เปิดเอกสารชัด คดีฮั้ว เลือกส.ว. ดีเอสไอแจ้งกกต.รับดำเนินคดีอาญา ตามอำนาจสอบสวนคดีพิเศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเอกสารที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีมีการร้องเรียน การได้มาซึ่ง ส.ว.ชุดปัจจุบัน มีการฮั้ว โดยเอกสารดังกล่าวจะพบว่ามีการประสานงานระหว่าง 2 องค์กรในคดีนี้ โดยดีเอสไอรับคดีอาญาไปดำเนินการ และระบุว่า สอบสวนได้พยานหลักฐานที่ชัดเจนแล้ว
ทั้งนี้สำหรับเอกสาร “เอกสารลับ” กรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่องแจ้งความคืบหน้าผลการสอบสวน และขอความเห็นการดำเนินคดี มีรายละเอียดพอสรุปได้ว่า ผลสอบโพย “ฮั้ว ส.ว.” มีจริง มีรายละเอียดดังนี้
ลับด่วนที่สุด
ที่ ยธ ….
กรมสอบสวนคดีพิเศษ
๑๒๘ ถนนแจ้งวัฒนะ
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่
กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
เรื่อง แจ้งความคืบหน้าผลการสืบสวน และขอความเห็นการดำเนินคดี
กราบเรียน ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
อ้างถึง หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลับ ด่วนที่สุด ที่ ลต… ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๘
ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอทราบรายละเอียด เกี่ยวกับคำร้องแต่ละคำร้องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้ดำเนินการ รวมทั้งขอทราบว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว โดยขอให้ส่งข้อมูลภายในวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๘ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษขอแจ้งข้อมูล ดังต่อไปนี้
๑. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับคำร้องขอความเป็นธรรม จำนวน ๓ คำร้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
๑.๑ กรณี พลตำรวจตรี ….. ผู้ร้อง มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๗ ขอความเป็นธรรม จากการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ ณ วิทยาลัย การอาชีวศึกษาจังหวัดปทุมธานี จากการที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่ไม่ชอบธรรม และฉบับลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๗ กรณีพบเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (คำร้องที่ ๑๐๙๙/๒๕๖๗)
๑.๒ กรณี นายภัทรพงษ์ …. ผู้ร้อง มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ และได้สมาชิกวุฒิสภา จำนวน ๒๐๐ คน พบข้อพิรุธในกระบวนการในการเลือก (คำร้องที่ ๑๑๙๓/๒๕๖๗)
๓.๓ กรณีนายทินกร … ผู้ร้อง มีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา สาย ข กลุ่มที่ ๑ และกระบวนการเลือก สมาชิกวุฒิสภาที่อาจมีกรณีความผิดต่อกฎหมาย (คำร้องที่ ๑๒๖๘/๒๕๖๗) และฉบับลงวันที่ ๑๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑๗ ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา กลุ่มที่ ๑๘ และคัดค้านการ ประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (คำร้องที่ ๑๒๖๙/๒๕๖๗)
๒. เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๗ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีข้อสั่งการท้ายหนังสือกองกิจการอำนวยความยุติธรรมที่ ยธ. … ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๗ อนุมัติให้กองกิจการ อำนวยความยุติธรรมดำเนินการสืบสวน ตามมาตรา ๒๓/๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวน คดีพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณี การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ และประมวลกฎหมายอาญา และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงนามในคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ …ลงวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๗ แต่งตั้งคณะพนักงาน สืบสวน ตามมาตรา ๒๓/๑ วรรคสอง เป็นเรื่องสืบสวนที่ …
๓. เลขสืบสวนที่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบสวน และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน กล่าวคือ การบันทึกถ้อยคำพยานบุคคล การตรวจพิสูจน์ พยานหลักฐานทางดิจิทัล การตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถานที่จัดฮั้วสมาชิกวุฒิสภา การตรวจสอบ พยานหลักฐานที่เป็นเอกสารเกี่ยวกับโพยสมาชิกวุฒิสภา และการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ฮั้วสมาชิกวุฒิสภา และผลการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
การสืบสวนเลขสืบสวนที่ พิจารณาจากพยานหลักฐานในชั้นนี้ ปรากฏข้อเท็จจริง เชื่อได้ว่ามีขบวนการในรูปแบบคณะบุคคล มีการจัดตั้งเครือข่ายขบวนการซึ่งปกปิดวิธีการ มีวัตถุประสงค์เพื่อฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
โดยมีการวางแผนสลับซับซ้อน ทราบเฉพาะในกลุ่มขบวนการกล่าวคือ ขบวนการได้จัดการให้มีผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ โดยสมัครกลุ่มละ ๕ คน รวม ๑๐๐ คน ในระดับอำเภอ ๙๒๘ อำเภอ (หลักเกณฑ์รอบเข้าเลือกได้ ๕ คน) จึงทำให้บางจังหวัด มีผู้สมัครจำนวนมาก สำหรับค่าตอบแทนนั้น ระดับอำเภอ จำนวน ๕,๐๐๐ บาท ระดับจังหวัด จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท และระดับประเทศ จำนวน ๔๐,๐๐๐ – ๑๐๐,๐๐๐ บาท และถ้าได้สมาชิกวุฒิสภามากกว่า ๑๒๐ คน จะได้เพิ่ม จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
หลังจากวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ ภายหลังผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด ขบวนการได้นัดหมายผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ ไปจัดทำโพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภา ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนครนายก ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๖.๐๐ น. ซึ่งมีการจ่ายเงินสด เป็นมัดจำ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือได้รับภายหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลเลือกแล้ว
จากการสืบสวนพบว่า โพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภามีหมายเลข จำนวน ๒ ชุด กลุ่มละ ๗ คน รวม ๑๔๐ คน และในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ พบว่าขบวนการจัดตั้งมีจำนวนผู้สมัครสมาชิก วุฒิสภาซึ่งอยู่ในขบวนการ จำนวนประมาณ ๑,๒๐๐ คน
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๐๕.๐๐ น. ขบวนการได้แจกเสื้อสีเหลือง ให้กับผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ และขบวนการได้อำนวยความสะดวกโดยจัดหารถตู้โดยสาร ส่งผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ เดินทางไปเมืองทองธานี เพื่อเลือกสมาชิกวุฒิสภา ระดับประเทศ และผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในรอบเช้า และรอบไขว้ เป็นไปตามโพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภาทุกประการ
สำหรับโพยฮั้วสมาชิกวุฒิสภา จำนวน ๒ ชุด กลุ่มละ ๗ คนนั้น พบว่าเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สมาชิกวุฒิสภาจำนวน ๑๓๘ คน และอยู่ในลำดับสำรอง ๒ คน
กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ มาตรา ๙๗๗ (๓) ความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙ (ความผิดฐานอั้งยี่) และความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒
เนื่องจากการกระทำความผิดของกลุ่มขบวนการในครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ กระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ กระทำผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ โดยทราบว่ามีการวางแผนมาตั้งแต่ ก่อนเริ่มกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาต่อเนื่องมาจนถึงภายหลังจากการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเสร็จสิ้นแล้ว มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งแยกหน้าที่ มีฝ่ายไอทีเตรียมโปรแกรมค้านวณการลงคะแนน ออกเป็นโพยฮั้วเพื่อให้ได้ผลลัพธ์จำนวนสมาชิกวุฒิสภาตามที่ต้องการ เตรียมบุคคลที่มาลงคะแนนที่เรียกว่ากลุ่ม “พลีชีพ” ดังนั้น ในการดำเนินการกับขบวนการดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษ ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขตามกฎหมายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะรับดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้
กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงประสงค์ที่จะรับดำเนินการสอบสวนในส่วนที่พบการกระทำผิดทางอาญาไว้ดำเนินการ เนื่องจากกลุ่มขบวนการมีการวางแผนที่สลับซับซ้อน กระทำการอุกอาจมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ยังไม่ได้พิสูจน์ทราบอีกจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้วิธีการรวบรวม หลักฐานเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบร่องรอยการติดต่อสื่อสาร เส้นทางการเงิน สถานที่จัดประชุม วางแผน สถานที่พบปะติดต่อ พิสูจน์ทราบกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอที ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการ กระทำความผิดของกลุ่มขบวนการ
ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีที่จะใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ทราบเครือข่าย และองคาพยพของกลุ่มขบวนการทั้งหมด นอกจากนี้ พยานสำคัญอาจจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการให้ความคุ้มครองพยาน เพราะเหตุที่พยานอาจเกรงกลัวต่ออันตรายแก่ชีวิตร่างกาย ประกอบกับการกระทำผิดทางอาญาดังกล่าว กระทำต่อบทกฎหมายอื่น นอกจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่อยู่ในอำนาจ หน้าที่โดยตรงของ กกต. จึงควรให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนดำเนินคดีอาญา ตามความผิดที่พบดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
ทั้งนี้ หาก กกต.พิจารณาแล้วมีความเห็นประการใด กรมสอบสวนคดีพิเศษขอความอนุเคราะห์ ให้ กกต. ได้กรุณาแจ้งยืนยันมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ภายในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ว่ามีความผิดทางอาญาใดบ้างที่ กกต.ประสงค์จะรับไว้ดำเนินการสอบสวนเอง และความผิดทางอาญาใดบ้างที่ กกต.ประสงค์จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน หรือ กกต.จะรับดำเนินการสอบสวนเองในการกระทำ ความผิดทางอาญาทุกข้อกล่าวหาทุกฉบับกฎหมาย หรือประสงค์จะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ดำเนินการ ผู้ดำเนินการสอบสวนในการกระทำความผิดทางอาญาทุกข้อกล่าวหาและทุกฉบับกฎหมาย เพื่อที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจักได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
ร้อยตำรวจเอก
(วิษณุ ยิ้มตระกูล)
รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
กองกิจการอำนวยความยุติธรรม