิญนายพิชัย และนางนฤมล หารือ เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวและสินค้าเกษตร โดยส่วนหนึ่ง คือการแก้ปัญหาการปลูกข้าวพันธุ์ที่ไม่ได้รับการรับรอง ทำให้ข้าวไม่ได้คุณภาพและราคาต่ำกว่าปกติ ส่งผลต่อราคาข้าวในภาพรวม จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวและแจกจ่ายแก่พี่น้องเกษตรกรให้เพียงพอ ส่วนมาตรการระยะสั้นเรื่องการพยุงราคาข้าว ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) จะออกมาตรการที่ชัดเจน นำเข้าสู่ ครม.เพื่ออนุมัติต่อไปขอให้พี่น้องชาวนาและเกษตรกรมั่นใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และจะมีมาตรการออกไปโดยเร็วที่สุด

ที่กระทรวงพาณิชย์(พณ.) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (อนุฯ นบข.) ด้านการตลาด ว่า ราคาข้าวตกต่ำมาจากปัจจัยตลาดโลก โดยเฉพาะอินเดียประกาศส่งออกข้าวอีกครั้ง ที่ประชุมมีมติ 3 มาตรการเพื่อช่วยแก้ปัญหา โดยจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) อนุมัติสัปดาห์หน้า ก่อนเสนอครม.เห็นชอบต่อไป เพื่อให้ทันการรองรับข้าวเปลือกนาปรังที่จะออกในปริมาณที่มากช่วงต้นเดือนมีนาคม ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำชับให้ดูแลพี่น้องชาวนา เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นรัฐบาลจะช่วยเหลือให้ได้ดีที่สุด

นายพิชัยกล่าวว่า สำหรับ 3 มาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือกนาปรัง 2568 วงเงินรวม 1,893 ล้านบาท รองรับเป้าหมายปริมาณข้าวเปลือก 3.8 ล้านตัน ประกอบด้วย 1.มาตรการสินเชื่อชะลอและเก็บข้าว 1-5 เดือน โดยช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน ในพื้นที่ 72 จังหวัด เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน วงเงิน 1,219 ล้านบาท ทั้งนี้ กรณีชาวนามียุ้งฉางหรือโรงสีเก็บข้าวเป็นของตัวเอง ชาวนาจะได้รับเงินเต็ม 1,500 บาทต่อตัน หากกรณีชาวนาฝากเก็บกับสหกรณ์ หรือโรงสี ชาวนาได้รับ 1,000 บาท ส่วนโรงสี/สหกรณ์ได้รับ 500 บาทต่อตัน

ADVERTISMENT

นายพิชัยกล่าวว่า 2.มาตรการชดเชยดอกเบี้ย ผู้ประกอบการ 6% โดยให้รับซื้อราคาสูงกว่าตลาด 200 บาท/ตัน และเก็บสต๊อกข้าว 2-6 เดือน เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงิน 524 ล้านบาท และ 3.มาตรการเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาทต่อตัน โดยรับซื้อในราคาสูงกว่าตลาด 300 บาทต่อตัน เป้าหมาย 3 แสนตัน วงเงิน 150 ล้านบาท

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มั่นใจว่าจากมาตรการดังกล่าว จะทำให้ราคาข้าวเปลือกสดจะไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อตัน หากตอนนี้ราคาข้าวเกี่ยวสดได้ 7,000 บาท จะได้เงินเพิ่มจากมาตการชะลอฝากขาย 1,000-1,500 บาท รวมเป็น 8,000-8,500 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นไปตามที่ชาวนาต้องการ ส่วนการเปิดจุดรับซื้อ หากขายไม่ได้ 8,000 บาท เกษตรกรก็ไม่ต้องขาย

ADVERTISMENT

ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า มาตรการที่ออกมานั้น มีความพอใจในมาตรการระดับหนึ่ง หากรัฐบาลสามารถผลักดันราคาข้าวสดได้ถึงตันละ 8,500 บาทได้จริง ถือเป็นราคาที่เกษตรกรพออยู่ เนื่องจากปัจจุบันชาวนามีต้นทุน 5,500-6,000 บาท หากขายได้ตันละ 8,500 บาทพอใจระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ชาวนายังอยากให้รัฐบาลช่วยดูเรื่องปัจจัยการผลิตอื่นเพิ่มเติม ทั้งการจัดหาแหล่งน้ำ เมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงช่วยค่ายาปราบศัตรูพืช ค่าปุ๋ย เพื่อช่วยลดต้นทุนเพาะปลูกชาวนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image